วันนี้ทีมงาน MaBrisbane ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่มิม หรือ นางสาวขวัญข้าว สิงหเสนี (คิมมิม) นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Environmental Science, Griffith University) เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยทำหัวข้อวิจัย “มูลค่าของตัวผสมละอองเกสรตามธรรมชาติต่อพืชเศรษฐกิจเขตร้อน” นอกจากงานวิจัยแล้ว พี่มิม ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหนึ่งใน Brisbane Student Ambassadors ของปี 2016 อีกด้วย ซึ่งเธอจะมาแชร์ประสบการณ์ ไอเดีย และมุมมองต่าง ๆ ก่อนและหลังที่จะมาเป็นนักเรียนในต่างประเทศให้ได้อ่านกัน
ทีมา: choosebrisbane.com.au
พี่มิมเรียนจบด้านอะไรมาจากไทย และมีประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับนิเวศวิทยาบ้างมั้ย
ตอนปริญญาตรีและโทจบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พี่จบของชีววิทยา สาขาหลักนิเวศวิทยา (Ecology) ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต พี่เลือกเรียนนิเวศวิทยาป่า (Forest Ecology) มองป่าเป็นระบบนิเวศ ตรีเรียนวิชาเอก นิเวศวิทยา (Major), วิชาโท เรียนรัฐศาสตร์ (Minor) เพราะพี่มีความรู้สึกว่ามันส่งเสริมกันในมุมมองของพี่ และความชอบส่วนตัว
กลุ่มที่พี่ทำวิจัยด้วยตั้งแต่สมัยเรียนตรี-โทที่ มช. ชื่อ “กลุ่มการฟื้นฟูป่า” ชื่อเล่นว่า FORRU (Forest Reservation Reserve Unit) เป็นยูนิทวิจัยของ มช. พี่ก็อยู่มานานจนเรียนจบและทำงานต่อ ตอนโทปีที่สองก็เริ่มทำงานพาร์ทไทม์กับที่นี่ และพอจบก็ทำเต็มตัว เวลาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมันก็ไม่ได้ทำแค่วิจัยอย่างเดียว ก็จะต้องไปเจอคนโน้นคนนี้ FORRU เค้าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนวิจัย หรือ Research และ Outreach Program ก็คือขยายผลจากงานวิจัยไปจัดเวิร์คชอพบ้าง เทรนนิ่งบ้าง หรือพับลิคทอล์ค ตอนแรกพี่ทำอยู่รีเซิร์ชแต่พี่เป็นคนชอบเจอคนพี่ก็เลยทำทั้ง 2 ส่วน 50-50 พอพี่มาทำ Outreach ก็ทำให้ได้เจอคนที่อยู่ในองค์กรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กลุ่มแรกก็เป็น NGO (Non-Government Organization) แนวปกป้องสิ่งแวดล้อมรุนแรงหน่อย อีกกลุ่มก็เป็นภาครัฐ หน่วยงานมหาลัย และกลุ่มภาคประชาชน ที่พี่ชอบมาก ถ้าในมุมมองพี่คือเค้าเป็น active citizen คือเวลาเห็นความเป็นไปในเมืองแล้วรู้สึกอยากมีส่วนร่วม พอได้เจอคนพวกนี้มากขึ้นก็เลยตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “เชียงใหม่ เขียว สวย หอม” เป็น NGO แต่พี่มองว่าเราเป็นภาคประชาชนมากกว่า คือไม่ได้มีที่มาว่าเราเป็นใคร แต่ทำงานร่วมกันแบบเป็นเครือข่าย ตอนเริ่มใหม่ ๆ มีสมาชิกแค่ 3-4 คน แต่เราจะมีคณะกรรมการซึ่งเราจะเชิญมาจากหลาย ๆ องค์กร รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 10 คน พี่ที่เป็น บ.