วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

Booking.com

5 วิธีการประหยัด "ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ" ที่ทำได้ง่ายๆ

เผยแพร่เมื่อ 29 มี.ค. 2019 โดย Brissie Money

น้องบริสสวัสดีอีกทีครับ มาต่อกันเลยจากภาคแรกที่ว่าด้วย ประกันสุขภาพคืออะไรและควรมีมั้ย มาคราวนี้ก็จะพูดถึงวิธีการประหยัดค่าเบี้ยประกันสุขภาพครับ เทคนิคต่อไปนี้แม้น้องบริสจะเคยใช้จริงที่ออสเตรเลีย แต่ก็สามารถประยุกต์เอาไปลองใช้ในไทยได้เช่นกันนะครับ มาเริ่มกันเลย!

 

1. เจรจาต่อรองในฐานะลูกค้าเก่าผู้ภักดีต่อแบรนด์ อยากได้โปรโมชั่นเหมือนลูกค้าใหม่บ้าง

โดยหลักการแล้ว น้องบริสเคยอ่านมาว่าต้นทุนในการดึงคนทั่วไปให้มาเป็นลูกค้าใหม่นั้นมากกว่าการรักษาดูแลลูกค้าเก่าถึง 3-5 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นธุรกิจทั่วไปก็ย่อมอยากจะดูแลลูกค้าเก่าให้คงอยู่ด้วยกันต่อไปนาน ๆ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ แต่มันก็น่าน้อยใจที่เวลาเห็นโฆษณาต่าง ๆ นั้น จะเน้นไปที่การลดแลกแจกแถม มีโปรโมชั่นดึงดูดให้สำหรับลูกค้าใหม่กันทั้งนั้น หากเราเป็นลูกค้าเก่าที่อยู่กับแบรนด์หรือบริษัทประกันสุขภาพมานาน (จริง ๆ 1 ปีขึ้นไปก็ถือว่าเริ่มนานแล้วนะครับ ถ้า 3-5ปี นี่คือนานจริง ๆ ) เราสามารถโทรไปหาคอลเซ็นเตอร์ของทางบริษัทเอาได้ดื้อ ๆ เลยว่า.. "นี่ฉันเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ อยู่กันมานานแล้วนะ แต่ช่วงนี้ฉันเห็นโฆษณาของหลาย ๆ บริษัทคู่แข่งเขามีโปรลดแลกแจกแถมอยากดึงฉันไปเป็นลูกค้าใหม่ของเขา แต่ฉันมาถามบริษัทเธอก่อนเพื่อให้โอกาสว่าจะมีอะไรเป็น Counter-offer เพื่อดึงรั้งฉันไว้มั้ย?" ฟังดูดราม่ากันเลยทีเดียว และบางคนก็อาจแปลกใจว่านี่ขอกันดื้อ ๆ แบบนี้ได้ด้วยเหรอ ไม่เห็นมีโฆษณาอะไรเอาไว้ น้องบริสขอให้ลองครับ

ที่เคยเจอมาคือด่านแรกนั้นคอลเซ็นเตอร์จะพยายามเจรจาแบบไม่ลดอะไรให้มากนัก เช่นอาจจะบอกว่าจริงเหรอ ลองดูก่อนว่าเงื่อนไขกรมธรรม์มันต่างกันแค่ไหน ของเราอาจจะครอบคลุมมากกว่าเลยแพงกว่าหรือเปล่า เธอลองกำหนดให้จ่ายค่า excess (ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำก่อนจะส่งเรื่องเคลม) เพิ่มขึ้นมั้ย จะได้ปรับค่าเบี้ยให้ถูกลง หรือจะลดเสป็คคุ้มครองน้อยลงมั้ยจะได้จ่ายน้อยลง หรืออย่างมากก็ลดราคาไป 5% ครับ น้องบริสขอให้พวกเรายืนหยัดและมั่นคง ถ้าเราไปหาข้อมูลมาแล้วจริง ๆ ว่าบริษัทประกันเจ้าอื่นให้กรมธรรม์ที่ความคุ้มครองเท่ากับหรือมากกว่าของที่เรามีในราคาที่ถูกกว่า (เนื่องด้วยโปรโมชั่น) ก็ตอบกลับไปว่า "ไม่" ครับ เราต้องการให้ลดราคาเท่ากับโปรแรกเข้าของคู่แข่ง ซักพักคอลเซ็นเตอร์เขาจะยอมโอนสายเราไปยังฝ่ายบริการลูกค้าที่เป็น Customer Retention Team (หรือบางทีก็จะขอแว้บไปคุยกับหัวหน้าที่มีอำนาจอนุมัติโปรลับ) แล้วพอได้คุยกับทางทีมนั้นหรือหัวหน้าเขา เราก็อธิบายไปตามจริงอย่างสุภาพ

