วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

Booking.com

ธรรมะอารมณ์ดี : วิธีการจัดการกับความทุกข์ (กิเลส Management)

เผยแพร่เมื่อ 21 สิงหาคม 2556 โดย พระมหาวีรพล วีรญาโณ

เวลามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต เราก็มักจะหาทางออก ถ้าหาทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหานั้นได้ เราก็มีความสุข ขณะเดียวกันถ้าไม่สามารถหาทางออก หรือแก้ปัญหาให้กับชีวิตได้ เราก็จะทุกข์ทรมาน เสียใจ ซึ่งถ้าเป็นคนที่พอศึกษาธรรมะมาบ้าง ก็จะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่จะมีทั้งความสุขและความทุกข์เข้ามาวนเวียนในชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลาการแก้ปัญหาของชีวิตก็เหมือนการรักษาโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งถ้าอยากจะหาย ก็ต้องหาโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่เก่ง มียารักษาที่ดี และมีเครื่องมือที่ทันสมัย
 
การคิดจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของมนุษย์นั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย
 
ในสมัยพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกห้อมล้อมด้วยกิเลสทั้งปวง ก็เพราะพระองค์ทรงเบื่อหน่ายจากราคะ ตัณหา และอวิชชา (ความไม่รู้) ไม่ใช่หรือ

จึงมีพระประสงค์ที่จะแสวงหาหนทางเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

พระองค์ทรงทดลองแก้ปัญหาด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่เสด็จออกบรรพชา ทรงศึกษาในสำนักของอาฬารดาบสและอุททกดาบส รามบุตร จนจบหลักสูตรของทั้งสองสำนักแล้ว ก็ยังทรงเห็นว่าไม่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ได้

พระองค์จึงเสด็จต่อไปยังอุรุเวลาเสนานิคม แล้วทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงทรมานพระองค์เองด้วยวิธีการต่างๆ จนในที่สุดทรงอดพระกระยาหาร จนพระวรกายซูบผอมอย่างมาก

พระองค์ก็ยังไม่สามารถบรรลุถึงความสุขที่แท้จริงได้ จนสุดท้ายพระองค์ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหาร และค้นพบทางอันประเสริฐ คือ มัชฌิมาปฏิปทา การเดินทางสายกลาง ทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากกิเลสที่จะมาครอบงำทั้งปวง พระองค์ก็ตรัสรู้บรรลุถึงความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งเป็นความสุขที่ละเอียดและปราณีตที่สุด ที่ทุกคนก็ควรไปให้ถึง

พระพุทธเจ้า ทรงใช้เวลาในการแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นเวลาถึง ๖ ปี และทรงนำมาบอกกล่าวแก่มนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้เข้าถึงความพ้นทุกข์เฉกเช่นพระองค์ ซึ่งในการที่จะเข้าถึงความพ้นทุกข์นั้น

มีหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาของนิกายวัชรยาน(ทิเบต) ได้กล่าวถึงวิธีจัดการกับความทุกข์ (กิเลส) ที่เปรียบเสมือนแขกผู้มาเยือนไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือในการสอนธรรมะเกี่ยวกับการหาวิธีรับมือกับความทุกข์หรือกิเลสทั้งปวง คือ โลภ โกรธ หลง อิจฉา ริษยา หรือ กิเลสทุกประเภทที่อยู่ในตัวเรา คำสอนของวัชรยานได้เปรียบเทียบให้ความทุกข์หรือกิเลสทั้งปวงนั้นเป็นแขกผู้มาเยือน ส่วนร่างกายและจิตใจของ

2108-dhamma-management-2

เรานั้นเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน และได้นำเสนอวิธีการจัดการกับความทุกข์(กิเลส) ที่เป็นแขกผู้มาเยืยนเจ้าของบ้านไว้ ๓ วิธีด้วยกัน ท่านทั้งหลายลองเรียนรู้ร่วมกันว่า ในฐานะเจ้าของบ้านเราจะให้การต้อนรับแขกผู้มาเยืยนด้วยวิธีการใด

