มาเริ่มต้นความสุขกันเถอะ
ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วว่า...อย่างไรเสียเราก็จะหนีไม่พ้นทั้งความสุขและความทุกข์ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า… “เราจะอยู่กับความทุกข์ได้อย่างไร” หรือ “เราจะจัดการความสุข หรือ ความทุกข์ในชีวิตอย่างไร”
หลายครั้งที่ชีวิตมีความทุกข์ หากเราลองทบทวนชีวิตอย่างเข้าใจ เราจะพบว่าแท้จริงแล้วความทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดขึ้น หรือเรื่องราวที่มากระทบกับอารมณ์ความรู้สึก เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความทุกข์เท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ “ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์” แล้วอะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์?
หลายครั้งที่ได้มีโอกาสได้บรรยายธรรมหรือจัดกิจกรรมสร้างเสริมคุณธรรม ให้กับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาตมาจะเริ่มต้นการบรรยายด้วยคำถาม...ถามทุกคน
ที่นั่งฟังอยู่ที่นั้น
ถาม “ชีวิตที่ผ่านมาเหนื่อยไหม ?”
ตอบ “เหนื่อย ครับ / ค่ะ ”
ถาม “ในชีวิตที่ผ่านมาสุขกับทุกข์อะไรมากกว่ากัน”
ตอบ “ทุกข์ ครับ / ค่ะ ”
ถาม “สุขกับทุกข์ ท่านคิดว่าใครเป็นคนสร้างขึ้น ?”
นิ่ง...ไม่มีคำตอบ
อาตมาเลยถามต่อว่า ...“สุขกับทุกข์อยู่ที่ไหน ?” หลายคนตอบว่า “อยู่ที่ใจ”
อาตมาเลยถามย้ำว่า...เมื่อรู้ว่า “อยู่ที่ใจ” แล้วทำไมยังทุกข์มากกว่าสุข อยากให้ลองทบทวนดูว่า สุขกับทุกข์ใครเป็นคนสร้างขึ้น ก็ตัวเราเอง นี่แหละ ในเมื่อตัวเราเป็นคนสร้าง แล้วทำไมไม่สร้าง “สุข” ให้มากกว่า “ทุกข์” กันล่ะ
บางครั้งอาตมาก็ถามว่า… “เวลามีคนมาด่าให้เราเจ็บใจ สมมติว่าคนคนนั้นด่าเราเพียงครั้งเดียว เขาก็เดินจากไป ไม่พูดไม่คุยกับเราอีกเลย แต่เมื่อเรานึกถึงคำที่เขา ด่า..ทีไร มันรู้สึกเจ็บใจทุกครั้งใช่ไหม? ถ้าเรานึกถึงคำด่าของเขาสักร้อยครั้ง ก็เจ็บใจร้อยครั้ง ทำไมเป็นเช่นนั้น ? ทำไมเราจึงต้องทำร้ายตัวเอง ?” “ในเมื่อเขาด่าเราแค่ครั้งเดียว ทำไมเราถึงด่าตัวเองถึงร้อยครั้ง”
คราวนี้รู้หรือยังว่า สาเหตุหรือคนที่ทำให้เราเกิดความทุกข์คือใคร “ใจ” หรือ “ความคิด” ที่ถูกสั่งจากจิต ของเรานี่แหละ ที่เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์อย่างที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกับ “ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์” อย่างชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างเรื่องสองเรื่อง...
