วันจันทร์, 04 พฤศจิกายน 2567

Booking.com

คำแนะนำเรื่องความปลอดภัยริมหาด "Beach Safety" กับการเล่นน้ำทะเลที่ออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 08 กุมภาพันธ์ 2562 โดย MaBrisbane

หน้าร้อนมาเยือนก็ได้เวลาออกไปรับสายลม แสงแดด ใส่บิกินี่หรือชุดว่ายน้ำตัวโปรดไปโต้คลื่นเย็น ๆ ริมทะเล ชายหาดที่ออสเตรเลียขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด น้ำทะเลสีสดใส คลื่นแรง และกฎการดูแลผู้มาเล่นน้ำให้ปลอดภัย มาดูกฎและข้อปฏิบัติในการเล่นน้ำทะเลอย่างถูกต้องและปลอดภัยในแบบออสซี่กัน

 

ข้อควรปฏิบัติเบื้องต้นเวลาไปเล่นน้ำทะเล

  • มองหาธงสีแดงและเหลือง ว่ายเล่นน้ำในบริเวณนั้น
  • ดูป้ายเตือน ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎ
  • ถาม lifeguard หรือ lifesaver เพื่อขอคำแนะนำก่อนลงเล่นน้ำ
  • ชวนเพื่อนมาเล่นน้ำด้วย
  • หากตกอยู่ในภาวะคับขัน ยกมือขึ้น มีสติ และเรียกขอความช่วยเหลือ

เราควรจะลอยตัวอยู่บนหลังและตั้งสติให้ใจเย็น ๆ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ

 

Lifeguard และ Lifesaver คือใคร

พวกเขาเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพของชายหาด เราควรจะสังเกตเมื่อไปถึงชายหาดว่าพวกเขาใส่เครื่องแบบแบบไหน เพื่อที่เราจะได้มองหาเขาได้ง่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน

 

20190207-beach-safety-life-saver

 

ความหมายของธงบนชายหาด

ทุกหาดมีความอันตรายที่เราต้องระวังทั้งแบบถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเราสามารถรู้ได้จากธงที่ปักไว้

20190207-beach-safety-flags

  • ธง สีแดง และ เหลือง แสดงถึงพื้นที่ของชายหาดที่มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือปฏิบัติการอยู่ ดังนั้นหากไม่มีธงปักอยู่แสดงถึงพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้การสอดส่องดูแล เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรลงว่ายเล่นน้ำหากไม่เห็นธง
  • ธง สีแดง แสดงว่าชายหาดถูกปิด ห้ามลงไปในน้ำ
  • ธง สีขาวดำ ลายตาหมากรุก เป็นพื้นที่ห้ามไม่ให้เล่นบอร์ดหรือโต้คลื่น
  • ธง สีเหลือง แสดงถึงพื้นที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายในน้ำ ยังคงสามารถลงน้ำได้แต่ควรมีเพื่อนลงด้วยหรืออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ประจำชายหาด

 

ความหมายของป้ายเตือนต่าง ๆ

20190207-beach-safety-signs

  • ป้ายเตือน (warning sign) เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (diamond-shaped) ใช้สีเหลืองและดำในการวาดและพื้นหลัง เป็นป้ายเตือนเกี่ยวกับอันตรายของชายหาด เช่น “มีคลื่นใหญ่โถมแบบไม่ทันตั้งตัว” หรือ “ไม่แนะนำให้เล่นว่ายน้ำแถวนี้”
  • ป้ายกฎข้อปฏิบัติ (regulatory sign) เป็นป้ายวงกลมเส้นรอบวงสีแดง มีเส้นสีแดงทแยงพาดทับรูปวาดสีดำ เป็นป้ายห้ามปฏิบัติ เช่น “ห้ามว่ายน้ำ” หรือ “ห้ามโต้คลื่นในเขตธงที่ปักอยู่”
  • ป้ายข้อมูล (information sign) เป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินและวาดด้วยสีขาว ป้ายนี้บอกข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของชายหาดนั้น ๆ เช่น “มีการลาดตระเวน” หรือ “เล่นกระดานโต้คลื่น”
  • ป้ายความปลอดภัย (safety sign) ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเขียววาดด้วยสีขาว บ่งบอกถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือที่อยู่ใกล้ ๆ หรือคำแนะนำ (safety advice) เช่น “โทรศัพท์สายด่วน”, “เครื่องมือปฐมพยาบาล” หรือ “อุปกรณ์ช่วยชีวิต”