พยายามบอกให้เห็นข้อเท็จจริงว่าเราเองแฮปปี้กับกรมธรรม์และบริษัท และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากเปลี่ยนเจ้า และทางคุณก็คงไม่อยากเสียลูกค้าเก่าไปแล้วต้องจ่ายแพงขึ้น 3-5 เท่าในการหาลูกค้าใหม่มาเติมใช่มั้ยล่ะ พอคุยถึงตรงนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะได้โปรลับ ได้โปรเทียบเท่าลูกค้าใหม่ล่ะครับ ทางทีมก็จะบอกรายละเอียดไปแล้วให้เรายืนยันว่าจะยังอยู่กันต่อและรับโปรนี้ ซึ่งในความเป็นจริงโปรที่ได้อาจจะยังลดไม่ถึงเท่าโปรของคู่แข่ง เช่น.. คู่แข่งให้ Gift card $400 แต่โปรลับของเจ้าปัจจุบันอาจจะให้ $300 ถึงตรงนี้ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลล่ะครับว่าทางเพื่อน ๆ จะยอมเสียเวลาเพิ่มเติมทำเอกสารเดินเรื่องเพื่อย้ายค่ายมั้ย หรือว่ามองว่าต่างกันไม่มาก แลกกับเวลาและความสะดวก ขออยู่กับที่เก่าไปละกัน

น้องบริสใช้วิธีนี้มาหลายปีติดต่อกันล่ะครับ สคริปท์เดิม ๆ เลย และก็ได้โปรมาทุกปี และไม่ใช่แค่ประกันสุขภาพ แต่ยังรวมถึงพวกสินค้าบริการใด ๆ เช่น ค่ามือถือ ค่าอินเตอร์เน็ท เงินกู้อสังหาริมทรัพย์ น้องบริสมองว่าอย่างมากสิ่งที่เราจะเสียก็แค่ เสียเวลา และ เสียค่าโทรศัพท์ (นิดหน่อย ใช้เวลา 15นาที รู้เรื่องแล้ว) เลยอยากให้ลองไปทำกันนะครับ

 

20190329-5-ways-to-save-health-insurance-2

 

2. บางทียอมจ่ายเบี้ยประกันรายปี ก็จะได้ส่วนลดมากกว่าจ่ายรายเดือนหรือรายสัปดาห์

อันนี้ก็แล้วแต่บริษัท แล้วแต่เงื่อนไขกรมธรรม์ครับ บางเจ้าจะมีโปรโมชั่นว่าถ้าหากจ่ายล่วงหน้ารายปี จะลดราคาให้ หลาย% จากราคาของ รายเดือน หรือ รายสัปดาห์เลย ซึ่งเมื่อคิดถึงหลักของมูลค่าของเวลาแล้ว การที่เราจ่ายเงินไปก้อนใหญ่แต่จ่ายถูกลงแบบไม่มีความเสี่ยง ถ้าส่วนลดมันมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ย่อมดีกว่าการเอาเงินก้อนเดียวกันไปฝากธนาคาร แล้วค่อย ๆ ทยอยตัดออกมาจ่ายเบี้ยรายเดือน แล้วให้เงินก้อนที่เหลือผลิตดอกเบี้ยไป เพราะดอกเบี้ยในออสเตรเลียที่หาได้สูง ๆ ก็ประมาณ 2.5-3% เองครับ

