เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี ประเทศไทยจะมีงานประเพณีใหญ่ ที่เป็นสีสันแห่งสายน้ำเคียงคู่วิถีชีวิตของชนชาติไทยมาแต่ครั้งโบราณกาลนั้นคือ ประเพณีลอยกระทง โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือน 11 และนิยมกันมากที่สุดคือกลางเดือน 12 ตามปฏิทินไทย ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก กอปรกับแสงจันทร์นวลลอยเด่นเต็มดวง ให้บรรยากาศที่งดงาม ดั่งคำร้องของบทเพลง "รำวงวันลอยกระทง" ท่อนหนึ่งที่คุ้นหูเราเป็นอย่างดีว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง พวกเราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง"
ประเพณีลอยกระทงของไทยเราในปัจจุบัน มีต้นกำเนิดจากพระราชพิธีจองเปรียงชักโคมตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เดิมนั้นเป็นพิธีพราหมณ์เพื่อบวงสรวงเทพเจ้าทั้งสามองค์ (ตรีมูรติ: พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ) โดยปรากฎหลักฐานจากสถาปัตยกรรมในยุคสุโขทัย เช่น วัดศรีสวาย ที่มีพระปรางค์ 3 ยอด รูปพระอิศวร และหินจำหลัก ทับหลังพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กรและชิ้นส่วนของเทวรูปและลึงค์ทำด้วยสำริด อีกทั้งมีสระน้ำที่เรียกว่า "สระลอยบาป" ใช้เป็นที่ประกอบพิธีลอยบาปหรือล้างบาปตามความเชื่อลัทธิพราหมณ์ ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธียกโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย ซึ่งการลอยกระทงตามสายน้ำมีบันทึกในสมัยพระร่วงว่าในราชพิธีจองเปรียง สนมกำนัลต่างพากันประดิษฐ์กระทงรูปแบบต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ นางนพมาศ ได้คิดประดิษฐ์กระทงรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) ขึ้นมา เมื่อพระร่วงทรงทอดพระเนตรพลางตรัสชมว่าโคมลอยนี้งามประหลาด พร้อมถามถึงเหตุผลที่ทำเป็นรูปดอกบัวกมุทบาน นางนพมาศจึงอธิบายว่า "เป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท" พระร่วงจึงตรัสว่า “แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดวันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำกระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทอุทิศสักการบูชา พระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”
เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการพระราชพิธีทั้งปวง ควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆ พระราชพิธี จึงโปรดให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนเวลาที่จะยกเสาโคมในพระราชพิธีจองเปรียงฯ นอกจากการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีจองเปรียงให้มีความเป็นพุทธเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า
"ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่งบ้าง ย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง"
Photo credit: www.nationalgeographic.com
ซึ่งสำหรับชาวล้านนาในวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ยี่เป็ง) นอกจากจะมีการตั้งธัมม์หลวงแล้ว คนที่เกิดในปีจอจะต้องไปนมัสการพระธาตุแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่บรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่ตัดออกก่อนดำรงเพศนักบวช แต่พระธาตุนี้อยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นเพื่อที่จะสักการะพระธาตุแก้วจุฬามณี จึงต้องใช้โคมที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่และกระดาษสา พร้อมจุดตะเกียงไฟให้ไอร้อนพาโคมลอยขึ้นสู่อากาศให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ทำให้ในวันงานประเพณียี่เป็งท้องฟ้าในยามค่ำคืนจะสว่างไสวไปด้วยแสงจากโคมลอย ซึ่งมีความสวยงามและทำให้ประเพณีนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
