วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

Booking.com

“ผดร้อน” (Heat Rash) ภัยใกล้ตัวที่มากับความร้อนและแสงแดดของออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 03 กุมภาพันธ์ 2558 โดย ปีศาจน้อย
ผด, ผดร้อน - Heat Rash ผด, ผดร้อน - Heat Rash

เคยเป็นกันบ้างไหม? กับการต้องออกไปเผชิญอากาศร้อนและแสงแดด โดยเฉพาะแดดจ้า ๆ ของออสเตรเลีย แล้วก็เกิดอาการระคายเคืองคันขึ้นมาจะว่าเป็น ยุงกัดก็ไม่ใช่.. ภูมิแพ้ก็ไม่ใช่.. แพ้สบู่หรือครีมก็ไม่น่าจะใช่เช่นกัน.. แล้วมันเป็นอะไรล่ะ!? ผื่นแดง ๆ คัน ๆ ขึ้นตามตัว จนได้ไปถามเภสัชกรได้คำตอบมาว่า.. “น่าจะเป็น Heat Rash นะยู” งงเลย คืออัลลัย? เกิดมาพึ่งเคยได้ยิน

 

Heat Rash คืออะไร?

Heat Rash เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อไทยว่า “ผด” หรือ “ผดร้อน” อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า.. ผิวหนังของเรานั้นมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากโลกภายนอก เป็นเหมือนเกราะกำบังป้องกันเชื้อโรค สารเคมี หรือรังสี UV ไม่ให้เข้ามาทำร้ายเรา หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผิวก็คือการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งหนึ่งในวิธีลดอุณหภูมิร่างกายก็คือการขับความร้อนออกมาทางเหงื่อให้ระเหยไปกับอากาศ โดยเหงื่อจะถูกผลิตจากต่อมเหงื่อ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ท่อของต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้เหงื่อไม่สามารถออกมาได้ จะเกิดอาการอักเสบขึ้นที่เรียกว่า Heat Rash, Prickly Heat หรือ Miliaria นั่นเอง

 

สาเหตุการเกิด Heat Rash

ยังไม่มีใครพบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมบางคนเป็นโรคนี้และบางคนก็ไม่เป็น (ต่อมเหงื่อใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ?) แต่สาเหตุหลักของการเกิดอาการคือ การที่ท่อต่อมเหงื่ออุดตันเนื่องจาก มีการผลิตเหงื่อออกมามากเกินไปโดยที่เหงื่อระเหยไม่ทัน ก็จะทำให้เกิดอาการ Heat Rash ในจุดนั้น ๆ ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ท่อต่อมเหงื่อถูกปิดกั้น ได้แก่

  • การทับกันของผิว เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ง่ามขา ซึ่งทำให้อากาศผ่านบริเวณพื้นผิวนั้นยากเป็นผลให้เหงื่อไม่สามารถระเหยได้
  • เสื้อผ้ารัดพอดีตัวทำให้เหงื่อระเหยลำบาก
  • อยู่ใต้เสื้อผ้าหรือผ้าห่มหนา ๆ เวลาที่รู้สึกหนาว เช่น ในฤดูหนาว หรือเวลามีไข้
  • ใช้ครีมทาตัวที่หนาเกินไปซึ่งไปปิดท่อต่อมเหงื่อ

เด็กทารกซึ่งมีต่อมเหงื่อที่ยังไม่สมบูรณ์จะไม่สามารถกำจัดเหงื่อออกได้หมด ทำให้อาจเกิดอาการ Heat Rash ได้เมื่ออยู่ในที่อบอ้าว ใส่เสื้อผ้าหลายชั้น ห่มผ้ามากเกินไป หรือเมื่อเวลามีไข้

นอกจากนี้ Heat Rash อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

 

อาการของโรค

อาการโดยทั่วไปมีการบวมแดงของผิว อาการคันหรืออาการแสบใกล้เคียงกับการถูกแสงแดดแผดเผาขั้นต้น ซึ่งเกิดจากการอักเสบของชั้นผิวหนัง

 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ?

เด็กเกิดใหม่ ทารก คนชรา และคนร่างใหญ่ที่มีพื้นที่ผิวหนังทับกัน (เช่น เวลานั่งแล้วผิวหนังหน้าท้องพับชนกัน) กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะถ้าอยู่กับที่เฉย ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ โดยที่ผิวหนังไม่ได้รับการระบายอากาศ Heat Rash ยังพบได้ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนชื้นเพราะผู้คนเหงื่อออกมากกว่าแถบอื่น การออกกำลังกายอย่างหนักที่ทำให้เหงื่อออกเยอะ ถ้ายิ่งสวมเสื้อผ้าที่มีการระบายอากาศที่ไม่ดีด้วยแล้วก็เสี่ยงเหมือนกัน

 

การรักษา

Heat Rash สามารถหายได้เอง อาการจะเริ่มดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิของผิวหนังเย็นลง แต่ในบางครั้งอาจมีการติดเชื้อของต่อมเหงื่อได้ สังเกตได้ง่าย ๆ หากพบว่ามีอาการปวด บวมมากขึ้น และผื่นแดงไม่ยอมหายสักที การติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรียเข้าไปภายในต่อมเหงื่อที่อุดตัน กรณีนี้อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ในบางรายที่มีอาการ Heat Rash แบบเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ผิวหนัง

สำหรับคนที่ทนอาการคันไม่ไหว สามารถหาซื้อยาทาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่เภสัชจะแนะนำแบบเจลเย็น ๆ อาจมีส่วนผสมของยาชานิด ๆ ทำให้เราไม่รู้สึกคันหรือแสบ อย่างหลอดนี้เอาเก็บไว้ใช้เวลาแมลงสัตว์กัดต่อยได้ด้วย

0402-heat-rash-soov

ผู้เขียนหลงผิดใช้ขี้ผึ้งวิเศษซึ่งนิยมใช้ในออสเตรเลียอย่าง Lucas Papaw เข้าไป หวังว่าจะลดความคัน กลายเป็นไปเพิ่มการอุดตันให้ต่อมเหงื่อซะนี่ แย่เลย

 

การป้องกัน

กันไว้ดีกว่าแก้ค่ะ เพียงแค่ให้ผิวของเราได้สัมผัสกับอากาศ มีการระบายเหงื่อออกไม่ให้ไปอุดตันต่อมเหงื่อ มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้..

  • หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ชื้น
  • สวมเสื้อผ้าหลวม เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดีอย่างผ้าฝ้าย หรือเสื้อผ้าสำหรับเล่นกีฬาบางชนิดที่ระบายเหงื่อได้เร็ว
  • เปิดแอร์หรือพัดลม
  • รักษาผิวให้สะอาด อาบน้ำกำจัดเหงื่อไคล
  • ลดการทับกันของผิวหนัง (กำจัดไขมันส่วนเกิน)

หากหลีกเลี่ยงที่จะต้องออกไปเผชิญอากาศร้อนชื้นไม่ได้ เภสัชกรแนะนำให้ใช้ครีมทาป้องกัน Heat Rash ก่อนออกจากบ้าน อย่างเช่นตัวอย่างตามรูปด้านล่างนี้ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายขาทั่วไปในออสเตรเลีย

0402-heat-rash-neat3b

 

ข้อมูลอ้างอิง:
medicinenet.com - "Heat Rash"
health.qld.gov.au - "Heat related Illness"

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 07 พ.ย. 2559
ปีศาจน้อย

ปีศาจน้อย

นักเขียนมือสมัครเล่น อ่านง่าย เข้าใจยาก แต่ความตั้งใจเกินร้อยนะฮ้าฟฟฟ