วันศุกร์, 03 มกราคม 2568

Booking.com

ความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย ตอนที่ 1/2

เผยแพร่เมื่อ 02 ธ.ค. 2016 โดย น.อ.อดิศร อุณหเลขกะ

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 1 ทุ่ม คนไทยทั้งโลกได้ทราบข่าวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเราชาวไทยและได้หลั่งน้ำตาร้องไห้กันทั่วแผ่นดิน ...พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 15:52 น. สิริพระชนมายุ 88 ปี 313 วัน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยครองราชย์สมบัติ 70 ปี ยาวนานที่สุดในโลก...

 

คนไทยแทบทุกคนจงรักภักดี รัก เทิดทูน บูชา พระองค์ท่านอย่างบริสุทธิ์ใจ และรู้ดีแก่ใจว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว และก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะพูดถึงหรือคิด แต่ด้วยวัฎสงสาร (ภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพุทธศาสนา)    วันนี้ก็มาถึง หลังจากนั้นเราจะเห็นคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพระองค์ท่าน ด้วยความคิดที่ว่า หากพวกเราทำอะไรเพื่อพระองค์ท่านได้บ้างแม้เพียงน้อยนิด พวกเราคนไทยก็จะยินดีทำด้วยความเต็มใจที่สุด

 

ชาวต่างชาติที่ไม่เคยสัมผัสกับประเทศไทยอย่างแท้จริง จะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า ทำไมคนไทยจึงรักพระองค์ท่านมากมายเหลือเกินเช่นนี้ ?

ประวัติศาสตร์ของคนไทย มีคำตอบ...เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป การรวมตัวของกลุ่มคนย่อมจะต้องมีผู้นำ และความเชื่อต่อผู้นำของคนไทย พวกเรายกย่องผู้นำโดยเรียกผู้นำนั้นว่า พ่อขุน พระเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์ การใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรนั้น คนไทยเชื่อว่าเป็นอาณาจักรของพระมหากษัตริย์ เราจึงใช้คำว่า “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” คำว่าพระบรมโพธิสมภาร เป็นคำที่มาจากพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพระพุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภกที่ให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา คำนี้จึงหมายถึง การอยู่ใต้ความคุ้มครองของพระเจ้าแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้กับชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาในพระราชอาณาจักร และพระเจ้าแผ่นดินทรงไม่รังเกียจ ยินดีต้อนรับให้เข้ามาอยู่ได้ดังเช่นคนไทย ชาวต่างชาติต่างศาสนาจึงอพยพเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักรได้อย่างมีความสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างแท้จริง

 

20161202-9-kings

 

ในอดีตเป็นต้นมา อาณาจักรสุโขทัยหรืออาณาจักรอยุธยา การดำรงชีวิตของประชาชนจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน หากพระองค์มีพระปรีชาสามารถ แผ่นดินก็จะเจริญรุ่งเรือง หากพระเจ้าแผ่นดินมีความสามารถทางการรบ แผ่นดินก็จะแผ่ขยายอาณาเขตออกไป การศึกก็จะสามารถชนะอริราชศัตรูได้ แต่หากช่วงเวลาใดพระเจ้าแผ่นดินมีความอ่อนแอไม่มั่นคง ก็จะเกิดการแก่งแย่งอำนาจ แตกความสามัคคี ฆ่าฟันคนไทยกันเองที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ช่วงเวลานั้นก็ไม่สามารถต้านทานข้าศึกที่จ้องจะทำลายล้างพวกเราได้ ดังจะเห็นได้ในบทเรียน เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก ปี พ.ศ.2310

ส่วนความจงรักภักดีนั้น ประวัติศาสตร์ไทยก็สามารถอธิบายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในช่วงราชวงศ์จักรี 200 กว่าปีให้หลังนี้ (ปี พ.ศ.2325-ปัจจุบัน) พวกเราคนไทยมีความจงรักภักดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และความจงรักภักดียิ่งทวีมากขึ้น เมื่อได้รับการตอบสนองจากพระองค์ท่านที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ช่วยเหลือ รัก และดูแลประชาชนของพระองค์ คนไทยจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาลขยายสู่ประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัย ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายทั้งปวงตลอดมา