ดังนั้นถ้าได้ลดซัก 3-5% ขึ้นไปก็น่าสนครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าตนเองมีกระแสเงินสดเป็นอย่างไรบ้าง จ่ายหนัก ๆ ก้อนเดียวไหวมั้ย หรือยอมจ่ายแพงขึ้นหน่อยแต่มีเงินสดสำรองไว้ให้หายใจหายคอเผื่ออะไรฉุกเฉินครับ ประกันสุขภาพที่นี่จะต่างจากไทยนะครับที่เป็นลักษณะเบี้ยจ่ายทิ้ง คล้าย ๆ ประกันวินาศภัย คือจ่ายไปปีนี้ ถ้าไม่เคลม ก็ถือว่าโชคดีแต่ก็ไม่เหลือเป็นเงินออมคืนมา และหากว่าจ่ายล่วงหน้าไป 12 เดือน แล้วเปลี่ยนใจยกเลิกเอาเดือนหลัง ๆ ยังสามารถขอคืนเงินส่วนที่จ่ายล่วงหน้าไปได้ตามอัตราส่วนที่ยังไม่ใช้ด้วยครับ ไม่เหมือนประกันชีวิตที่ถ้ายกเลิกแล้วมูลค่าเงินสดอาจจะเหลือจิ๋วเดียวในปีแรก ๆ

 

3. สอบถามทางบริษัทว่าให้จ่ายผ่านการตัดบัญชีอัติโนมัติ (Direct Debit) แล้วได้ส่วนลดมั้ย?

บางเจ้าจะมีโปรโมชั่นลดราคาค่าเบี้ยให้ 3-4% ถ้าหากเราเปิดบัญชีกับธนาคารเจ้าของบริษัทประกัน แล้วให้ตัดเงินจากบัญชีธนาคารนั้น ๆ แทนที่เราจะจ่ายโดยใช้บัตรเครดิตหรือใช้บัญชีธนาคารเจ้าอื่น น้องบริสคาดว่าสาเหตุก็คือบริษัทประกันไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินไปมาระหว่างธนาคาร หรือ ค่าธรรมเนียมการรูดบัตรนั่นเองครับ ลองสอบถามดูได้นะครับ แต่ข้อเสียก็อาจมีครับคือหากเป็นคนชอบสะสมแต้มบัตรเครดิต เอาแต้มไปแลกไมล์บินฟรี ก็ถือว่าเสียโอกาสเก็บแต้มไป ตรงนี้ก็ต้องลองชั่งใจดูครับอยากได้ส่วนลดหรืออยากได้แต้มมากกว่ากัน แล้วแต่บุคคลนะคร้าบ

 

4. เลือกจ่ายเบี้ยล่วงหน้า 1 ปี ก่อนวันที่ 31 มีนาคม ของแต่ละปีเพื่อล็อคค่าเบี้ยของปีเก่า

โดยปกติของที่ออสเตรเลียนั้น บริษัทประกันทั้งหลายจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นเบี้ยประกันปีละครั้งตอนวันที่ 1 เมษายนครับ ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นกันอย่างน้อยพอ ๆ กับอัตราเงินเฟ้อ คือซัก 3% แต่บางปีก็ขึ้นกัน 8% ก็มี แล้วแต่บริษัท แล้วแต่ประเภทกรมธรรม์ ดังนั้นแล้วหากมีเงินก้อนเหลือ ก็แนะนำให้รีบจ่ายล่วงหน้าค่าเบี้ยไป 1 ปีเลย จะยังได้ค่าเบี้ยในอัตราของปีปัจจุบันก่อนจะขึ้นราคาอยู่ครับ

 

20190329-5-ways-to-save-health-iselect
ภาพประกอบบทความจาก iselect.com.au

 

5. กลับมาวิเคราะห์ตนเองว่าต้องการความคุ้มครองแค่ไหน รับความเสี่ยงได้แค่ไหน?

หากว่าเรามีสุขภาพแข็งแรง ประวัติที่ผ่านมาไม่ค่อยเจ็บป่วย และไม่ได้ทำอาชีพเสี่ยงหรือเล่นกีฬาอะไรเสี่ยง ๆ เราก็อาจจะรับความเสี่ยงเองได้มากหน่อย ก็อาจจะเลือกพิจารณาแบบประกันเท่าที่เราคิดว่าจำเป็น เพื่อลดค่าเบี้ยประกันลงครับ นอกจากนี้การขอเลือกจ่ายค่า Excess (ค่าที่ต้องจ่ายก่อนจะเคลม เช่น $250 หรือ $500) ให้แพงขึ้น ก็จะไปลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายได้ โดยส่วนตัวน้องบริสจะเลือกขอจ่ายค่า Excess มากสุดไปเลยที่ $500 แล้วก็เจียดเงินมา $500 เตรียมหยอดกระปุกเอาไว้สำรองเลย เผื่อจำเป็นต้องเคลมจริง ๆ จะได้มีพร้อมจ่ายพร้อมเคลม ถ้าไม่ต้องเคลมปีนี้ เงินก็นอนนิ่ง ๆ สร้างดอกเบี้ยไปพลาง ๆ และนอกจากนี้อาจพิจารณาว่าประกันสุขภาพนั้นมันมีทั้ง Hospital Cover และ Extra Cover ก็อาจลองดูว่าเราจำเป็นต้องใช้การเคลมของประเภท Extra Cover มั้ย เช่น ตัดแว่น ขูดหินปูน นวดบำบัด บริการวางแผนอาหารลดน้ำหนัก ถ้าหากใช้เยอะ เคลมบ่อย จนเงินที่เคลมได้มากกว่าค่าเบี้ย ก็ถือว่าคุ้มค่าครับ

