เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2018 เวลา 12.00น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้แทนการค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศไทยและนครซิดนีย์ ได้จัดงานประชุมจัดเลี้ยงในหัวข้อ Healthy Rice Campaign 2018 ณ ร้านอาหาร Thai Naramit เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้แก่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ในรัฐควีนส์แลนด์ โดยมีทั้งเจ้าของกิจการร้านอาหารไทยและบริษัทนำเข้าวัตถุดิบเจ้าใหญ่เข้าร่วมงาน
ภายในงานมีการบรรยายเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าว กข43 ซึ่งทางร้าน Thai Naramit ได้สร้างสรรค์เมนูจากไอเดียของคณะผู้แทนฯ ในการผสมผสานอาหารจานข้าวกับผลไม้ท้องถิ่นของไทย ซึ่งหาทานได้ในออสเตรเลีย เป็นคอร์สอาหารที่ใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าว กข43 เป็นหลัก
หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วข้าวไทยมีหลายสายพันธุ์ ที่เราคุ้นเคยกันส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวสวย ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวดำ ใครจะรู้ว่าสายพันธุ์ข้าวมีมากกว่า 20,000 ชนิด สำหรับสายพันธุ์หลักในการนำเสนอครั้งนี้ เป็นสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะแก่ผู้ดูแลสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็รับประทานได้ง่ายด้วย
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวเจ้าที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวหอมมะลิ 105 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว จากความร่วมมือของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว มีความนุ่มและหอม จะได้ผลผลิตดีเมื่อปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และต้องมีสภาพอากาศเย็นเพื่อสร้างสีเมล็ด นับเป็นข้าวอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น เบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน รวมถึงธาตุสังกะสีและโฟเลต มีดัชนีน้ำตาลต่ำถึงปานกลางซึ่งหมายความว่า แป้งในข้าวจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงขึ้นเร็วจนเกินไป เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและโรคอ้วน
ข้าว กข43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี(พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ปัจุจุบันจะพบแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าวกข. 43 ควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หรือพื้นที่ที่เกษตรกรมีเวลาทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่น ๆ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าว รสชาติของข้าวมีความนุ่ม เหนียว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105 แต่มีค่าดัชนีน้ำตาลน้อยกว่า พอ ๆ กับข้าวพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวอมิโลสสูงและร่วนแข็ง
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับข้าวไทย ผู้บริโภค ส่งออก และอุตสาหกรรมข้าว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.thairiceforlife.com