 

จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับกระแสน้ำย้อนกลับ (rip currents) มั้ย?

กระแสน้ำย้อนกลับเป็นภัยอันดับหนึ่งบนหาดของออสเตรเลีย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 19 รายทุก ๆ ปี กระแสน้ำที่มีความแรงเริ่มใกล้ ๆ ชายฝั่งและไหลออกไปในทะเล หากติดอยู่ในกระแสน้ำนี้จะรู้สึกเหมือนลอยอยู่ในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว กระแสน้ำย้อนกลับไม่ได้ไหลออกสู่ทะเลเสมอไป บางครั้งจะไหลเป็นแนวเดียวกับชายหาดก่อนที่จะหักออกไปสู่ทะเล หากพบว่าติดอยู่ในกระแสน้ำนี้ให้:

  • อย่าตื่นกลัว
  • ชูแขนขึ้น ร้องขอความช่วยเหลือ
  • ลอยไปตามกระแสน้ำ มันอาจจะพากลับมาในเขตน้ำตื้น
  • ว่ายขนานกับชายหาด หรือว่ายเข้าหาคลื่นที่กำลังพัง จนตัวเองออกมาจากกระแสน้ำ

 

จำเป็นจะต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องคลื่น?

ประเภทของคลื่นมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน

  • Plunging/dumping waves คือ คลื่นที่พังตัวลงทันทีและสามารถซัดทำให้เราจมไปก้นทะเลได้ด้วยแรงมหาศาล คลื่นประเภทนี้ส่วนมากจะเกิดในช่วงน้ำลงเวลาสันทรายตื้น และอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บทางศรีษะและกระดูกสันหลัง จึงไม่ควร bodysurf บนคลื่นนี้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถาม lifesaver หรือ lifeguard เพื่อขอคำแนะนำ
  • Spilling waves จะมีน้ำสีขาวตกลงบนคลื่น ส่วนมากจะไม่มีความแรงเท่าไร และเป็นคลื่นที่ปลอดภัยที่สุดในการ body surf เกิดขึ้นในอ่าวที่ระดับความชันของพื้นทะเลค่อย ๆ ลดลง และใกล้กับสันทรายในช่วงน้ำขึ้น
  • Surging waves อาจจะไม่เกิดการพังของคลื่นเพราะน้ำใต้คลื่นอยู่ลึกมาก คลื่นชนิดนี้เกิดในบริเวณที่มีหินเยอะ ๆ ตามหน้าผา และบริเวณที่ชายหาดไม่มีการไล่ระดับ (beach drops off quickly) คลื่นประเภทนี้อาจมีความอันตรายมาก เพราะมันสามารถกระแทกและพาเราไปสู่น้ำลึกได้
  • Large surf เป็นคลื่นที่เหมาะสำหรับนักว่ายน้ำที่มีประสบการณ์เท่านั้น และต้องว่ายอยู่ในเขตธงแดงเหลือง ควรหลีกเลี่ยงบริเวณห้วยและปากแม่น้ำเพราะกระแสน้ำในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีความแรงมาก

 

ทำยังไงเด็ก ๆ ถึงจะปลอดภัยบนชายหาด?

  • ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ห่างจากตัวเกินมือเอื้อม
  • เลือกชุดว่ายน้ำเด็กที่มีสีสันสดใสง่ายต่อการมองเห็น
  • เลือกจุดนัดพบที่มองเห็นได้ง่าย เช่น lifeguard tower เผื่อเวลาพลัดหลงจากกัน

 

ทำไมการดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาดถึงอันตราย?