ถ้าไม่งั้นก็ยอมไม่จ่ายค่าเบี้ยตรงนี้ แล้วเก็บเงินไปใช้จ่ายบริการต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นต้องใช้ดีกว่า เพราะการเคลมครั้งหนึ่งใช้ว่าจะเคลมได้ 100% จะมีส่วนที่ต้องควักเนื้อจ่ายออกไปเองเช่นกัน อย่างส่วนตัวน้องบริสเวลาช่วงคริสมาสต์ ถึงฤดูพักร้อน ก็จะขี่ปลาวาฬมาเที่ยวเมืองไทยแวะเยี่ยมเพื่อนและถือโอกาสแวะขูดหินปูน ตัดแว่น ตรวจสุขภาพ ไปเลยในทีเดียว แพทย์ที่เมืองไทยบริการระดับโลกในราคามิตรภาพครับ

 

..และนี่ก็คือ เทคนิค 5 ข้อการประหยัดค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ที่น้องบริสนำเอามาฝากกันนะครับ หลักการที่สามารถประยุกต์ได้ก็คือลองเจรจาขอโปรลับโดยการขู่จะย้ายค่าย ลองดูว่าจ่ายล่วงหน้าได้ส่วนลดมั้ย มีจ่ายวิธีไหนได้ส่วนลดหรือเปล่า ถ้าจ่ายก่อนขึ้นราคาจะทำได้มั้ย และสุดท้ายคือ วิเคราะห์ตนเองให้เลือกรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมครับ โอกาสนี้ขอลาไปก่อน ไว้พบกันใหม่นะครับ #BrissieMoney

 

บทความอ้างอิง:

www.choice.com.au - "How to save on health insurance"
www.canstar.com.au - "How To Save Money On Your Health Insurance Premiums"
www.iselect.com.au - "Top Tips On Selecting Health Insurance"


 

 

Disclaimer: Information provided on this article by Brissie Money is intended for informational and entertainment purposes only and should not be mistaken for actual financial advice or investment advice. While all efforts are made to present accurate information, it may not be suitable for your particular situation or circumstance. Please contact a professional financial advisor or appropriate professional consultants for specific advice regarding your specific situation. The author makes no representations as to the accuracy or completeness of any information on this article or found by following any link on this article.

คำเตือน: เนื้อหาที่เผยแพร่ในบทความนี้โดย Brissie Money มีจุดประสงค์เพื่อการนำเสนอข้อมูลสาระความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น และไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำทางการเงินการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เขียนบทความได้ใช้ความระมัดระวังและความพยายามในการค้นคว้าเพื่อนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด แต่เนื้อหาอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ส่วนบุคคลของคุณ โปรดติดต่อและปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินหรือบุคคลผู้ประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพที่เหมาะสมสำหรับการขอคำปรึกษาที่เจาะจงสำหรับสถานการณ์ส่วนบุคคลของคุณ ผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์และไม่สามารถรับรองความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหาในบทความนี้ รวมถึงเนื้อหาที่ปรากฏในแหล่งอื่นที่บทความนี้ได้อ้างถึง

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 29 มี.ค. 2019
Brissie Money

Brissie Money

มาตามติดชีวิตน้องบริส.. ตุ่นปากเป็ดแห่งลุ่มแม่น้ำบริสเบน ที่จะมาแบ่งปันสาระความรู้ทางการเงิน

เว็บไซต์: www.facebook.com/BrissieMoney/

ไอเท็มที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (จาก Tag)