วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

Booking.com

มือใหม่หาที่พักในออสเตรเลีย ว่าด้วยเรื่องของการ "เช่าบ้าน"

เผยแพร่เมื่อ 21 พฤษภาคม 2561 โดย พริกขี้หนู

เรื่องที่พักเป็นเรื่องหลักของการเริ่มต้นมาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ เรามีข้อแนะนำและความรู้พื้นฐานในการเช่าบ้านสำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเตรียมตัวจะมาออสเตรเลีย หรือที่กำลังคิดอยากจะออกไปหาทีพักอยู่เอง มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรทราบ..

 

สิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อกำลังมองหาที่พัก

  1. ระยะทาง หรือระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางระหว่างที่พัก กับที่เรียน ที่ทำงาน
  2. สามารถเดินทางด้วยอะไรได้บ้าง รถบัส รถไฟ มีที่จอดรถ จอดจักรยานมั้ย อยู่ใกล้ไกลป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟแค่ไหนอะไรบ้างที่เราจะต้องซื้อ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน โต๊ะทำงาน ข้าวของเครื่องใช้
  3. เราจำเป็นที่จะต้องมีประกันสำหรับของมีค่า ของใช้ติดตัวอย่างคอมพิวเตอร์ มือถือ อื่น ๆ ในกรณีที่เกิดการขโมยทรัพย์สินหรือเหตุอื่น ๆ ทำให้เสียหาย
  4. สิทธิ์ของผู้เช่า มีอะไรบ้าง
  5. พื้นที่ที่เราอยู่เป็นยังไงบ้าง เสียงดังมั้ย อยู่ใกล้สนามกีฬา หรือคอนเสิร์ต ผับ ปลอดภัยมั้ย
  6. ที่พักอยู่ใกล้อะไรบ้าง โรงพยาบาล ร้านค้า สถานีตำรวจ สวนสาธรณะ
  7. ที่พักมีระบบป้องกันความปลอดภัยอะไรบ้าง
  8. ของทุกอย่างในห้องทำงานได้ปกติมั้ย ไฟฟ้า น้ำไหล น้ำร้อน น้ำเย็น สวิตช์ไฟเปิดติด, ที่ตรวจจับควันไฟ,  แอร์

 

ศัพท์บางส่วนเกี่ยวกับเรื่องการเช่าบ้านที่อาจจะต้องเจอ

Property owner, Landlord: สองคำนี้มีควายคล้ายกันอยู่แต่แตกต่างกัน Landlord คือเจ้าของบ้านตัวจริง ส่วน Property owner อาจจะเป็นตัวแทนจากเจ้าของบ้าน เพื่อง่าย ๆ ให้คิดว่าคือเจ้าของบ้านก็พอ
Tenant: ผู้เช่า
Real estate agent, Agent(เอเจนท์): ตัวแทนดูแลอสังหาฯ
Rental agreement: สัญญาการเช่าบ้าน
Rental bond(เงิน bond): เงินประกัน เป็นเงินที่ผู้ให้เช่าเรียกเก็บตอนเริ่มทำสัญญาเช่าบ้าน กรณีเกิดค่าใช้จ่ายอันใดก่อนระยะการเช่าสิ้นสุดลง เจ้าของที่พักจะหักจากเงินตรงนี้ หากไม่โดนหักจะได้คืนตอนสิ้นสุดการเช่าบ้าน
Rent in advance, Advance payment(เงิน advance): เงินค่าเช่าล่วงหน้า เป็นเงินที่ผู้เช่าจะต้องจ่ายล่วงหน้าตามระยะเวลาที่เจ้าของบ้านเช่ากำหนด และเมื่อครบตามระยะเวลา ผู้เช่าถึงจะเริ่มจ่ายค่าเช่าอีกครั้ง 
Rental reference/records, Tenancy databases: ข้อมูลประวัติการเช่าบ้าน จะต้องเคยเช่าบ้านมาแล้วถึงจะมีข้อมูลตรงนี้ และสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารเพื่อยื่นกับผู้ให้เช่า
Bills included or excluded: ค่าเช่าห้องที่ 'รวม' หรือ 'ยังไม่ได้รวม' ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอินเตอร์เน็ต
Inspect: การดูห้อง มีทั้งแบบ open inspection เปิดให้ดูพร้อมกันหลายคน และ individual inspection แบบส่วนตัว
Master Room: ห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัว
Second Room: ห้องนอนที่ไม่มีห้องน้ำในตัว
Living Room: ห้องรับแขกซึ่งได้มีการกั้นขึ้นเพื่อทำเป็นห้องนอน
Own bedroom: ห้องนอนส่วนตัว
Shared bedroom: แชร์ห้องนอน หรือมีหลายเตียงในห้องเดียว