ทุก ๆ ปีมีหลายคนที่ประสบปัญหาในการว่ายน้ำหรือเล่นเซิร์ฟเนื่องมาจากผลของแอลกอฮอล์ ทำให้การตัดสินใจและรีแอคชั่นบางอย่างช้าลง รวมไปถึงการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

 

เกี่ยวกับฉลามและสัตว์กัดต่อย (stingers)

โดยทั่วไป ฉลามทำร้ายคนไม่กี่คนทุก ๆ ปี ในน่านน้ำออสเตรเลียมีฉลามอยู่มากกว่า 170 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่พันธุ์ที่ถือว่าเป็นอันตราย

สัตว์ทะเลกัดต่อยที่ไม่ได้อยู่ในเขตร้อน (Non-tropical marine stingers) เช่น แมงกะพรุนหัวขวด Bluebottle หรือ แมงกะพรุน Hair Jelly อาจพบได้ตามชายฝั่งออสเตรเลีย แต่โดยส่วนมากจะพบในเขตร้อนของรัฐควีนส์แลนด์ (ตอนใต้ของ Bundaberg) และทางใต้ของเขตร้อนใน Western Australia (ใต้ของ Geraldton) แผลจากการต่อยของสัตว์พวกนี้โดยปกติไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่อาจปวดระคายเคืองได้

สัตว์ทะเลกัดต่อยเขตร้อน เช่น แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) และคูโบซัว (Box jellyfish) ถูกจัดเป็นสัตว์อันตราย และควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อลงเล่นน้ำในช่วงฤดูของมัน ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ระหว่างเดือน พ.ย. ถึง มี.ค.

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกต่อยนั้นมีวิธีการแตกต่างกันไปตามชนิดของสัตว์ที่ต่อย เมื่อเราไม่ทราบว่าแผลต่อยเกิดจากแมงกะพรุนสายพันธุ์ไหนควรจะปฐมพยาบาลผู้ป่วยด้วยน้ำส้มสายชูจะปลอดภัยกว่า และรักษาตามวิธีต่อไปนี้

  • พาผู้ป่วยออกจากน้ำและจับผู้ป่วยไม่ให้ขยับเขยื้อนหากจำเป็น
  • โทรขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 000 (ศูนย์สามตัว, triple zero) หรือเรียก lifesaver หรือ lifeguard
  • ทำการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CPR) หากจำเป็น
  • ราดน้ำส้มสายชูลงบนบริเวณที่ถูกต่อยเพื่อถอนพิษที่มองไม่เห็น ห้ามล้างด้วยน้ำจืด
  • หากไม่มีน้ำส้มสายชู ให้หยิบเศษหนวดที่ติดอยู่ (หากเป็นไปได้ให้ใส่ถุงมือ) และล้างแผลด้วยน้ำทะเล (ห้ามใช้น้ำจืด)
  • ประคบด้วยถุงเย็น (cold pack)
  • ขอความช่วยเหลือในการรักษาและนำส่งโรงพยาบาลทันที

หากถูกต่อยโดย Bluebottle:

  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้พักและจับตาดูอยู่เสมอ
  • หากโดนต่อยอย่างรุนแรงที่หน้าหรือคอ โทรเรียก 000 (ศูนย์สามตัว, triple zero) ทันที และขอรถพยาบาล (โดยเฉพาะหากมีอาการบวม)
  • ห้ามถูบริเวณที่ถูกต่อย
  • หยิบหนวดที่ติดอยู่ออกโดยใช้มือ (อาจจะรู้สึกแปล๊บ ๆ ไม่เป็นอันตรายอะไร)
  • ล้างแผลด้วยน้ำทะเลเพื่อกำจัดเซลล์ต่อย (stinging cells) ที่มองไม่เห็น
  • แช่บริเวณที่ถูกต่อยในน้ำร้อน (ไม่ร้อนเกินไปกว่าที่ผู้ช่วยสามารถทนได้) หากความร้อนไม่ทำให้หายปวด หรือหาน้ำร้อนไม่ได้ ให้ประคบด้วยถุงเย็น หรือน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้า
  • ห้ามใช้น้ำส้มสายชูหรือใช้ทรายถูแผล