ก. Compass ก็มาร่วมด้วย เพราะแกทำสื่อและเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย พี่ชัชวาลทำอยู่โรงเรียนสืบสานต์ ทำเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จริง ๆ เรื่องวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อมมันก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน มันก็เลยทำให้สนุกมากขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งแวดล้อมแบบเข็ง ๆ ไม่ใช่แบบบำบัดน้ำเสียด้วยการปลูกต้นไม้ แต่ถ้าจะปลูกต้นไม้ปลูกให้มันเข้ากับประวัติศาสตร์เมืองดีมั้ย อะไรอย่างนี้ มันก็เลยสนุกมากขึ้น เมื่อก่อนพี่เป็น PR ตอนนี้มาเป็น Project Manager
เชียงใหม่ เขียว สวย หอม
รู้สึกอย่างไรบ้างกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา
พี่ก็รู้สึกว่ามันเติมเต็มที่ได้ทำงานกับทางมหาลัยและกับภาคประชาชน แต่พี่ก็ใช้เวลาในการค้นหาตัวเองก่อนจะมาเรียนที่นี่เยอะมากนะ หลังจากเรียนจบโท พี่ใช้เวลาทำงานทั้งหมด 7 ปี จึงมาคิดต่อว่าเราควรจะเรียนต่อเอกดีมั้ย เพราะมันก็จะมีบางคนที่เค้าเรียนตรี โท เอก รวดเดียวจบไปเป็นอาจารย์ในมหาลัย ซึ่งมันก็ดี แต่พี่อยากแน่ใจก่อนว่าตัวเองต้องการอะไร พี่ก็เลยเลือกที่จะทำงานหลาย ๆ อย่างดูก่อน
ขอถามนอกเรื่องนิดหน่อยนะคะ พี่มิมเรียนทางด้านนิเวศวิทยา ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีความคิดเห็นยังไงบ้างกับประเด็นเห็ดถอบทางภาคเหนือของไทย ที่เพิ่งเป็นข่าวไปไม่นานมานี้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อันนี้ต้องเกริ่นก่อนว่า เห็ดถอบจะเกิดขึ้นในป่าเต็งรัง ซึ่งต้นไม้ในป่านี้จะมีการผลัดใบ ทำให้ใบไม้ร่วงลงบนดิน และในหน้าแล้งก็จะเกิดไฟป่าจากใบไม้แห้งเหล่านั้น เห็ดถอบเองเป็นเห็ดที่ขึ้นบนดินเฉพาะหน้าแล้ง ก็เลยเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่าต้องเผาป่าก่อนเห็ดถึงจะเกิด ความเชื่อนี้ได้ถูกพิสูจน์จากการทดลองของนักวิจัยคนนึงชื่อ คีแกน ชาวอเมริกา เป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ผลออกมาว่า ไฟป่าไม่มีผลกับการเกิดเห็ดถอบ อีกทั้งไฟป่ายังทำให้จำนวนเห็ดถอบน้อยลงอีกด้วย ความเชื่อของไฟป่ากับการเกิดเห็ดน่าจะมาจากจำนวนใบไม้แห้งที่ปกคลุมพื้นดิน ไปบดบังเห็ด ทำให้คนไม่เห็น จึงมีการเผาใบไม้แห้งเหล่านั้นออกไปเพื่อเป็นการช่วยให้เห็นและเก็บเห็ดได้ง่ายขึ้น
จริง ๆ แล้วปัญหาที่เกิดอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องเดียว
การเกิดปัญหาข้อถกเถียงเรื่องของเชียงใหม่มีหมอกควัน และพบผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้นทุกปี จริง ๆ แล้วมันก็มีปัจจัยอยู่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่ว่าปัญหาเรื่องเผาป่าอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพความกดอากาศต่ำลง การเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน และการที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว เราจะสังเกตได้ว่าเมื่อก่อนเชียงใหม่ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องหมอกควันอย่างในปัจจุบัน
ทุกคนมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกันหมด
พี่ชอบในเรื่องที่ผู้บริโภคมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็คือหากพี่เป็นผู้บริโภคเห็ดถอบ ซึ่งตอนนี้มีราคาแพง เนื่องจากหากินได้ยาก และออกเฉพาะฤดู ถ้าพี่ยังคงเต็มใจกว้านหาซื้อเห็ด ก็จะมีคนเก็บมาขายเยอะ ๆ แต่ในทางกลับกัน หากพี่เลิกกินหรือทานน้อยลง คนก็จะเอามาขายน้อยลงด้วยเหมือนกัน พี่คิดว่าหากมีการเพาะเห็ดถอบได้เองแล้ว ราคาก็จะลดลง และน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
ยกตัวอย่าง การมีส่วนช่วยในการสนับสนุนประเทศของคนออสเตรเลีย
ต้องย้อนมองเนอะ ว่าทำไมชาวออสเตรเลียต้องทานผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า Made in Australia, Australian Own, Australian Produced อันนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาอยากมีส่วนร่วมในการเป็นผู้บริโภคที่ดี ในประเทศไทยเอง ความคิดแบบนี้ก็เริ่มกระจายออกไปเหมือนกัน ที่การเป็นพลเมืองที่ดีและคิดถึงส่วนรวมสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้
บางทีนโยบายหรือไอเดียที่ดี ก็ยากที่จะทำให้บางสิ่งพัฒนา หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย
รถแดงของเชียงใหม่ คนก็ยังใช้อยู่เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นในด้านการขนส่งมวลชน กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงมือมาช่วยกันจัดทำคิวรถแดงให้วิ่งเป็นสาย เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของราคาและเส้นทางการรับส่งลูกค้า แต่ว่า บางครั้งสิ่งที่เราคิดค้นหรือพยายามพัฒนาก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องมาจาก วิธีการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้คนมาใช้งาน อีกส่วนนึงก็คือ คนก็ต้องช่วยกันใช้ ไม่งั้นระบบมันก็ไปกันไม่ได้
มีอยู่ช่วงนึงที่เค้ามีรถบัสวิ่งขึ้นมา แต่ก็ถูกยกเลิกไปเพราะขาดทุน พี่ว่าในระยะสั้น 5 ปียังไงก็ขาดทุนอยู่แล้ว เพราะไหนจะต้องลงทุนซื้อรถ จ้างพนักงานคนขับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเริ่มระบบ แต่หากเรามองในระยะยาวมันจะเป็นผลดีกับเชียงใหม่มาก เพราะมีนักท่องเที่ยวมากันเยอะอยู่แล้ว พอเราไม่มีขนส่งมวลชน นักท่องเที่ยวก็ต้องไปเช่ารถเองซึ่งก็ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้รู้กฎดี และเป็นการสร้างมลพิษเพิ่มขึ้นด้วย
เชียงใหม่กับการท่องเที่ยวต้องวางแผนดี ๆ เพราะอะไร ๆ เปลี่ยนไปเยอะมาก พี่มาที่นี่แค่ 2 ปี เมืองเปลี่ยนไปมาก
แล้วไปไงมาไงถึงตัดสินใจมาเรียนต่อเอกที่บริสเบน
ความคิดเรื่องเรียนต่อมันมีมาตลอด แต่ตอนนั้นที่พี่ทำงานอยู่พี่คิดว่ามันยังไม่ใช่เวลาที่ใช่ ก็ต้องขอย้อนไปตอนที่พี่เริ่มเรียนตรีใหม่ ๆ ปีแรกก็คือลงวิทยาศาสตร์ แล้วปีที่ 2 ที่ต้องเลือกเมเจอร์พี่ก็เลือกนิเวศวิทยา แล้วพี่ก็อินกับมันมาก ดีใจที่ตัวเองเลือกถูก ก็ย้อนกลับไปคิดนะว่าเราชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก ๆ คราวนี้ตอนที่พี่เลือกหัวข้อที่จะทำวิจัย พี่เลือกระบบนิเวศป่ากับการฟื้นฟู แล้วปรากฏว่าวิธีการฟื้นฟูป่าที่ มช. ใช้ตอนนั้นเนี่ย หัวหน้าโครงการชื่อ สตีเฟ่น เอเลียท แกเป็นคนอังกฤษ แต่ว่าแกอินมากกับป่าเขตร้อน แต่ไอเดียเนี้ยเริ่มต้นมันมาจากควีนส์แลนด์ มันเลยทำให้พี่รู้สึกว่าพี่อยากมาที่นี่ ทำไมเราต้องเลือกออสเตรเลีย เพราะว่าสายที่พี่เรียน ป่าเขตร้อนมันมีแค่ไม่กี่ที่ทั่วโลก มันจะอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ขึ้นบนนิดนึงมาถึงสักประมาณไทยจนถึงขอบจีนตอนล่าง และถ้าเกิดลงมาข้างล่างก็จะถึงออสเตรเลียตอนบน ดังนั้นมันจะมีไม่กี่ที่ในโลกหรอกที่เหมาะแก่การเรียนเกี่ยวกับป่าเขตร้อน หนึ่งในนั้นก็คือออสเตรเลีย อเมริกาก็มีช่วงนึงเหมือนกันที่มีป่าเขตร้อน และก็พวกลาตินอเมริกัน ละคราวนี้ตัวพี่เองก็แบบ อุ๊ย.. ต้นกำเนิดอยู่ควีนส์แลนด์ ประมาณ 5 ปีที่แล้วมั้งพี่เคยมา study tour กับอาจารย์ที่ Cairns เพราะต้นกำเนิดจริง ๆ อยู่ที่นั่น ตอนแรกพี่ก็ปรึกษาอาจารย์ว่าพี่ไปเรียนที่อังกฤษดีมั้ย เพราะต้นกำเนิดของคำว่า Ecology นี่มันอยู่ที่อังกฤษ พี่ก็รู้สึกว่าพี่ต้องกลับไปที่ต้นกำเนิด แต่อาจารย์บอกว่ามันไม่ใช่ป่าเขตร้อน เพราะฉะนั้นถ้าเราสนใจป่าเขตร้อนเราควรที่จะไปในที่ ๆ มีป่าเขตร้อน เพราะว่าอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ เค้าจะเข้าใจบริบทแบบนี้ มันก็เลยเป็นที่มาว่าพี่ต้องมาออสเตรเลีย ควีนส์แลนด์ บังเอิญว่าอาจารย์ที่ปรึกษาคนปัจจุบันเคยไปเยี่ยมหน่วยวิจัยที่ มช. และพี่เป็นคนพาเค้าทัวร์ไปดู อธิบายเรื่องการทดลอง เราก็เลยรู้จักกัน และอยากทำงานกับเค้าเพราะเค้าก็มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจด้วย
การสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาเอกยากมั้ย
ตอนที่พี่สมัครพี่ก็ดูแค่ว่าอาจารย์คนนี้อยู่มหาลัยไหน แล้วพี่ก็สมัครมาเลย ขั้นตอนการสมัคร แรก ๆ พี่ก็ปรึกษาเอเจนท์ แต่ว่าการเตรียมตัวก็คงเหมือนน้อง ๆ ทั่วไปก็คือ คะแนนภาษาอังกฤษ แต่ว่าการเรียนเอกอาจจะมีเพิ่มตรงหัวข้อที่เราต้องการทำวิจัย แล้วอาจารย์สนใจหัวข้อที่เราอยากทำรึเปล่า
ทำงานมา 7 ปีแล้วต้องมาเป็นนักเรียนอีกครั้งนี่เป็นอย่างไรบ้าง
พอเราทำงานมานาน ๆ แล้วเราจะลืมความเป็นนักเรียน พี่ก็ใช้เวลาในการปรับตัว อย่างแรกเลยพี่ต้องไปเรียนภาษาอังกฤษ พี่เข้าใจเลยที่เค้าว่าพออายุเริ่มมากความฝืดมันจะมี แต่ยังไงก็ตามไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอก
อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนเมืองนอก
คือตั้งแต่ก่อนที่พี่จะมา พี่ตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งพี่ต้องออกมาจากเมืองไทย ไม่งั้นพี่จะเติบโตที่เดียวตลอดเวลา พี่อยู่เชียงใหม่มาตั้งแต่ ม. ปลาย ก่อนหน้านี้ก็อยู่ที่อื่นตามการย้ายงานของคนที่บ้าน พี่ก็รู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ดี ปลอดภัย แต่เราจะต้องโตขึ้น ต้องออกมาที่ไหนสักที่ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่เดียว มันเป็นปัญหาระดับโลก อย่างที่พี่พูดถึงเรื่องไฟป่า มันไม่ใช่แค่ไฟป่าแต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งโลก พี่เลยอยากที่จะเป็น global citizen ไม่ใช่แค่คนไทย พี่เลยต้องยอมที่จะออกมาทำ มาอยู่กับอะไรที่เราไม่ชิน มาเจอวัฒนธรรมใหม่ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้โลกมากขึ้น ไม่งั้นมันก็จะเหมือนเราอยู่บนหอคอยงาช้าง ที่คอยแต่สั่งคนอื่นว่าต้องทำนู่นนี่ เหมือนอย่างเรื่องเห็ดถอบ ห้ามเผาป่า แต่ในมุมมองของผู้บริโภค ก็ถ้าไม่เผาก็ไม่เห็นเห็ดเก็บไม่ได้ พี่ก็เลยรู้สึกว่า เราต้องมองจากมุมมองที่กว้างขึ้น ใจเขาใจเรา ไม่ใช่มองจากสิ่งที่ตัวเองเป็น
พี่ตั้งใจว่าพี่จะหาตัวเองให้ได้ พี่จะรู้สึกเสียดายมากถ้าชีวิตนี้พี่ไม่รู้ว่าพี่อยากทำอะไร พี่เคยไปเป็นผู้ช่วย ส.ส. อยู่ปีนึงด้วยนะ เพราะพี่คิดว่านโยบายก็มีสิ่งสำคัญ มันก็ทำให้พี่เข้าใจว่า ถึงแม้เราจะมีข้อมูลที่ดี นโยบายที่ดีแต่มันก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที เพราะก็จะมีทั้งคนที่มีส่วนได้และส่วนเสียเยอะ
คนส่วนใหญ่ก่อนที่จะมาเมืองนอกก็จะมีความฝัน มีภาพวาดอยู่ในใจว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สำหรับพี่มิมแล้วเป็นไปอย่างที่คิดไว้ตอนแรกมั้ย
พอมาจริง ๆ แล้วมันไม่ง่าย เรารู้สึกว่ามาคนเดียวต้องอยู่ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มันไม่จริง (ฮา) culture shock เมื่อก่อนคิดว่าไม่มีผล แต่มันมีผลมาก พอมาเจอคน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มันก็ต้องปรับตัว เช่น รูปแบบการใช้ชีวิต การพูดคุย พี่ไปนั่งในวงออสซี่แล้วพี่ไม่เกทมุข พี่อยากจะจิ้มเอวตัวเองให้หัวเราะอ่ะ ตอนแรกคือกำแพงทางด้านภาษา แต่พอเข้าใจแล้วมันไม่เกทมุขอยู่ดี เพราะมันเป็น common sense ของฝรั่ง ไม่ใช่ของเรา อีกเรื่องที่ต้องปรับทัศนคติของเราให้มากก็คือ การทำวิจัยมีการวิพากย์วิจารณ์หนักมาก สำหรับคนไทยมันเป็นเรื่องแย่มาก แต่สำหรับเขาคือเขาพยายามที่จะช่วยทำให้เรามีผลงานดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะว่าผลงานมันไม่ดี เพราะถ้ามันไม่ดีเค้าก็คงไม่เสียเวลามาวิจารย์ คนไทยเราไม่ถนัดในการแสดงความคิดเห็น หรือความคิดสุดโต่ง อย่างอยู่ที่นี่ เราเถียงกันได้ แต่เราไม่ได้ทะเลาะกัน การขึ้นรถเมล์ที่นี่ก็เป็นอะไรที่ท้าทายเหมือนกันนะ ถึงแม้ว่าอะไรหลาย ๆ อย่างจะมีความสะดวกสบาย แต่ตอนมาแรก ๆ เราก็ต้องปรับตัวใช้งานให้เป็น ส่วนเรื่องของการคิดถึงบ้านนี่เป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่ตอนอยู่ไทยก็ไม่ได้อยู่กับที่บ้านหลายปี อยู่คนเดียวตลอด แต่พอมาอยู่นี่ก็เป็น
เวลาจิตตก ท้อแท้ มีวิธีจัดการกับมันยังไงบ้าง
คิดบวก พอคิดลบจนเกินไปมันไม่มีผลดีกับเราเลย พี่อ่านหนังสือเรื่อง ไอ้ฟัก ยิ่งอ่านยิ่งดราม่า เพราะมันเหมือนกับเราเลย (ฮา) เราเจอบางอย่างเพื่อเรียนรู้ที่เราจะได้แข็งแกร่งขึ้น ข้อดีที่เรามาอยู่ที่นี่คือทำให้เราได้คิดเรื่องตัวเรามากขึ้น เรารู้จักตัวเองมากขึ้น และเรารู้ว่าเราควรจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหนที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น
คิดอย่างไรบ้างกับการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนคนไทยด้วยกัน ในขณะที่เรามาเรียนเมืองนอก
พี่เห็นด้วยกับการใช้เวลากับคนไทยที่อยู่ที่นี่ เพราะหนึ่งมันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ได้พูดคุยกัน ได้ช่วยกัน อาจจะมีหลายคนที่มาอยู่ต่างประเทศที่คิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากอยู่กับคนต่างชาติ แต่มันจะมีช่วงที่เราต้องปรับตัว ซึ่งคนที่มีความคิดแบบเดียวกันจะช่วยเหลือเราได้ดีที่สุด พอพี่ดราม่าเยอะ ๆ พี่ก็คุยกับรุ่นพี่หลายคนที่เค้ามาอยู่ก่อน มันก็ทำให้พี่รู้ว่าพี่ควรจะทำยังไงกับชีวิต สิ่งที่ดีก็คือว่า มันไม่สำคัญว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง แต่เราช่วยเหลือกัน เค้าแบ่งปันประสบการณ์ที่มีให้กับเรา ดังนั้นพี่จึงชื่นชมคนที่มาอยู่ทีนี่นาน ๆ เพราะเค้ารู้จักว่าต้องปรับตัวยังไง ฝึกที่จะวางแผน ต้องออกจาก comfort zone อย่างตัวพี่เองพี่ก็ทำงานอยู่ พี่ไม่เคยต้องเดินเอาเรซูเม่ไปสมัครงานที่ไหนมาก่อน มันก็เป็นประสบการณ์
ได้รับตำแหน่ง Student Ambassador 2016 มาได้อย่างไร
พี่เป็นคนชอบทำกิจกรรม และก็ตั้งใจว่าจะหาอะไรทำไม่ให้ตัวเองดราม่า ก็เลยไปเข้า Griffith Mate ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมในมหาลัย และพี่ก็ตั้งอีกชมรมนึงขึ้นคือ กลุ่มนักเรียนไทยใน Griffith โดยเหตุผลที่เราตั้งมันขึ้นมา เพราะต่างเห็นตรงกันว่า การรักษาปัญหาบางอย่างได้ดีที่สุดคือการพูดคุยกัน ทำให้อย่างน้อยเราได้เจอกัน และน้องที่มาใหม่ก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งหลังจากที่พี่ตั้งกลุ่มนักเรียนไทยขึ้น ทาง Griffith Mate ก็ส่งอีเมล์มาบอกว่า Brisbane Marketing เค้ากำลังเปิดรับสมัคร Student Ambassadors พี่ก็เลยลองสมัครไป แล้วก็ได้
ช่วยเล่าประสบการณ์การเป็น Student Ambassador ของบริสเบนให้ฟังหน่อย
เรียนเอกเหมือนทำงานออฟฟิศ ต้องเข้าจันทร์ถึงศุกร์ บางทีวันเสาร์ก็ยังต้องทำ แล้วพี่ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของบริสเบนมากกว่าเป็นเด็กต่างชาติอยู่ตลอดเวลา อยากมีส่วนร่วมกับคนที่นี่มากขึ้น อยากเข้าใจวิธีคิดแบบคน ภาครัฐ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่นี่ ประชาสัมพันธ์รูปแบบการใช้ชีวิต การศึกษา facility ต่าง ๆ event และกิจกรรมของคนไทย ที่นี่ ผ่านทาง social network ซึ่งมันก็ดีสำหรับคนที่ยังไม่เคยมาที่นี่หรือมีความรู้เรื่องบริสเบนไม่มากนัก พอเค้าได้เห็นว่าที่นี่มีอะไรบ้างก็สามารถทำให้เค้าปรับตัวได้ระดับนึง ข้อดีอีกอย่างคือ ได้เจอเพื่อนต่างชาติ หรือต่างมหาลัย
เวลาว่างทำอะไรบ้าง
พี่เป็นคนชอบกิจกรรม outdoor แบบพวกเดินป่า เดิน national park ไฮไลท์ของออสเตรเลียก็คือเรื่องพวกนี้ หรืออย่างดำน้ำ พี่รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ อย่างไปดูปลาวาฬ หรือที่มหาลัย มีพอสซั่ม โคอาล่า งู นี่ก็ตื่นเต้นมาก พี่ชอบไปพาร์ค ทำกับข้าวกับเพื่อน ๆ เวลาทำอาหารให้เพื่อนต่างชาติกินนี่รู้สึกภูมิใจ เพราะเค้าไม่รู้หรอกว่าที่เราทำมัน traditional หรือเปล่า (ฮา) ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน อีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นความท้าทายตอนมาอยู่ที่นี่ปีแรก คือการพยายามดูหนังที่นี่ให้เข้าใจ เมื่อก่อนพี่ไม่เชื่อนะว่า 3 เดือนจะเปลี่ยนเราได้ ในเรื่องการใช้ภาษา แต่มันเปลี่ยนได้จริง ๆ การทำงานมีผลเยอะ ทักษะภาษาพี่ดีขึ้นเพราะพี่ได้ทำงานเสิร์ฟแล้วได้พูดคุยกับลูกค้า ถึงแม้จะเป็นประโยคเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แต่มันมีผลต่อทักษะการฟังและพูดมาก เพราะสำหรับนักศึกษาวิจัยจะไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกับใครเลย เรื่องภาษานี่ ตอนมาแรก ๆ ไปทานข้าวที่ร้าน พี่บอกขอบิลหน่อย “Bill please” เค้าเอาเบียร์มาให้พี่อ๊ะ (ฮา) มีอีกครั้งตอนไปสั่งน้ำ ”Water” ที่ร้านญี่ปุ่น แต่ได้วาซาบิมาแทน (ฮาปนน้ำตา)
อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ หรือคนที่คิดจะเรียนต่อต่างประเทศบ้างคะ
พี่เชื่อว่าการออกมาอยู่ต่างประเทศมันมีประโยชน์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แต่ว่าเราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะถ้าเราไม่มีมันจะง่ายมากในการที่เราจะเขวและท้อ ข้อดีของการออกมาคือทำให้อีโก้เราลดลง ตัวเราจะเป็นศูนย์ เราจะเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน ทำการบ้านกับที่ ๆ เราจะไปให้ดี ๆ ศึกษาว่าคนที่นั่นเป็นยังไง วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และทำใจว่าปัญหาต้องมีแน่ ๆ แต่เราเลือกที่จะเผชิญหน้ากับมันยังไง อยากให้น้อง ๆ เลือกเรียนอะไรสักอย่างที่เรามี passion กับมัน แล้วเราจะรู้สึกสนุกและมันจะช่วยให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน การออกมาอยู่ต่างประเทศไม่ง่าย เรื่องที่เคยทำให้เราเสียใจได้ 1% ตอนอยู่เมืองไทย มันจะคูณเป็น 10% เป็น 100% เลยเมื่ออยู่คนเดียว
หลายคนที่มาก็คิดว่า ทำไมมันยากจังเลย ถ้าเราเปลี่ยนความคิดจากคำว่า ยาก เป็นคำว่า ท้าทาย มันจะรู้สึกดีขึ้น เปลี่ยนวิธีคิด คุยกับคนหลาย ๆ แบบ และที่สำคัญถ้าอยากอยู่ที่นี่อย่างมีความสุข ต้องทำให้ตัวเองไม่ว่าง เพราะถ้าว่างจะมีอาการสติแตกได้ง่าย คิดฟุ้งซ่าน อีกอันนึงก็คือ เราต้องไม่ลืมว่าเรามาทำไม เรามีเป้าหมายบางอย่างที่เราต้องไปให้ถึง
พี่ชอบบริสเบนตรงที่มันเป็น multi-culture จริง ๆ มีคนหลายเชื้อชาติหลายแบบ บางทีพี่ก็คิดว่าทำไมเราต้องเอาตัวเองมาอยู่ในที่ดราม่า แต่ถามว่ามันคุ้มมั้ย พี่ว่ามันคุ้มนะ เพราะว่ามันเปลี่ยนชีวิตพี่ มันมีสิ่งสวยงามเล็ก ๆ อยู่รอบตัวเราเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นมันรึเปล่านะ เช่น ความมีน้ำใจของคนบางคน ความช่วยเหลือเอื้ออาทร หรือเราจะมองข้ามจุดพวกนี้แล้วมองเห็นแต่ความดราม่าของตัวเอง
เป็นยังไงกันบ้างคะ.. กับอีกหนึ่งมุมมองและประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวที่รักธรรมชาติ พี่มิม-ขวัญข้าว สิงหเสนี นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาลัย Griffith เมืองบริสเบน ที่มาแบ่งปันความรู้และไอเดียดีในการใช้ชีวิตนักเรียนในออสเตรเลีย ทีมงานก็ขอเอาใจช่วยกับงานวิจัยนี้ให้ประสบความสำเร็จด้วยนะคะ