 

20161202-01-king-phra-phutthayotfa-chulalok

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระปรีชาสามารถด้านการรบของพระองค์ทำให้บ้านเมืองไม่พ่ายแพ้สงคราม และยังมีผลให้บ้านเมืองสงบสุขต่อมาเป็นเวลานาน เมื่อถึงช่วงสงบสุข พระองค์ท่านได้ทำนุบำรุงบ้านเมือง ดังพระราชปณิธานปรากฏในนิราศรบพม่าท่าดินแดงว่า ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี

 

20161202-02-king-phra-phutthaloetla-naphalail

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ด้านกวีนิพนธ์ ด้านปฏิมากรรม และด้านดนตรี นับเป็นยุคทองของวรรณคดีไทยเลยทีเดียว เมื่อยามบ้านเมืองสงบสุข การพื้นฟูและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมจึงส่งผลต่อความเข้มแข็งของรากฐานความเป็นไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

20161202-03-king-nangklao

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ยามนี้ประเทศชาติต้องพึ่งพาเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต ช่วงนี้พวกเราชาวไทยมีพระเจ้าแผ่นดินที่เก่งเรื่องการค้า พระองค์ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก พระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) ทรงเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว บ้านเมืองได้รับการพัฒนาการค้ากับต่างประเทศ จนทำให้ประเทศมีความมั่งคั่งต่อไปอีกหลายรัชกาล จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้มีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การคมนาคม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา ความเป็นอยู่ และศิลปกรรม ส่วนด้านความมั่นคง พระองค์ส่งทัพไปสกัดทัพข้าศึกไม่ให้กล้ำกลายประเทศเราอีกด้วย ปลายรัชสมัยเมื่อพระองค์ประชวรใกล้สวรรคต แม้ว่าพระองค์ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาไลย) และพระองค์มีพระราชโอรสธิดาทั้งสิ้น 51 พระองค์ แต่พระองค์ทรงมิได้เลือกผู้สืบราชสมบัติจากพระโอรส จึงทำให้วิกฤตที่ทุกคนเกรงว่าจะเกิดขึ้นได้มลายหายไปในที่สุด

 

20161202-04-king-mongkut

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 3 (รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มีพระชนมายุห่างกัน 17 พรรษา) แม้เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 พระองค์มีสิทธิในพระราชสมบัติ (เนื่องจากพระองค์ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) แต่พระองค์ก็เลือกที่จะผนวชต่อไปตลอดช่วงรัชกาลที่ 3 ระหว่างผนวชพระองค์ได้เสด็จออกธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้ทรงคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเป็นนักปราชญ์รอบรู้ พระองค์ทรงพระราชอุตสาหะวิริยะเรียนภาษาอังกฤษจนทรงเขียนได้ ตรัสได้ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ที่จะเตรียมประเทศชาติให้พร้อมกับการเข้ามาของประเทศมหาอำนาจ เมื่อสิ้นราชกาลที่ 3 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์ แม้พระองค์จะครองราชย์เพียง 17 ปี แต่จากพระปรีชาสามารถของพระองค์ทำให้บ้านเมืองมีความรอบรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ของโลกตะวันตก อีกทั้งบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าในด้านการต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และพระพุทธศาสนา การที่พระองค์ทรงยึดนโยบาย "ผ่อนสั้น ผ่อนยาว" กับประเทศมหาอำนาจ อันทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้

 

...โปรดติดตามอ่านต่อในตอนต่อไป

นาวาอากาศเอก อดิศร อุณหเลขกะ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 02 ธ.ค. 2016
น.อ.อดิศร อุณหเลขกะ

น.อ.อดิศร อุณหเลขกะ

ล่าสุดจาก น.อ.อดิศร อุณหเลขกะ