เรื่องแรก เป็นเรื่องของการตั้งกฎกติกาของวัด ในการเข้ามาพักของพระอาคันตุกะ(พระผู้มาเยือน) คือ วัดนี้มีพระอยู่ ๒ รูป ทั้งสองรูปนี้เป็นพี่น้องกัน รูปแรกเป็น พี่ชาย ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งใจศึกษาธรรมะเป็นอย่างมาก รูปที่สองเป็นน้องชาย เป็นรองเจ้าอาวาส ไม่ค่อยตั้งใจศึกษาธรรมะ ก่อนมาบวชท่านเป็นนักเลงมาก่อน ชอบการชกต่อยและทะเลาะวิวาท จนทำให้ท่านตาบอดไปข้างหนึ่ง
โดยวัดนี้มีกฎกติกาของวัดว่า...ถ้าพระรูปไหนจะมาพักต้องตอบปัญหาธรรมะให้ได้หนึ่งคำถาม จึงจะมีสิทธิ์พักที่วัดนี้ได้ มีอยู่วันหนึ่งพระธุดงค์ ออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ เดินมาถึงวัดนี้พอดี เห็นท้องฟ้ามืดครึมดูเหมือนว่าฝนจะตก ได้โอกาสจึงคิดว่า วันนี้จะขอพักในวัดนี้สักคืน จะได้ถือโอกาสหลบฝนไปด้วย
พระธุดงค์เดินเข้าไปในวัด พบเจ้าอาวาส จึงขออนุญาตพักข้างคืนสักหนึ่งคืน ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า ท่านต้องตอบปัญหาธรรมะให้ได้หนึ่งคำถาม ถ้าตอบถูกจึงจะได้พัก ตามกฎของวัดนี้ พระธุดงค์ตอบตกลงว่า พร้อมจะตอบปัญหาธรรมะ ท่านเจ้าอาวาสจึงให้พระธุดงค์ไปรอที่โบสถ์ หลังจากนั้นจึงสั่งให้ น้องชายซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาส ไปถามปัญหาธรรมะพระธุดงค์ ที่โบสถ์สักหนึ่งข้อ
ท่านรองเจ้าอาวาสเดินไปถึงโบสถ์จึงนั่งลง พร้อมกับพูดแบบกวนๆ ว่า เอาท่านถามก่อนก็แล้วกัน แต่ห้ามใช้ปากถามนะ ให้ใช้มือถาม (คือใช้ภาษาใบ้) พระธุดงค์นั่งคิด สักครู่ พร้อมกับ ยกนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว รองเจ้าอาวาสไม่รอช้า ยกนิ้วขึ้นสองนิ้ว พระธุดงค์เห็นท่าไม่ดี จึงยกนิ้วขึ้นสามนิ้ว รองเจ้าอาวาสไม่ยอม หน้าดำคล้ำเครียด รีบยกกำปั้นขึ้นมา ขณะนั้นเอง พระธุดงค์รีบกราบพระประธานในโบสถ์ แล้วเดินออกจากโบสถ์ไป
เจ้าอาวาสเห็นพระธุดงค์กำลังเดินออกจากวัด จึงได้เรียก และเดินเข้าไปถามว่า...
อ้าว!! ท่าน ไม่พักแล้วหรือคืนนี้ จะพักได้อย่างไรครับ น้องชายท่านเก่งจริงๆ พระธุดงค์ตอบ
เก่งยังไง ไหนๆ ลองเล่าให้ฟังซิ เจ้าอาวาสเอ่ยขึ้น ก็น้องชายท่านให้ข้าพเจ้าถามก่อน
แล้วบอกว่าให้ถามเป็นภาษาใบ้ ข้าพเจ้าก็ยกนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว
หมายความว่า ในโลกนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลกเพียงองค์เดียว
น้องชายท่าน ยกนิ้วขึ้นสองนิ้ว หมายความว่า มีพระพุทธก็ต้องมีพระธรรม
ข้าพเจ้าก็ยกนิ้วตอบสามนิ้ว หมายความว่า มีพระพุทธ พระธรรม ก็ต้องมีพระสงฆ์
น้องชายท่านเก่งมาก ยกกำปั้นขึ้นมา หมายความว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า
พระรัตนตรัย น้องชายท่านเก่งจริงๆ
ข้าพเจ้าขอยอมแพ้ พูดเสร็จ พระธุดงค์ก็เดินออกไปจากวัดทันที
ฝ่ายรองเจ้าอาวาสเดินออกมาจากโบสถ์ ด้วยความกระวนกระวาย ถามพี่ชายว่า
พระองค์เมื่อกี้ไปไหนแล้ว อ้าว !! เขาแพ้ท่าน เขาก็ไปนะซิ เจ้าอาวาสตอบ...
