วันพุธ, 22 มกราคม 2568

Booking.com

ตรวจคัดกรองมะเร็ง ตรวจอะไรดี ตรวจเมื่อไหร่ดี ตอนที่ 1 ไอเท็มน่าสนใจ

เผยแพร่เมื่อ 27 ส.ค. 2013 โดย หมอนัท

บ่อยครั้งที่ผมมักจะได้ยินคำถามว่าอายุเท่านี้แล้วควรจะตรวจคัดกรองมะเร็ง อะไรบ้าง หรือมักจะมีคนไข้เอาผลเลือดจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นมาให้ดูแล้วถามผมว่าผล เลือด(มะเร็ง)หมายความว่ายังไง ควรจะทำอะไรต่อ ควรจะตรวจอะไรเพิ่มดี นี่เป็นที่มาของการเขียนเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจว่า ตรวจคัดกรองคืออะไร คัดกรองไปทำไป มีประโยชน์แค่ไหน แล้วถึงเวลาที่ต้องตรวจคัดกรองแล้วหรือยัง

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็ง (screening test for cancer)

การตรวจคัดกรองมะเร็งถ้าพูดภาษาง่าย ๆ คือตรวจอะไรก็ได้ที่บอกว่าคนไข้ที่ดูแข็งแรง ๆ มีมะเร็งระยะเริ่มต้นแล้วหรือยัง การตรวจคัดกรองมะเร็งจะแตกต่างกับการตรวจว่าเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง (งงไหมครับ) การตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือยังจะใช้ในคนที่เริ่มมีอาการผิดปรกติแล้ว อย่างเช่น คนที่หมดประจำเดือนแล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งก็มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกมา เป็นต้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ร่างกายของคนไข้มีความผิดปรกติแล้ว คนไข้ก็มาหาหมอ คนไข้อาจจะสงสัยหรือไม่สงสัยก็ได้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งหรือเปล่า พอหมอตรวจหมออาจจะสงสัยว่าคนไข้เป็นมะเร็งหรือไม่ แล้วหมอก็ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาทางบอกให้ได้ว่าคนไข้(มีโอกาส)เป็น มะเร็งหรือไม่

ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งนั้น คนไข้ยังไม่มีอาการอะไร แต่มีข้อบ่งชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากคนไข้มีความเสี่ยงที่จะมีมะเร็ง (ขอย้ำว่ามีความเสี่ยง) การที่จะบอกว่าใครเสี่ยงใครไม่เสี่ยงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูล จากงานวิจัยมาสนับสนุน อีกทั้งยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีงานวิจัยบอกว่าการทดสอบใดเหมาะสม ปลอดภัยและคุ้มค่า การทดสอบใดช่วยลดอัตราการเกิดหรือตายจากมะเร็งในระดับประเทศ จากนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาจะผนวกข้อมูลคนไข้และงานวิจัยเข้าด้วยกันเพื่อดู ว่าใครบ้างที่ควรจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็ง แล้วคนนั้นควรจะตรวจคัดกรองมะเร็งอะไรบ้าง ที่อายุเท่าไหร่ ต้องตรวจคัดกรองบ่อยแค่ไหน

ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เสมอไป การที่จะบอกว่า "ผมอยากตรวจอันนี้ ตรวจให้ผมหน่อย" หรือการที่มีแผ่นพับเชิญชวนให้ "ตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยการตรวจเลือด" บางอย่าง จึงเป็นเรื่องที่ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะ เป็นและเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมากอีกด้วย (ถึงแม้จะทำกำไรได้มากก็ตาม)

ตอนต่อไปผมจะพูดถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ว่าใครบ้างควรจะตรวจคัดกรอง และมีการตรวจคัดกรองแบบไหนบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านตัดสินใจว่าควรจะไปปรึกษาแพทย์หรือยัง หรือผู้อ่านสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ต่อให้กับคนที่ท่านรู้จัก

ปล. หากท่านผู้อ่านจะเอาข้อมูลไปลงที่ไหน กรุณาอ้างที่มาว่ามาจากผมด้วยครับ ไม่หวงข้อมูลครับ

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความส่วนตัวและบทความนี้ไม่ได้ถูกคัดกรองและยอมรับโดยคณะหรือมหาวิทยาลัย

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2014
หมอนัท

หมอนัท

ดร.นพ.พสิษฐ์พล วัชรวงศ์วาน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์