หากถูกต่อยด้วยแมงกะพรุนที่ไม่ใช่พันธุ์เขตร้อนและไม่มีพิษร้ายแรง:

  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้พักและจับตาดูอยู่เสมอ
  • ห้ามถูบริเวณที่ถูกต่อย
  • หยิบหนวดที่ติดอยู่ออกโดยใช้มือ (อาจจะรู้สึกแปล๊บ ๆ ไม่เป็นอันตรายอะไร)
  • ล้างแผลด้วยน้ำทะเลเพื่อกำจัดเซลล์ต่อย (stinging cells) ที่มองไม่เห็น
  • ประคบด้วยถุงเย็น หรือน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าเพื่อบรรเทาปวด
  • หากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือปวดเพิ่มขึ้น หรือบริเวณที่ถูกต่อยมีขนาดใหญ่ (กินบริเวณเกินครึ่งของส่วนที่ถูกต่อย [half of a limb or more]) หรือผู้ป่วยมีอาการแพ้ ให้ขอความช่วยเหลือทันทีโดยโทร 000 (ศูนย์สามตัว, triple zero) และเรียก lifesaver หรือ lifeguard

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ทะเลกัดต่อยได้ที่นี่ www.healthdirect.gov.au/sea-creature-stings

 

ทำไม rock fishing ถึงอันตราย?

Rock fishing (ตกปลาตามโขดหิน) เป็นกิจกรรมค่าเวลาที่หลาย ๆ คนชอบ และยังเป็นหนึ่งในกีฬาที่อันตรายที่สุดของออสเตรเลียอีกด้วย โขดหินก็เหมือนกับชายหาดที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงควรระมัดระวังอยู่เสมอ

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการ rock fishing:

  • ไม่ไปตกปลาคนเดียว
  • บอกคนรู้จักเกี่ยวกับแผนการตกปลาที่เราวางไว้
  • ใส่เสื้อผ้าที่มีความเบาและสวมรองเท้าให้เหมาะสม
  • พกอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยติดตัวไปด้วย
  • ตกปลาในเขตที่เรารู้ว่าปลอดภัยเท่านั้น ไม่ตกปลาในเขตทะเลกว้างคลื่นลมแรง
  • วางแผนเส้นทางหนีหากถูกน้ำซัด
  • คอยดูสถานการณ์ ระวังตลอดเวลา
  • ถามคนที่อาศัยอยู่แถวนั้นเพื่อขอคำแนะนำ
  • ห้ามกระโดดลงไปในน้ำหากเห็นคนถูกพัดตกไปในทะเล

 

การบาดเจ็บตรงกระดูกสันหลังที่ชายหาดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ทุกปีมีผู้บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังเป็นจำนวนไม่น้อยจากอุบัติเหตุบนชายหาด และทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง โดยส่วนมากเกิดจาก

  • ถูกคลื่นซัด ศีรษะลงน้ำก่อน
  • กระโดดลงทะเลเอาศีรษะลงน้ำก่อน
  • กระโดดลงทะเลจากโขดหิน (บางทีเรียกว่า “Tombstoning”)
  • ชนวัตถุใต้ทะเล

หากมีอาการเมื่อยหรือปวดคอ ควรคาดว่าอาจมีการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้

 

Surf Life Saving Queensland's Fact Sheet Thai (PDF 270kb)
20190207-beach-safety-lifesaving-th
Ref. lifesaving.com.au

 

ที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม:

healthdirect.gov.au - "healthdirect's Beach safety"
sls.com.au - "Surf Life Saving Australia"
lifesaving.com.au - "Surf Life Saving Queensland"

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 13 ม.ค. 2566
MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State