สัมภาระที่นำขึ้นเครื่องของการบินไทยได้ สามารถแบ่งง่าย ๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ สัมภาระฝาก(โหลด)ใต้เครื่อง และ สัมภาระถือขึ้นเครื่อง ซึ่งสัมภาระในส่วนที่โหลดลงใต้เครื่อง จะมีปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำหนักสูงสุดสำหรับแต่ละท่าน อยู่ที่ประเภทของชั้นโดยสารที่เดินทาง และ การถือครองสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัส(Royal Orchid Plus, ROP)
สัมภาระฝากใต้เครื่อง (Checked Baggage)
สัมภาระที่ไม่มีค่าใช้จ่าย (Free baggage)
ทางการบินไทยมีเกณฑ์กำหนดขีดจำกัดนำหนักของสัมภาระที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของการบินไทย สำหรับเกณฑ์น้ำหนักสัมภาระของชั้นโดยสารแต่ละประเภท ที่ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ มีดังนี้..
ประเภท | น้ำหนักสัมภาระทุกชิ้นรวมกันสูงสุด |
รอยัลเฟิร์สคลาส (Royal First Class) |
50 กิโลกรัม (110 ปอนด์) |
รอยัลซิลค์คลาส (Royal Silk Class) |
40 กิโลกรัม (88 ปอนด์) |
พรีเมียม เอโคโนมีคลาส (Premium Economy Class) |
30 กิโลกรัม (66 ปอนด์) |
เอโคโนมีคลาส (Economy Class) |
30 กิโลกรัม (66 ปอนด์) |
เด็กเล็กที่ไม่ใช้ที่นั่ง (Infant not occupying a seat) |
10 กิโลกรัม (22 ปอนด์) |
หมายเหตุ: ตารางนี้ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศในกลุ่ม TC3 และ ระหว่างกลุ่ม TC2, TC3
(TC2: ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง, TC3: ทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์)
"การบินไทย ประกาศเพิ่มน้ำหนักสัมภาระทุกที่นั่ง 10 กก. เมื่อเดือนกันยายน 2014"
สิทธิประโยชน์เพิ่มน้ำหนักสัมภาระจากรอยัลออร์คิดพลัส
สถานภาพในแต่ละระดับของบัตรสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัส จะมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันเมื่อเดินทางกับการบินไทย และสายการบินพันธมิตร สตาร์อัลไลแอนซ์ สำหรับสิทธิการเพิ่มพิกัดน้ำหนักกระเป๋ามีรายละเอียดดังนี้..
ประเภท | น้ำหนักสัมภาระที่ได้รับเพิ่ม |
บัตรแพลทินัม (Platinum) | 30 กิโลกรัม (66 ปอนด์) |
บัตรทอง (Gold) | 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์) |
บัตรเงิน (Silver) | 10 กิโลกรัม (22 ปอนด์) |
หมายเหตุ: สิทธิ์การเพิ่มพิกัดน้ำหนักสำหรับผู้ถือบัตรเงินอาจมีการยกเว้น กรณีในเส้นทางบินที่มีการพิจารณาน้ำหนักกระเป๋าเป็นจำนวนชิ้น และสิทธิประโยชน์นี้อาจไม่สามารถใช้ได้ในทุกเส้นทางบินของการบินไทย ส่วนผู้ถือบัตรทองและบัตรแพลทินัมจะได้รับสิทธิ์ในการเพิ่มกระเป๋า 1 ชิ้น ทดแทนการเพิ่มน้ำหนัก
สัมภาระส่วนเกิน (Excess baggage)
นอกเหนือไปจากขีดจำกัดของน้ำหนักสัมภาระที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามข้อมูลข้างต้นแล้ว หากมีสัมภาระส่วนที่เกินมาจะต้องมีการถูกชั่ง และเก็บค่าบริการก่อนที่ผู้โดยสารจะขึ้นเครื่อง ตามเกณฑ์ที่กำหนดของสายการบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบินในแต่ละโซน
เช่น จากประเทศไทย (โซน 1) ไปยัง ประเทศออสเตรเลีย SYD, BNE, MEL (โซน 4) คิดราคาที่กิโลกรัมละ 30 USD เป็นต้น พร้อมทั้งพิจารณาถึงประเภทของสัมภาระส่วนเกิน ว่าเข้าเงื่อนไขสัมภาระพิเศษ*หรือไม่ (รายละเอียด..)