วิธีที่ ๑ ให้เจ้าของบ้าน "ไล่แขก" ออกจากบ้าน

วิธีที่ ๒ ให้เจ้าของบ้าน "เชิญแขกเข้าบ้าน” แล้วทำให้แขกผู้มาเยือนสนิทสนมกับเราให้ได้

วิธีที่ ๓ ให้เจ้าของบ้าน "อยู่เฉยๆ" แขกผู้มาเยือนจะมาก็มา จะไปก็ไป เจ้าของบ้านไม่ต้องสนใจ

ก่อนที่ท่านจะเลือกว่าจะใช้วิธีไหนในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนท่านนี้ ท่านลองมาดูเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในวิธีการต้อนรับแขกทั้ง ๓ วิธีนี้ร่วมกันก่อน เผื่อจะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่เราแสนจะไม่อยากต้อนรับ ลองมาดูกันเลย...

วิธีที่ ๑ ให้เจ้าของบ้าน "ไล่แขก" ออกจากบ้าน สำหรับวิธีการนี้ “ไล่แขก” ออกจากบ้านทันทีเมื่อรู้ว่าแขกผู้มาเยือนกำลังจะขึ้นบ้าน แต่สำหรับบางคนพอเห็นหน้าแขกผู้มาเยือนแล้ว อาจจะไล่ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาในเขตบ้านเลยก็ได้ วิธีการนี้ก็คือ เมื่อความทุกข์ หรือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเข้ามาสู่ชีวิตเรา เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ ก็จะทุรนทุรายแสดงอาการไม่พอใจ เวลาเห็นแขกผู้มาเยือนมายืนรออยู่หน้าบ้าน เช่น พอความทุกข์มากระทบกับชีวิต กิเลสเข้าครอบงำใจ คนประเภทนี้ก็จะเอาใจไปตามกิเลส เวลาทุกข์ก็ร้องไห้เสียใจจนแทบจะไม่เหลือชีวิต เวลาดีใจมีความสุขก็จะสุข จนกลายเป็นคนที่หลงความสุข ทำให้เกิดความประมาทในชีวิตในที่สุด ผลของการต้อนรับแขกด้วยวิธีนี้ ก็จะทำให้เจ้าของบ้าน คือตัวเราเกิดทุกข์ตามมาอย่างที่สุด เพราะดูแล้วแขกท่านนี้ก็คงไม่ออกจากบ้านถึงแม้ว่าเราจะไล่รุนแรงขนาดไหน (แต่ถ้าแจ้งตำรวจมาจับก็ไม่แน่เหมือนกัน)

วิธีที่ ๒ ให้เจ้าของบ้าน "เชิญแขกเข้าบ้าน” แล้วทำให้แขกผู้มาเยือนสนิทสนมกับเราให้ได้ สำหรับวิธีการนี้ รู้สึกว่าจะเป็นวิธีการที่ท้าทายเจ้าของบ้านอยู่ไม่ใช้น้อย ในทางวัชรยาน เรียกวิธีการนี้ว่า "เปลี่ยนกิเลสเป็นปัญญา" วิธีการนี้นอกจากจะไม่ไล่แขกออกจากบ้านแล้ว ยังให้เชิญแขกผู้มาเยือนเข้าบ้าน เมื่อแขกเข้ามาแล้วยังให้สร้างความคุ้นเคยสนิทสนนกับแขก จะด้วยวิธีการพูดคุย หรือ เอาอาหารหวานคาว น้ำเย็น ออกมาต้อนรับก็สุดแท้แต่เจ้าของบ้านจะพิจารณา เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ คือคนที่เห็นความทุกข์ หรือกิเลสที่มาเยือนว่า เป็นแขกเจ้าประจำของชีวิต โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา เป็นเรื่องธรรมดาไม่สามารถจะหนีได้ โดยเฉพาะปุถุชนอย่างเราๆ เมื่อเจ้าของบ้านเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เลยเข้าใจและยอมรับแขกผู้นี้ จึงไม่ไล่แขกแต่เชิญแขกเข้าบ้าน และเรียนรู้แขก คือ เข้าใจความทุกข์ ยอมรับว่ามีทุกข์ แล้วเรียนรู้ความทุกข์ เวลาโกรธก็เรียนรู้อารมณ์โกรธของตัวเอง ส่องกระจก