ถึงกระนั้นไม่ได้มีประเทศไทยเพียงชาติเดียวในโลกที่มีประเพณีลอยกระทง ยังมีประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่าง พม่า ลาว และกัมพูชาที่มีประเพณีนี้ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นเองก็มีประเพณีเช่นเดียวกันมีชื่อเรียกว่า โทโร่นากาชิ (灯籠流し) เพียงแต่จุดประสงค์แตกต่างออกไปที่เป็นการรำลึกถึงผู้คนที่เสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิม่า ผู้คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสายการบิน Japan Airlines เที่ยวบินที่ 123 รวมถึงผู้คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นๆ ทั่วโลก อีกทั้งที่ฮาวายก็มีการไว้อาลัยผู้เสียชีวิตและเป็นอนุสรณ์ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเชื่อว่าแสงไฟจากโคมลอยเหล่านั้นจะนำทางดวงวิญญาณจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า
Photo credit: www.wikipedia.org
แม้การลอยกระทงในแต่ละรูปแบบและความเชื่อจะแตกต่างกันออกไป แต่นัยสำคัญคือการทำให้เกิดความสบายใจมีความสุข แต่ถึงกระนั้นไม่จำเป็นต้องรอที่จะทำเพียงหนึ่งครั้งต่อปี แต่สามารถทำได้ทุกวันดังคำกล่าวของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ว่า
พราหมณ์คนหนึ่ง นุ่งห่มผ้าไหมผืนใหม่ เข้าเฝ้าถวายบังคมพระพุทธเจ้าแต่เช้าตรู่ พระองค์ทรง ปฏิสันถารว่า
พราหมณ์ ท่านมีธุระอะไรแต่เช้า พราหมณ์กราบทูลพระองค์ว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ พราหมณ์ทั้งหลาย แต่งตัวด้วยผ้าไหมผืนใหม่ถืออุโบสถและพากันลอยบาป
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า การลอยบาปนั้นทำอย่างไร
พราหมณ์จึงกราบทูลว่า พราหมณ์ทั้งหลายจะสมาทานอุโบสถศีล พอตกลางคืนก็ทำพิธีลอยบาป ด้วยการนำเอาโคมัย สด หรือมูลโค มาลูบไล้ที่นอนแล้วปูด้วยหญ้าคา ก่อกองทรายไว้ใกล้ๆเรือนไฟที่บูชา นอนในที่นั้นจนกระทั่งเที่ยงคืน ก็ตื่น ขึ้นมาทำพิธีลอยบาป ด้วยการนำเอาเนยใส เนยข้น และของหอมใส่เข้าไปในกองไฟแล้วท่องบ่นว่า ขอบาปจงลอยไปขอบาป จงลอยไป จนเสร็จพิธี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่น เป็นวิธีลอยบาปของพราหมณ์ เราก็มีวิธีลอยบาปของเรา
พราหมณ์ถามว่า พระองค์มีวิธีการลอยบาปอย่างไร
พระองค์ตรัสว่า บุคคลใดงดเว้น จากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูด ส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พยาบาทปองร้ายผู้อื่น มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม บุคคล นั้นได้ชื่อว่า ได้ลอยบาปเสียแล้ว
เมื่อเปรียบเทียบการลอยบาปในพระพุทธศาสนาและในศาสนาพราหมณ์ก็พบว่า การลอยบาปในศาสนาพราหมณ์เป็นการ ทำพิธีภายนอก แต่การลอยบาปในพระพุทธศาสนาเป็นการปฏิบัติลงไปที่กายวาจาใจ
การลอยบาปในศาสนาพรามหณ์ ต้องทำในวันอุโบสถเพียงวันเดียว แต่การลอยบาปในพระพุทธศาสนาทำได้ทุกวัน ทำ แล้วบาปหมดไปทุกวัน
พระพุทธเจ้าทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อศาสนาอื่น ยอมสดับรับฟังพิธีกรรมของศาสนาอื่น ไม่ปฏิเสธหรือดูถูก ดูแคลน ศาสนาอื่น แต่ทรงนำเสนอเรื่องเดียวกันที่ศาสนาอื่นกระทำอยู่ในมุมมองของพระองค์ให้ศาสนิกในศาสนาอื่นได้พิจารณา
ตามเรื่องราวในพระไตรปิฏกกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสนอวิธีการลอยบาปของพระองค์ให้พราหมณ์ได้ทราบดังนั้น พราหมณ์นั้นฟังธรรมจบก็คุกเข่าพนมมือต่อหน้าพระองค์กล่าวสรรเสริญพระพุทธวจนะว่า พระวจนะของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก ขอพระองค์ทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะจนตลอดชีวิต [1]
Reference: [1] ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ, 22 สิงหาคม 2551, พิธีลอยบาป, สยามมีเดีย นิวส์, http://www.siammedia.org/articles/dhamma/20080822.php