 

ที่พักประเภทต่าง ๆ

1. บ้านเช่าที่เราเช่าเอง หรือแบ่งห้องเช่ากับคนอื่น

ราคาประมาณ $175 - $400 ต่อสัปดาห์

20150617-room-sharing-house

ที่พักแบบนี้ส่วนใหญ่คนที่มาอยู่ออสเตรเลียได้สักพัก(สัก 2-3 เดือน เป็นต้นไป) จะเริ่มสนใจหาที่พักอย่างนี้ ด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ประหยัดที่สุดถ้าหากแชร์ร่วมกับคนอื่น โดยมีการแชร์ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เนท รวมถึงอาจจะแชร์ห้องน้ำ ห้องครัว หรือห้องนอน(แบบสองเตียงในห้องเดียว)ด้วย โดยยิ่งใกล้ตัวเมืองราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นตาม

ข้อดีอีกข้อก็คือ เราจะได้พบเพื่อนร่วมห้องที่หลากหลาย ชาวต่างชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ชิมอาหาร มีเพื่อนฝึกภาษา เป็นการสร้างเครือข่ายอีก แต่สำหรับใครที่ชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบความวุ่นวายก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะนักที่จะแชร์ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและการปาร์ตี้ มีหลาย ๆ กรณีให้เห็น เพื่อนกันพอย้ายมาอยู่ด้วยกันทะเลาะกันเลย แต่เคสที่อยู่ด้วยกันแล้วรักกันก็มี

บางทีเอากับข้าวที่เราซื้อมาไปกินบ้าง ใช้กระดาษทิชชู่ในห้องน้ำหมดไม่เอามาเติมให้บ้าง(ที่นี่ไม่มีที่ฉีดน้ำแบบเมืองไทยนะ ไม่มีกระดาษนี่จบเลย) ทำกับข้าว กินอาหาร ทิ้งจานชามไว้ในอ่างไม่ยอมล้าง ล่อแมลงสาปมาป้วนเปี้ยน คนจะใช้ครัวต่อก็ลำบาก ยืมของเราไปใช้แบบไม่บอกแล้วไม่เอามาคืนที่เดิม คนจะใช้ก็หาไม่เจอ ไม่ยอมเอาขยะไปทิ้ง ยัดจนยัดไม่ไหวแล้ว ไม่อาบน้ำ ไม่ซักผ้า กลิ่นหอมเชียว หรือเจอคนที่รักสะอาดมากแบบต้องเป๊ะห้ามมีร่องรอยความสกปรก ต้องทำความสะอาดทุก ๆ วัน และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ ก็ลองจินตนาการณ์กันดูก่อนตัดสินใจที่จะแชร์ห้องกับใครนะ

บ้านเช่าจะมีทั้งแบบ full furnished คือมีเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ ๆ ที่จำเป็นให้พร้อม เตียง ตู้เย็น โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น แต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป แต่ก็อาจจะมีของบางอย่างที่เราต้องซื้อเข้าอยู่ดีเช่น จาน ชาม หม้อ ครก ซึ่งบ้านแบบ full furnished ราคาก็จะแพงกว่าแบบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ใครที่วางแผนจะอยู่ยาวมากกว่า 6 เดือน – 1 ปี ก็อาจจะสนใจที่จะซื้อเฟอร์นิเจอร์เองมากกว่าที่จะต้องมาจ่ายส่วนต่างในระยะยาว