เพื่อดูว่าเวลาเราโกรธคนอื่น สามี ภรรยา ลูก เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คนรัก หน้าตาของเราเวลาความโกรธสิงสถิตอยู่น่ากลัวขนาดไหน ผลของการต้อนรับแขกด้วยวิธีนี้ จะทำให้เจ้าของบ้าน คือตัวเราเข้าใจและยอมรับความทุกข์ได้มากขึ้น เรียนรู้การอยู่ร่วมกับกิเลสได้อย่างเข้าใจ จนสุดท้ายก็จะสามารถเปลี่ยนกิเลสเหล่านี้ให้เป็นปัญญา พัฒนาชีวิตให้มีความสุขได้อย่างดี

วิธีที่ ๓ ให้เจ้าของบ้าน "อยู่เฉยๆ" แขกจะมาก็มา จะไปก็ไป เจ้าของบ้านไม่ต้องสนใจ สำหรับวิธีการสุดท้ายในการจัดการกับแขกผู้มาเยือน คือ "การอยู่เฉยๆ" นี่ถ้าเป็นการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมบ้านของเราจริงๆ แล้วอยู่เฉยๆ คงได้โดนนินทาว่าทั้งซอย ว่าบ้านนี้ไม่รับแขก สำหรับวิธีการนี้ไม่ต้อง“ไล่แขก” ออกจากบ้าน และก็ไม่ต้อง “เชิญแขก” ขึ้นบ้าน แต่ให้อยู่เฉยๆ แขกจะขึ้นมาบนบ้านก็ขึ้นไม่สนใจ แขกจะออกจากบ้านก็ไม่สนใจ เพราะเจ้าของบ้านถือคติว่า “ฉันไม่ได้เชิญ” จะมาก็มา จะไปก็ไป ฉันไม่สนใจ มีอะไรไหม (ใจดำน่าดู) เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ เป็นเจ้าของบ้านที่ใช้ธรรมะข้อ “อุเบกขา” การวางเฉยเป็นเครื่องต่อสู้กับแขกผู้มาเยือน อะไรจะเกิดก็เกิด ความทุกข์ ความสุข จะมาก็มาได้ ไม่ยินดียินร้าย ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นจากการต้อนรับแขกด้วยวิธีการนี้จะได้ผลอย่างไร ฝากท่านทั้งหลายคิดต่อก็แล้วกัน

ทั้ง ๓ วิธีการในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเป็นคำสอนต่อศิษย์ของครูบาอาจารย์สายวัชรยาน ท่านทั้งหลายคงพอจะเข้าใจวิธีการต้อนรับแขกที่ว่า ใน ๓ วิธีนี้แล้ว ถ้าวิธีการต้อนรับแบบไหนท่านลองดูแล้วไม่สำเร็จ ก็ลองทำอีก ๒ สองวิธีดู หรือ อาจจะลองทั้ง ๓ วิธีการในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเลยก็ได้ บางทีในแต่ละวิธีอาจได้รสชาติและประสบการณ์จากการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ลองผิดลองถูกดูก็ได้ พระพุทธองค์ทรงทดลองมาก็หลายวิธีกว่าจะสำเร็จ ว่าแต่ว่าอย่าทดลองหลายวิธีจนลืมตัว “ชวนแขกท่านนี้ออกไป เที่ยวนอกบ้าน” เดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่

นอกจากวิธีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนของวัชรยาน ทั้ง ๓ วิธีการดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีวิธีการจัดการกับความทุกข์ในสายของเถรวาทบ้านเราอยู่วิธีหนึ่ง ที่อยากจะนำมาบอกกล่าว ผ่านเรื่องเล่าต่อไปนี้ มีพระอาจารย์รูปหนึ่งกำลังอธิบายลูกศิษย์เกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต อธิบายอย่างไรลูกศิษย์ก็ไม่เข้าใจ พระอาจารย์จึงยกตัวอย่างให้ลูกศิษย์ฟังเป็นปริศนาธรรมว่า...

