ก่อนอื่นขอปูพื้นฐานคร่าวๆ ว่าประกันสุขภาพมีไว้ทำไม และ จำเป็นหรือไม่?
ขอเน้นสำหรับคนที่เป็นผู้พำนักถาวร(Permanent Residence) หรือประชากร(Australian Citizen) นะครับ เพราะหากว่าเป็นนักเรียนหรือนักท่องเที่ยวนั้น มักโดนบังคับ/ควรจะ ซื้อประกันครอบคลุมไว้อยู่แล้วเช่นจาก OSHC หรือประกันการท่องเที่ยว
โดยปกติ คนที่เป็น PR หรือ Citizen ที่ออสเตรเลียนี้จะได้รับความคุ้มครองสุขภาพขั้นพื้นฐานจากทางรัฐบาลอยู่แล้วครับโดยบัตรที่ชื่อว่า Medicare ถ้าให้เปรียบกับไทยก็คงคล้ายๆ โครงการบัตรทอง หรือ 30บาท นั่นเอง คือถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินก็เข้าโรงพยาบาลไปรักษา ถ้าหากต้องพบแพทย์ตามคลินิค รัฐก็จะช่วยจ่ายให้ส่วนหนึ่ง (หรือบางทีก็ไม่ต้องจ่ายเลยก็ได้ถ้าไปคลินิคที่เป็นประเภท Bulk Billing) และถ้าหากต้องผ่าตัด ก็สามารถทำการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐ
แต่ข้อจำกัดของการใช้ Medicare ก็คือถ้าไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง ก็ต้องไปเข้าคิวครับ รอวนไป เพราะทุกคนที่อยากใช้สิทธิ์ก็อยากจะประหยัดเงินหรือไม่มีเงินพอจะไปโรงพยาบาลเอกชน ก็จะแห่มาต่อคิวรอเข้ารับการรักษา คิวนี่อาจคือต้องไปลงชื่อรอไว้แล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งมาอีกทีจะได้รักษาเมื่อไหร่ บางทีถ้าหากไม่ได้ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่แค่เป็นการรักษาเพื่อฟื้นฟู อาจต้องรอหลายเดือนหรือกระทั่งหลายปีด้วยซ้ำครับ
และนอกจากนี้ Medicare ไม่ได้ครอบคลุมช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในทุกเรื่อง หรืออาจครอบคลุมอย่างจำกัด ดังนั้นแล้วในส่วนนี้ประกันสุขภาพที่ซื้อไว้เองก็จะมาเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงให้เราได้
ประกันสุขภาพ หรือหากจะเรียกเต็มๆแล้วก็คือ Private Health Insurance จะมีข้อดีคือช่วยลดเวลาที่เราต้องรอคอยคิวในโรงพยาบาลรัฐ เพราะเราสามารถเลือกไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทนที่คิวน่าจะน้อยกว่า หรือหากจะเลือกรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ก็อาจได้รับความสะดวกสบายขึ้นในฐานะ Private patience in a Public hospital และนอกจากนี้ก็จะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายไปได้บ้างในการรักษาในส่วนที่ Medicare ไม่ครอบคลุมครับ ซึ่งในรายละเอียดว่าประกันสุขภาพจะครอบคลุมแค่ไหน คงต้องไปศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ของแ่ละบริษัทกันดู
การที่เราจะเลือกว่าควรมีประกันสุขภาพหรือไม่ และควรจะซื้อให้ครอบคลุมแค่ไหน นับเป็นคำถามที่แต่ละคนต้องคิดและค้นคว้ากันเองครับ โดยหลักการแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงก็เช่น..
1. จำเป็นแค่ไหน?
ต้องลองดูว่าตนเองมีประวัติเสี่ยงที่จะป่วยโรคอะไรที่จะไม่ครอบคลุมเท่าไหร่ใน Medicare มั้ย? หรือหากว่าเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาแล้วจะกระทบต่อชีวิต จะรอคิวไม่ไหว เช่นสมมุติต้องไปผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า แต่ต้องรอคิวหกเดือนถ้าจะไปรักษาโรงพยาบาลรัฐ แล้วอยู่ตัวคนเดียวไม่มีใครดูแล แบบนี้จะไม่สะดวกต่อชีวิตมากๆ ก็น่าจะพิจารณามีประกันสุขภาพเอาไว้
2. ตนเองงบประมาณแค่ไหน และรายได้เท่าไหร่?