การเช่าบ้านเป็นหลังและนำห้องมาแบ่งให้คนอื่นเช่าอีกที ก็เป็นอีกวิธีที่คนนิยมทำกัน เนื่องจากผู้เซ็นสัญญาเช่าบ่านมาทั้งหลังสามารถเลือกคนมาแชร์บ้านร่วมกันได้ให้ถูกใจตนเอง และยังอาจจะทำให้ตนเองเช่าบ้านได้ถูกลงกว่าไปแชร์ห้องจากคนอื่นอีกด้วย แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ต้องดูแลจัดการความสะอาดเรียบร้อยภายในบ้าน พร้อมทั้งหาคนมาแทนที่ถ้าหากผู้เช่าร่วมจะย้ายออกจากบ้าน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่เช่ามาทั้งหลังเป็นคนรับผิดชอบและเซ็นต์สัญญาเช่าบ้านหลังนั้นมา หากเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบ

2. โฮมสเตย์

ราคาประมาณ $250 - $300 ต่อสัปดาห์

20180521-find-accom-shared

เป็นที่พักแบบที่นักเรียนส่วนใหญ่จะใช้บริการในช่วงแรกของการมาเยือนออสเตรเลีย หากเจอครอบครัวที่ดีชีวิตก็จะดีนะ และก็จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ดีแบบตัดไม่ขาด เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเค้าเลย ทั้งทำอาหารเตรียมไว้ให้ ขับรถไปรับส่ง ให้คำปรึกษา เห็นหลายคนมีความสุขกับโฮมสเตย์มากจนไม่เคยย้ายออกเลยก็มี แต่บางรายที่ไม่ต่างจากเราไปเช่าบ้านเขาอยู่ หรืออยู่แล้วรู้สึกไม่สบายใจก็มี เช่น มีเวลาต้องกลับบ้าน มีกฎในบ้านที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัด หรือมีคนอื่นอยู่ด้วยที่เรารู้สึกไม่โอเคก็มี ข้อดีของโฮมสเตย์ก็คือเรื่องภาษาและวัฒนธรรมนี่แหละที่เราจะได้เต็ม ๆ เป็นการปรับตัว ทัศนคติให้เข้าได้กับคนที่นี่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้เราได้ศึกษาพื้นที่ มีเวลาให้เราได้เลือกแอเรีย ในกรณีที่เราวางแผนที่จะย้ายออกไปอยู่เองในอนาคต

3. บ้านพักนักเรียน(Student Accommodation)

ราคาประมาณ $250 - $500 ต่อสัปดาห์

20180521-find-accom-unilodge
รูปประกอบ: UniLodge South Brisbane

มีให้เลือกตั้งแต่ 1 – 5 ห้องนอนใน 1 อพาร์ทเม้น เป็นที่พักแบบ full-furnished และมีการรักษาความปลอดภัยและซัพพอร์ตตลอด 24 ชั่วโมง ราคาที่จ่ายก็รวมค่าน้ำ ค่าไฟ อินเตอร์เนทเรียบร้อย ที่พักประเภทนี้จะตั้งอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และอยู่ในโซนเมือง เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางของนักเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างยิม สระว่ายน้ำ พื้นที่ให้นั่งอ่านหนังสือทำการบ้าน หรือรีแลกซ์ก็มี เรามีโอกาสทำความรู้จักเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ข้อเสียอาจจะเป็นเรื่องความเร็วของอินเตอร์เนทในช่วงเวลาที่ทุกคนใช้กัน(peak time) อาจจะช้า และเรื่องขนาดของห้องที่จะเล็กกว่าที่พักแบบอื่น

*ราคาเป็นการประเมิณราคาในบริสเบน เมืองใหญ่ ๆ อย่างซิดนีย์หรือเมลเบิร์นราคาจะสูงกว่า หรือแตกต่างกันไปแล้วแต่เขตที่อยู่อาศัย