มีจอมปลวกอยู่ หนึ่งอัน

จอมปลวกนั้นมีช่องอยู่ หกช่อง

ในจอมปลวกมีงูพิษอยู่ หนึ่งตัว

อยากจะให้งูพิษออกมาจากจอมปลวก โดยไม่มีอันตรายจะทำอย่างไร ?


ลูกศิษย์หลายคนผลัดกันตอบ บางคนบอกว่าให้เอาไม้มาทุบจอมปลวกทิ้งไปเลย บางคนเสนอให้เอาทรายเทเข้าไปในช่องของจอมปลวก แล้วเดี๋ยวงูพิษก็ออกมาเองเพราะไม่มีที่อยู่ จนในที่สุดพระอาจารย์ก็เฉลยวิธีการนำเอางูพิษออกจากจอมปลวก โดยแนะนำให้ลูกศิษย์ปิดช่องที่จอมปลวกห้าช่อง เปิดไว้หนึ่งช่อง แล้วให้เอาทรายหรือน้ำเทลงไปในจอมปลวก พระอาจารย์ได้เปรียบเทียบปริศนาธรรมที่เล่าไว้อย่างน่าคิด

จอมปลวกก็เปรียบเสมือนตัวของเรา

ช่องทั้งหกช่อง เปรียบเสมือน อายตนะทั้งหก ในร่างกายของเรา

ซึ่งประกอบไปด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

งูพิษหนึ่งตัวที่อยู่ในจอมปลวก เปรียบเสมือนกิเลสในใจของเรา


การที่เราจะเอากิเลสที่เปรียบเหมือนงูพิษออกจากใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดช่องของจอมปลวกทั้ง ๕ช่อง คือ ปิดอายตนะทั้งห้า คือ ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย แต่ให้เปิดอายตนะช่องหนึ่งไว้ คือ ใจ การที่เราเอาทรายหรือน้ำเทลงไปในช่องที่หกของจอมปลวก คือ การที่เรานำเอาธรรมะที่เป็นเครื่องชำระล้างใจ ด้วยการภาวนา การมีสติรู้ที่จิตของเรา

ดูเหมือนวิธีการนี้ก็จะคล้ายวิธีการต้อนรับแขกของวัชรยาน

จะด้วยการไล่งูออกจากบ้าน หรือ “เชิญงูเข้าบ้าน”

หรือ “เฉยๆ” งูจะมาก็มา จะไปก็ไป ฉันไม่สนใจแต่อย่ามากัดฉันนะ


การดำเนินชีวิตที่ต้องสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่ถูกห้อมล้อมด้วยกิเลสทั้งปวงนั้น เป็นชีวิตที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้วิธีการจัดการกับความทุกข์และกิเลสทั้งปวง การกำหนดรู้ด้วยสติ ในการเห็นสิ่ง ต่าง ๆ ของตา การมีสติในการได้ยินเสียงที่ชื่นชม สรรเสริญ ตำหนิ นินทา การมีสติในการมากระทบของกลิ่นที่พอใจ และไม่พอใจ การมีสติในการได้ลิ้มรสชาติของอาหารทั้งหลาย การมีสติในการสัมผัสของร่างกาย และสุดท้ายการมีสติกำหนดรู้ที่ใจ เมื่ออารมณ์ต่างๆ มากระทบ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราได้ระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตไม่ให้หลงใหล หรือเพลิดเพลินไปกับการกระทบของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2557
พระมหาวีรพล วีรญาโณ

พระมหาวีรพล วีรญาโณ

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา
ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา
เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี

เว็บไซต์: www.facebook.com/weedhammaaromdee