วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

Booking.com

การทำแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงไหม?

เผยแพร่เมื่อ 15 กรกฎาคม 2557 โดย MaBrisbane
Digital mammography exam Digital mammography exam ScrippsHealth

เนื่องจากเมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีคนไข้บอกว่าขอไม่ทำแมมโมแกรมได้ไหม ผมถามว่าเพราะอะไรครับ คนไข้ตอบว่า เพราะเห็นแชร์กันในโลกโซเชี่ยลเช่น Line Facebook อื่นๆ เขาว่ากันว่าการทำแมมโมแกรมบ่อยๆ จะมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ผมฟังแล้วก็ได้อธิบายไป แต่ปรากฎว่ามีคนถามผมด้วยคำถามแบบเดียวกันนี้ถึง 5 คน ใน 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ หนึ่งในนั้นยังเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย และที่สำคัญมีคนไข้บางคนบอกกับผมว่า"ที่เชื่อนี่ก็เพราะไม่เห็นมีใครเขียนข้อความแย้งเรื่องแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมใน Social media นี่ เมื่อไม่มีใครแย้งก็น่าจะเป็นเรื่องจริง" นอกจากนี้คนไข้ท่านนี้ยังบอกอีกว่าบทความนั้นอ้างว่ามาจากหมอคนดังในเมืองไทย หรือไม่ก็หมอมะเร็งจาก Harvard Medical School เลยนะ

ดังนั้นผมแม้จะไม่ใช่หมอคนดัง ไม่ได้จบจาก Harvard Medical School แต่ข้อมูลต่อไปนี้นำมาจากเอกสารทางวิชาการที่มีการทดลองสรุปผลมาแล้วเป็นอย่างดี น่าจะมีน้ำหนักและเป็นข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติมให้ทุกท่านได้รับฟังและใช้ประกอบการพิจรณาเกี่ยวกับการทำแมมโมแกรมได้บ้าง

การทำแมมโมแกรมคือการเอ็กซ์เรย์ (X-Ray) เนื้อเต้านมนั่นเองครับ เหมือนๆ กับที่เราไปเอ็กซ์เรย์ดูปอดเวลาตรวจร่างกายแหละครับ โดยการนำเต้านมไปวางบนเครื่อง และจะมีตัวฉายรังสีเอ็กซ์เรย์มาแนบเต้านมให้แน่นกับฐานที่มีแผ่นฟิล์มอยู่ข้างล่าง (เมื่อก่อนบอกว่าทำแมมโมแกรมแล้วเจ็บก็เพราะเครื่องนี้ต้องบีบให้เนื้อเต้านมมันแน่นไปกับแผ่นฟิล์ม แต่พอเครื่องแมมโมแกรมมีการพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเครื่อง Digital Mammogram ปัจจุบัน เครื่องก็ไม่ได้บีบแน่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว) ทีนี้เมื่อพูดถึงคำว่ารังสี ไม่ว่าจะรังสีอะไร ทุกคนก็เริ่มกังวล แต่ความจริงก็คือรอบตัวเราประกอบด้วยรังสีทั้งนั้น ไม่ว่าจากแสงแดด อาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสี อื่นๆ อีกมากมาย รวมๆ เราเรียกพวกนี้ว่า Background Radiation ซึ่งความเข้มข้น (Dose) ของรังสีพวกนี้ ที่คนทั่วๆ ไป ทุกคนได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉลี่ยจะได้รับอยู่ที่ 2.0 millisievert (mSv) ต่อปี* ทีนี้มีการวิจัยระบุว่าถ้าคนเราได้รับรังสี >50 mSv จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ทีนี้มาดูปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจทางการแพทย์ในแต่ละวิธีกัน ในการทำ CT Scan หรือเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ในส่วน CT Brain หรือเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่สมอง จะได้รับรังสี 2.0 mSv, CT abdomen หรือเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ในช่องท้อง จะได้รับรังสี 10.0 mSv, Chest X-Ray หรือเอ็กซ์เรย์ปอด จะได้รับรังสี 0.02 mSv และ Mammogram หรือเอ็กซ์เรย์เต้านม (4 รูป ทั้ง 2 ข้างรวมกัน) จะได้รับรังสี 0.7 mSv ซึ่งน้อยกว่าที่เราได้รับในแต่ละวันตลอดทั้งปีอีก ซึ่งเมื่อนำเอาค่านี้โดยคิดรวมในคนที่ทำ Mammogram เป็นประจำทุก 1-2 ปีตามข้อบ่งชี้ ไปคำนวณความเสี่ยงในการเพิ่มเป็นมะเร็งตลอดอายุขัย โดยพบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง 0.01 - 0.001% ในขณะที่ CT abdomen จะมีความเสี่ยงอยู่ที่ 0.1-0.01% ซึ่งน้อยมากๆ

ทีนี้มาดูข้อดีบ้าง การทำแมมโมแกรมเห็นชัดๆ เลย ว่าสามารถตรวจเจอโรคในระยะเเรกๆ ได้ ซึ่งเมื่อเจอโรคตั้งแต่แรกๆ ก็ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีมาก สามารถลดอันตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้

ซึ่งอายุน้อยกว่า 50 ปี การตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำจะทำให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 20%

อายุระหว่าง 50 - 65 ปี การตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำจะทำให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 30%

อายุระหว่าง 65 - 69 ปี การตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำจะทำให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 45%***

จากการคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า ข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสีย หรือ Benefit to Risk Ratio เท่ากับ 93:1 ในอายุ 50 - 54 ปีหมายความว่าข้อดีของการทำแมมโมแกรมเป็นประจำมีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย 93 เท่าในกลุ่มคนอายุ 50 - 54 ปี และเป็น 114:1 (55 - 59 ปี), 170:1 (60 - 64 ปี) และ 294:1 (65 - 69 ปี)**

ดังนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เลิกกลัวแมมโมแกรมกันเถอะครับ และช่วยกันส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หรือคนที่คุณรักเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับทราบและเข้าใจข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำแมมโมแกรมเพื่อที่จะใช้พิจารณาตัดสินใจในการตรวจรักษาและได้รับประโยชน์จากการทำแมมโมแกรม ถ้าคนที่มีมะเร็งเต้านมซ่อนอยู่ การตรวจพบเสียแต่เนิ่นๆ ผลการรักษาย่อมจะดีกว่ามากครับ

 

ด้วยความปราถนาดี

Dr. Kraipope J.
Oncoplastic Breast Surgeon,
Clinical Assistant,
Royal Perth Hospital
Perth, Australia (2013)

(* ข้อมูลจากพื้นที่ที่วัดรังสีในออสเตรเลีย)
(** ข้อมูลจากNational Health Service Breast Screening Program (NHSBP, UK) )
(***ข้อมูลจาก New Zealand's Breast Screen Program)

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2557
MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State