สิ่งที่จะต้องทำก่อนจะลงมือทำการเช่าบ้าน

  1. ต้องเตรียมเงินให้พร้อมในส่วนของค่า bond ด้วย
  2. เตรียมหา rental reference หรือ guarantor ให้เรา
  3. เข้าไปสำรวจที่พักก่อนที่เราจะทำการเซ็น contract หรือจ่ายค่ามัดจำ เปิดตู้หรือลิ้นชักต่าง ๆ ดูข้างในด้วยว่าเป็นราหรือมีแมลงอะไรอาศัยอยู่รึเปล่า
  4. ถ่ายรูปส่วนที่ชำรุดเสียหายในบ้านไว้เป็นหลักฐาน
  5. อ่าน rental agreement ให้เข้าใจอย่างละเอียดก่อนจะเซ็นสัญญา
  6. เช็คว่าเราได้รับสำเนา rental agreement และได้รับใบเสร็จค่า bond กับค่าเช่าทุกครั้ง
  7. ทำความเข้าใจตรงกันกับผู้ให้เช่าว่าใครเป็นคนรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ(utilities) เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ อินเตอร์เนท โทรศัพท์ ฯลฯ
  8. ทำความเข้าใจและใส่ใจรายละเอียดของ rental agreement ว่าเราต้องทำอะไรบ้างในช่วงใกล้หมดสัญญา

 

จะต้องจ่ายค่า bond เท่าไร?

เราจะต้องจ่ายค่า bond ล่วงหน้า ซึ่งเราจะได้เงินส่วนนี้คืนเมื่อสัญญาเราหมดและไม่มีการเสียหายเกิดขึ้นกับที่พัก ตามกฎหมายแล้วเงิน bond จะไม่เกินค่าเช่า 4 สัปดาห์ หากเราจ่ายค่าเช่าต่ำกว่า $700 ต่อสัปดาห์ แต่หากใครจ่ายค่าเช่าเกิน $700 ต่อสัปดาห์ เงิน bond สามารถแพงกว่าค่าเช่า 4 สัปดาห์ได้ และการจะได้เงิน bond คืน เราจะต้องมีบัญชีกับธนาคารในออสเตรเลีย

เวลาที่หมดสัญญาและจะย้ายออก คนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำความสะอาดห้องเองเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาทำสะอาด และอยากได้ bond คืนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่โดยส่วนมากแล้วจะเหนื่อยเปล่า สุดท้ายหากเอเย่นมาตรวจแล้วไม่เรียบร้อยตามเกณฑ์ เค้าก็จะหักเงินค่า bond เราเพื่อไปจ้างคนมาทำความสะอาดอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เสียค่าทำความสะอาดเยอะ เราควรรักษาความสะอาดที่พักของเราอยู่เสมอ เพื่อป้องกันคราบสกปรกติดเหนียวแน่น โดยเฉพาะคราบน้ำมันติดตามผนัง เพดาน(ทอดปลาทีกระจาย) หรือที่ดูดกลิ่น คราบไหม้ตรงหัวเตาแก๊ส คราบสบู่ในห้องน้ำ เป็นต้น

อีกเรื่องที่ควรระวังก็คือ ผนังห้องและประตูประเทศนี้ไม่ได้แข็งแรงเหมือนที่เมืองไทย ต้องระวังเรื่องการทำผนังเป็นรอยเป็นพิเศษ วันไหนเก็บกดต่อยกำแพงอาจจะทะลุได้ เหมือนที่เห็นในหนังฝรั่ง เวลาขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องระวัง มันบอบบางจริง ๆ นะ

 

..สำหรับแหล่งหาบ้านเช่าในบริสเบน นอกเหนือจากในกระดานข่าวบนเว็บไซต์ของเราเองแล้ว ก็มีเว็บไซต์อย่างเช่น.. www.domain.com.au, www.realestate.com.au และ www.gumtree.com.au เป็นต้น

 

สำหรับใครที่ต้องการทราบข้อมูลสิทธิ์ของผู้เช่าในรัฐควีนส์แลนด์ หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ Residential Tenancies Authority(RTA) ได้ที่ rta.qld.gov.au หรือโทร 1300 366 311

Reference: International Student Guide, Insider Guides, Study Brisbane.

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 21 พ.ค. 2561
พริกขี้หนู

พริกขี้หนู