เซลล์ประสาท ของคนเรานั้นมีหน้าที่สำคัญในการรับและส่งสัญญาณไฟฟ้าเคมีทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ โดยเฉพาะเซลล์ประสาทในสมองที่มีการรวมตัวเป็นโครงสร้างที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ชนิดใดๆ ในโลกทั้งรูปแบบและการรับส่งสัญญาณ ทำให้เกิดกระบวนการคิด ความทรงจำ นิสัย และพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปตามแต่ละบุคคล โดยเซลล์เหล่านี้จะทำงานตลอดเวลาไม่มีการหยุดพักจนกว่าเราจะสิ้นอายุขัย ทั้งนี้การรับและส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทจะมีสารเคมีที่ต้องใช้จำนวนหนึ่งเราเรียกว่า "สารสื่อประสาท" (neurotransmitter)
สารสื่อประสาท จะถูกสร้างขึ้นมาในเซลล์ประสาทตลอดเวลาในอัตราที่คงทีด้วยสารตั้งต้นที่มาจากตับ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะถูกเก็บไว้ในถุงแล้วค่อยๆ ถูกลำเลียงไปที่ปลายประสาทของแต่ละเซลล์ เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าจากแสง เสียง อุณหภูมิ การสัมผัสที่ทำให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าเคมีตามแต่ละตำแหน่งและหน้าที่ของเซลล์ จะทำให้เกิดกระแสประสาทไปกระตุ้นการปล่อยสารสื่อประสาทจากถุงที่ถูกเก็บไว้บริเวณปลายประสาทไปสู่ตัวรับของเซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่ง และส่งต่อไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางเหมือนกับสัญญาณ I/O ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์จนกว่าจะถึงเซลล์เป้าหมาย
ดังนั้นหากในวันหนึ่งวันเรามีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานของเซลล์ประสาทมากเท่าไหร่ ช่วงเวลาที่เราจะสามารถมีสติและทำงานได้อย่างราบรื่นก็จะลดน้อยลงไปด้วย จนสุดท้ายเมื่อสารสื่อประสาทที่ถูกสร้างไว้ลดน้อยลงถึงขีดจำกัด เซลล์ประสาทจะลดการทำงานลงผลที่แสดงออกทางร่างกายคือ ตาปรือ ขยับแขนขาลำบาก ความคิดความอ่าน วิเคราะห์ต่ำลง จนในที่สุดถ้าเราไม่ขยับตัวไปนอนบนเตียงนุ่มๆ ร่างกายของเราจะหลับไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในระหว่างที่เราหลับร่างกายของเราจะตัดสัญญาณประสาทบางส่วนออกไป ทำให้อัตราการสร้างต่อการใช้สารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ ให้ร่างกายของคนเราเป็นโทรศัพท์มือถือ มีเวลาการใช้งาน 24 ชั่วโมง แต่มีเวลาให้ชาร์ตไฟแค่ 6 ชั่วโมง เทียบกัน 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งชาร์ตและใช้งานไปพร้อมกัน อีกเครื่องใช้งานจนแบตเตอรี่เหลือ 20% แล้วค่อยชาร์ตไฟ พอผ่านไป 24 ชั่วโมง แล้วเอา 2 เครื่องมาเทียบกันผลที่ได้คือเครื่องที่ชาร์ตและใช้งานไปพร้อมกันต้องมีปริมาณไฟฟ้าเหลือน้อยกว่าแน่นอน เพราะใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนอีกเครื่องใช้งานแค่ 18 ชั่วโมง เท่านั้น อีกทั้งแบตเตอรี่ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าด้วย
แต่สำหรับร่างกายมนุษย์นั้น การหลับเพื่อเพิ่มอัตราการสร้างสารสื่อประสาท มักจะมีการลัดวงจรเกิดขึ้นบ่อยๆ ในกรณีที่มีสิ่งรบกวนการนอนมากไป อาทิ แสง อุณหภูมิ สารเคมีบางอย่างเช่นคาเฟอีนจากชา กาแฟ ท่าทางการนอน รวมถึงการหลับดึกเกินไปจนระบบประสาทบางส่วนไม่ได้ปิดการทำงานลง ผลก็คือทำให้เกิดอาการที่คนไทยเรียกว่า "ผีอำ" (sleep paralysis) เนื่องจากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วน ได้ถูกปิดหรือชะลอการทำงานลง แต่ระบบประสาทที่ควบคุมการคิดยังทำงานอยู่ ทำให้เมื่อเราฝันถึงเรื่องร้าย ๆ แล้วพยายามจะตื่นจากฝัน แต่ไม่สามารถขยับตัวเป็นต้น
เพราะฉะนั้นแล้ว.. เพื่อสุขภาพร่างการที่ดี มีพลังงานมากพอเพื่อที่จะดำเนินชีวิตตามปกติ คิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และปฏิบัติภารกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะพักผ่อนให้เพียงพอบนที่นอนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ไม่ถูกรบกวนการนอนมากเกินไปครับ