รองเจ้าอาวาสจึงพูดขึ้นว่า...จะแพ้ได้อย่างไร เขาด่าผม
เขาด่าท่านว่ายังไง เจ้าอาวาสถาม
ก็ข้าพเจ้าให้เขาถามก่อน แต่ให้ถามเป็นภาษาใบ้
เขากลับยกนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว หาว่าผมมีตาเดียว
ผมก็ไม่ยอม ยกนิ้วขึ้นสองนิ้ว หมายความว่า ถึงผมจะมีตาเดียว แต่ท่านนะมีสองตา
เขายังไม่ยอม ยังด่า ผมอีก
ด้วยการยกนิ้วขึ้นสามนิ้ว หมายความว่า เราสองคนพี่น้องรวมกันมีสามตา
ผมก็เลยโมโห ยกกำปั้นขึ้น ว่าจะต่อยสักหน่อย
เขารีบลุกออกไปก่อน พี่ชายซึ่งเป็นเจ้าอาวาส หัวเราะชอบใจ กับเรื่องที่เกิดขึ้น
เรื่องที่สนทนากันเป็นเรื่องเดียวกัน พระรูปหนึ่งกลับมีความโกรธ (ทุกข์) เกิดขึ้นในใจกับคำถามของอีกฝ่าย ส่วนพระอีกรูปกับมีความชื่นชม (ความสุข) ในการตอบของฝ่ายตรงกันข้าม แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น (การถามตอบปัญหาธรรมะ) ไม่ได้เป็นสาเหตุของความทุกข์ แต่ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์ ก็คือ การที่เราเอา (ใจ) ไปยึด (มั่นถือมั่น) กับเรื่องนั้นๆ
เรื่องที่สอง เรื่องนี้อาตมาฟังมาจาก นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา เลยเก็บมาเล่าต่อ เรื่องมีอยู่ว่า มีเด็กนักเรียน ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักเรียนหญิง ๒ คน กลุ่มหลังเป็นนักเรียนชาย ๒ คน หลังเลิกเรียนนักเรียนต่างพากันออกมาจากโรงเรียน ขณะที่ นักเรียนหญิง ๒ คนเดินออกมาจากโรงเรียน พอดีว่าวันนั้นเทศบาลมาซ่อมท่อระบายน้ำ แล้วลืมปิดฝาท่อ นักเรียนหญิง ๒ คนเดินออกมาลืมดูทาง เดินตกท่อระบายน้ำ เสื้อผ้าเลอะเทอะโคลน นักเรียนหญิงสองคนนี้ โมโห อารมณ์เสีย บ่นและก็ด่าคนที่ไม่ปิดฝาท่อระบายน้ำ กลับไปถึงบ้าน น้องเดินเข้ามาหา ยังพาลว่า อย่ามาใกล้นะวันนี้อารมณ์เสีย
หนึ่งชั่วโมงผ่านมา มีนักเรียนชาย ๒ คน เดินออกมาจากโรงเรียน ตกท่อเดียวกันกับนักเรียนหญิงสองคนนั้น แต่นักเรียนชายสองคนนี้กลับมีความรู้สึกที่แตกต่างจากนักเรียนหญิง ๒ คนก่อน นักเรียนชายคนหนึ่งพูดกับเพื่อนว่า...นายนี่ตาถั่วจริงๆ แทนที่จะบอกเราว่ามีท่อระบายน้ำ นักเรียนชายอีกคนตอบว่า... ก็จะบอกแล้วแต่บอกไม่ทัน ก็เลยตกมาพร้อมกัน นักเรียนชาย ๒ คนนี้ต่างมองสภาพเสื้อผ้าของกันและกัน แล้วก็หัวเราะตัวเอง
เรื่องนี้ก็คล้ายกับเรื่องแรก เหตุการณ์เดียวกัน ตกท่อระบายน้ำเหมือนกัน เสื้อผ้าเปรอะเปื้อน เหมือนกัน แต่ทำไมจึงมีความรู้สึกสุขและทุกข์ต่างกัน นักเรียนหญิง ๒ คนแรก กำลังรู้สึกทุกข์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงกับหงุดหงิด นักเรียนชาย ๒ คนหลังกลับมีความรู้สึกธรรมดาปนสนุก แต่ไม่ได้แนะนำให้ ตกท่อนะ...ถึงจะมีความสุข !! เพียงแต่อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว เราสามารถจัดการกับความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้ แค่รู้จัก วางใจ ปล่อยใจ ของเราบ้าง อย่าเอาใจไปยึดถือกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากนัก ขอให้เรามองความทุกข์อย่างเข้าใจ มองความทุกข์อย่างเป็นเพื่อน แล้วเราก็จะพบว่า...แท้ที่จริงแล้ว ความสุข ความทุกข์นั้นเป็นแขกเจ้าประจำที่แวะเวียนมาเยี่ยมเรา และเป็นเพื่อนที่แสนดีของเรา
“ตอนนี้เราพร้อมที่จะทำความรู้จักกับความทุกข์แล้วหรือยัง?
เราพร้อมที่จะบริหารจัดการกับความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือยัง ?