เทศกาลฮาโลวีน
วันฮาโลวีนหรือวันที่คนทั่วไปเรียกกันคุ้นปากว่า "วันปล่อยผี" มีประวัติย้อนไปได้ถึงช่วงก่อนคริสตกาล โดยเป็นวัฒนธรรมของชาวเคลต์ (Celts) แถบหมู่เกาะอังกฤษที่มีถือเอาว่าวันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันสิ้นสุดของฤดูการเก็บเกี่ยว และวันที่ 1 พฤษจิกายนเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวและวันขึ้นปีใหม่ โดยมีความเชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณของคนตายจะเดินทางมายังโลกมนุษย์เพื่อแสวงหาร่างเข้าสิ่งสู่ และจะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ดังนั้นชาวเคลต์จึงอยู่แต่ในบ้าน ปิดไฟ ทำเสียงอึกทึกครึกโครม อีกทั้งบางตำนานยังกล่าวว่ามีการเผาคนที่เชื่อวานถูกวิญญาณเข้าสิงให้วิญญาณร้ายอื่นๆ ตกใจกลัวและหนีไป ภายหลังเมื่อจักรวรรดิโรมันเริ่มแผ่อิทธิผลมาถึงเกาะอังกฤษ และได้นำคริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วยจึงทำให้ความเชื่อเรื่องผีสางลดลง วันที่ 31 ตุลาคมจึงกลายเป็นวันทำบุญให้วิญญาณของผู้ล่วงลับที่อาจจะยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ คือวิญญาณที่ยังใช้โทษใช้บาปกรรมของตนยังไม่หมดสิ้น ยังอยู่ในแดนชำระ (purgatory) จึงทำพิธีสวดอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าเมตตาให้ได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้นแทนธรรมเนียมปฏิบัติเดิม
อีกทั้งคำว่า Halloween ก็ได้รับอิทธิพลมาจากคริตศาสนาเช่นกัน โดยคำว่า Hallow นั้นหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ และคำว่า Halloween ก็หมายถึง hallowed evening หรือ holy evening ซึ่งหมายถึงค่ำคืนก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย โดยก่อนหน้านั้นใช้คำว่า All Hallowmas Eve ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)
การสมโภชนักบุญทั้งหลายเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 613 โดยสันตะปาปาโบนีเฟสที่ 4 (Boniface IV) โดยกำหนดให้วันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย สาเหตุเนื่องจากเป็นวันเปิดโบสถ์แพนทีอัน (Pantheon) อันเป็นโบสถ์สรรพเทพของชาวโรมันมาแต่เดิม และจักรพรรดิโฟกัส (Phocas) ยกให้เป็นของคริสต์ศาสนา ภายหลังสันตะปาปากรีโกรีที่ 4 (Gregory IV) ทรงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ตั้งแต่ ค.ศ. 835 เป็นต้นมา
ดังนั้นเมื่อวัฒนาธรรมท้องถิ่นถูกรวมเข้ากับคริสตศาสนาแล้ว จึงปรับเปลี่ยนเป็นคืนวันที่ 31 ตุลาคมถือเป็นคืนเล่นผี มีผู้แต่งตัวสมมุติเป็นผีออกเพ่นพ่านขอส่วนบุญ ใครที่ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผีก็ยินดีจัดเลี้ยงต้อนรับผีในครอบครัวของตน โดยคว้านฟักทองหรือใช้วัสดุอื่นทำให้มีหน้าตาเป็นผี สร้างบรรยากาศให้มีผีในบ้านต้อนรับผีนอกบ้าน กลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงที่มีบรรยากาศแปลก วันรุ่งขึ้นจึงเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และต่ออีกวันหนึ่งจึงเป็นวันทำบุญให้วิญญาณในแดนชำระ เมื่อชาวไอริชและชาวสกอตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้
Reference: นางกนกวรรณ ทองตะโก, นักวรรณศิลป์ 5 กองธรรมศาสตร์และการเมือง, ราชบัณฑิตยสถาน , ซ จดหมายข่าว ปีที่ 13 ฉบับที่ 149, ตุลาคม 2546: http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1001