เพราะหากรายได้สูงถึง $90,000 หากว่าโสด หรือหากมีครอบครัวแล้วรายได้รวมถึง $180,000 ต่อปี อ้างอิงจากกรมสรรพากร (https://www.ato.gov.au/...) ซึ่งค่าปรับ MLS นี้จะประมาณ 1% - 1.5% ของรายได้ (https://www.privatehealth.gov.au/...) ดังนั้นจึงอาจมองว่าหากไหนๆ ต้องเสียค่าปรับแล้ว สู้แทนที่จะโยนเงินทิ้งไปฟรีๆ ก็เอาเงินก้อนนี้มาจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพดีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยครับว่าเงื่อนไขความคุ้มครองเหมาะสมกับสถานการณ์ส่วนบุคคลของตนเองหรือไม่
อีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือ Lifetime Health Cover loading ครับ นั่นคือทางรัฐบาลออสเตรเลียพยายามส่งเสริมให้แต่ละคนมีประกันสุขภาพกันเอง เพื่อลดภาระและจำนวนคนไข้ในระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐของ Medicare ดังนั้นจึงกำหนดว่า ใครที่อายุเกิน 30 ปี และไม่มีประกันสุขภาพส่วนตัว (ในส่วน Hospital Cover) หากว่าในท้ายที่สุดตัดสินใจมาซื้อประกันสุขภาพ นอกจากจะจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว จะต้องจ่ายค่าปรับ (Lifetime Health Cover Loading) เพิ่มไปอีก 2%/ปีที่สมัครช้าครับ นั่นคือถ้าพึ่งมาสมัครมีประกันสุขภาพตอนอายุ 40ปี ก็จะจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น 20% กว่าคนอายุ 40 เท่ากันที่มีประกันสุขภาพมาตั้งแต่อายุ 30ปีขึ้นมา เป็นการบังคับอ้อมๆ ให้คนทำประกันสุขภาพกันตั้งแต่เนิ่นๆ และถ้าหากจ่ายค่าปรับไป 10ปี จึงจะยกเลิกค่าปรับนี้ในที่สุด มีรายละเอียดและข้อยกเว้นอีกเยอะ (อ่านได้ในนี้ครับ https://www.privatehealth.gov.au/...)
3. มีแผนจะมีลูกในอนาคตมั้ย หรือมีแผนจะรักษาอะไรหนักๆ ในอนาคตมั้ย?
ประกันสุขภาพแพลนที่ครอบคลุมช่วยเหลือเรื่องการคลอดในโรงพยาบาลเอกชนนั้น มักมีกำหนดระยะรอคอยอยู่ที่ 6-12 เดือน ก่อนที่จะสามารถเคลมเบิกค่ารักษาพยาบาลคืนได้ นั่นคือถ้าซื้อวันนี้แล้วหวังว่าจะเคลมค่ารักษาพยาบาลในการคลอดในโรงพยาบาลเอกชนในเวลาไม่ถึงปี ก็อาจเคลมไม่ได้ครับ ดังนั้นก็ต้องวางแผนล่วงหน้าซื้อเผื่อไว้ก่อน รวมถึงพวกการทำฟันหนักๆ เช่นรักษารากฟัน การผ่าตัดใหญ่ ต้องอ่านเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้ดี บางเจ้าก็มีโปรโมชั่นลดหรือละเว้นระยะรอคอยให้ครับ ต้องลองเจรจาดู
4. ต้องการความคุ้มครองครอบคลุมอะไรบ้าง?
ประกันสุขภาพแบ่งคร่าวๆ เป็นสองอย่างคือ Hospital cover และ Extra cover ครับ โดยอย่างแรกคือจะช่วยเหลือเวลาเราจะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและมีการค้างคืนเป็นผู้ป่วยใน (บางกรมธรรม์ก็ครอบคลุมการเป็นผู้ป่วยนอก หรือ Day surgery ด้วย ต้องอ่านในรายละเอียดกรมธรรม์นะครับ) ส่วนอย่างที่สองคือพวกส่วนเพิ่มที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่าตัดแว่นสายตา ค่าขูดหินปูน ค่านวดบำบัด ลดราคาค่าเมมเบอร์ฟิตเนส บริการวางแผนมื้ออาหาร เป็นต้น
โดยส่วนตัวน้องบริสแล้ว น้องบริสซื้อไว้แต่แบบ Hospital cover ครับ เพราะมองว่าในส่วน Extra นั้นไม่ค่อยได้ใช้ความคุ้มครองตรงนี้เท่าไหร่ เพราะการจะเคลมค่าใช้จ่ายคืนจะเคลมได้บางส่วน เช่น 20-50% เลยมองว่าเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายออกไปมันไม่ค่อยคุ้ม เคลมคืนได้ไม่เท่าที่จ่ายเบี้ยไป เลยเก็บเงินหยอดกระปุกไว้ประกันตนเอง เป็นกองทุนตัดแว่น ขูดหินปูน ส่วนเรื่องนวดก็นอนพักเอาครับ แต่ว่าแต่ละคนก็มีความต้องการและจำเป็นแตกต่างกัน น้องบริสมีเพื่อนที่ชอบเล่นกีฬาหนักๆ เขาก็ไปนวดบำบัดบ่อยๆ ทุกอาทิตย์ เคลมคุ้มกระจายครับแบบนั้น
หลักการที่ต้องคำนึงสำหรับประกันก็คือ ตอนซื้อไม่ได้ใช้ ตอนจะใช้..อยากจะซื้อก็ไม่ได้แล้ว ดังนั้นมันก็เหมือนการเล่นกับความเสี่ยงครับว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน แล้วก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้านครับเช่นมีกระแสเงินสดพอจ่ายเบี้ยประกันมั้ย ไลฟ์สไตล์ตนเองสุขภาพดีแค่ไหน ถ้าเจ็บป่วยไปจะรอคิวโรงพยาบาลรัฐได้นานแค่ไหน
นอกจาก 4 ข้อนี้แล้ว ยังอาจมีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงครับ ดังนั้นแนะนำให้เพื่อนๆ ค้นคว้าเพิ่มเติมและลองไปคุยกับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันหรือติดต่อโบรกเกอร์เพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติมนะครับ เดี๋ยวตอนหน้าจะมาเล่าถึง วิธีการประหยัดค่าเบี้ยประกันสุขภาพ กันนะครับ #BrissieMoney
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม:
www.hbf.com.au - "What is Private Health Insurance"
www.iselect.com.au - "Why Should I Get Health Insurance?"
Disclaimer: Information provided on this article by Brissie Money is intended for informational and entertainment purposes only and should not be mistaken for actual financial advice or investment advice. While all efforts are made to present accurate information, it may not be suitable for your particular situation or circumstance. Please contact a professional financial advisor or appropriate professional consultants for specific advice regarding your specific situation. The author makes no representations as to the accuracy or completeness of any information on this article or found by following any link on this article.
คำเตือน: เนื้อหาที่เผยแพร่ในบทความนี้โดย Brissie Money มีจุดประสงค์เพื่อการนำเสนอข้อมูลสาระความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น และไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำทางการเงินการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เขียนบทความได้ใช้ความระมัดระวังและความพยายามในการค้นคว้าเพื่อนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด แต่เนื้อหาอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ส่วนบุคคลของคุณ โปรดติดต่อและปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินหรือบุคคลผู้ประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพที่เหมาะสมสำหรับการขอคำปรึกษาที่เจาะจงสำหรับสถานการณ์ส่วนบุคคลของคุณ ผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์และไม่สามารถรับรองความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหาในบทความนี้ รวมถึงเนื้อหาที่ปรากฏในแหล่งอื่นที่บทความนี้ได้อ้างถึง