ดังนั้นควรหากไม่มั่นใจเรื่องน้ำหนักสัมภาระของท่านว่าจะเกินหรือไม่ ควรชั่งก่อนเดินทาง ซึ่งถ้าเกินกว่าขีดจำกัดที่กำหนด สามารถซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มได้ (รายละเอียดท้ายบทความ)
สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry-on Baggage)
นอกจากสัมภาระที่ฝากใต้เครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้โดยสารของการบินไทยแต่ละท่าน ยังสามารถถือสัมภาระขึ้นเครื่องได้อีก 1 ชิ้น โดยมีข้อกำหนดดังนี้..
- ความยาวไม่เกิน 56 เซนติเมตร (22 นิ้ว)
- ความกว้างไม่เกิน 45 เซนติเมตร (18 นิ้ว)
- ความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว)
- น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม (15 ปอนด์)
ขนาดดังกล่าวนี้วัดระยะรวมทั้งล้อ มือจับ และกระเป๋าด้านข้างแล้ว ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องวางกระเป๋าสัมภาระดังกล่าวไว้บนตู้เก็บเหนือศีรษะ หรือ ใต้เบาะของตนเอง
และผู้โดยสารยังสามารถนำสิ่งของต่อไปนี้ขึ้นเครื่องได้อีก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่..
- กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าสุภาพสตรี (Handbag / Wallet / Purse) ที่วัดความยาวทุกด้านรวมกัน(กว้าง+ยาว+หนา) ไม่เกิน 75 เซนติเมตร (30 นิ้ว) และน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม (3.3 ปอนด์)
- คอมพิวเตอร์พกพา (Notebooks / Portable personal computers)
- ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน (Walking sticks)
- กล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกลขนาดเล็ก (Camera / Binoculars)
- อาหารเด็ก (Infant food)
โดยสัมภาระถือขึ้นเครื่องทั้งหมดนี้ ต้องปฎิบัติตามกฎข้อจำกัดปริมาณของเหลว เจล สเปรย์ ที่มีภาชนะความจุแต่ละชิ้นไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (วัดจากภาชนะ ไม่คำนึงของเหลวที่อยู่ข้างใน) และรวมกันไม่เกิน 1 ลิตร (1,000 มิลลิลิตร) พร้อมทั้งบรรจุลงในถุงพลาสติกใสซึ่งเปิด-ปิดผนึกได้ มีข้อยกเว้นสำหรับ นม อาหารสำหรับเด็กทารก และยาที่มีเอกสารกำกับ *รายละเอียดเพิ่มเติมดูที่เว็บไซต์ของการบินไทย
คำแนะนำจากผู้เขียน
ควรระมัดระวังเรื่องน้ำหนักสัมภาระเกิน แม้บางครั้งเจ้าหน้าที่อาจจะผ่อนผันให้บ้าง แต่ก็เป็นดุลยพินิจของทางเจ้าหน้าที่ โดยมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม หรือ ปฏิเสธในการรับสัมภาระ
อีกเรื่องคือ.. ถึงแม้ผู้โดยสารจะได้สิทธิน้ำหนักสัมภาระปริมาณมาก แต่น้ำหนักสูงสุดต่อกระเป๋า 1 ใบ ต้องไม่เกิน 32 กิโลกรัม ซึ่งเป็นข้อกำหนดสากลของสายการบินนานาชาติ อันเนื่องมาจากการปกป้องสวัสดิภาพของพนักงานที่ยกกระเป๋า
หมายเหตุ: บทความนี้ให้ข้อมูลเจาะจงเฉพาะเที่ยวบินเดินทางระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย(ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน)เป็นหลัก หากท่านเดินทางไปยังประเทศอื่น หรือ ใช้สายการบินเดินทางมากกว่าหนึ่งสายการบิน ควรตรวจสอบข้อมูลจากทางการบินไทยอีกครั้ง และบทความนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าและเผยแพร่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ในอนาคต ทั้งนี้ผู้อ่านควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง ,ขอบคุณครับ
พิเศษ.. การบินไทยเปิดให้บริการซื้อนำหนักกระเป๋าเพิ่ม
เมื่อกลางปี 2014 ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ของการบินไทยได้เปิดช่องทางใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อนำหนักสัมภาระเพิ่ม โดยต้องซื้อล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และสามารถซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อ 1 ท่าน (รายละเอียด..)
ข้อมูลอ้างอิงและรูปประกอบ:
thaiairways.com - "การบินไทย - ข้อมูลสัมภาระ"
thaiairways.com - "การบินไทย - รอยัล ออร์คิด พลัส"