วันพุธ, 22 มกราคม 2568

Booking.com

เลือกเครือข่ายโทรศัพท์ในออสเตรเลียอย่างไร, การทำ contract, streaming, และตัวช่วยฝึกภาษาอังกฤษออนไลน์

เผยแพร่เมื่อ 02 ก.ค. 2018 โดย พริกขี้หนู
เลือกเครือข่ายโทรศัพท์ในออสเตรเลียอย่างไร, การทำ contract, streaming, และตัวช่วยฝึกภาษาอังกฤษออนไลน์ Cr. @Dragana_Gordic

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดกันถึงเรื่อง "10 สิ่งสำคัญที่ควรทำ เมื่อมาถึงบริสเบนและออสเตรเลียครั้งแรก" ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเจาะพูดถึงในหัวข้อ เครือข่ายโทรศัพท์ โดยเป็นสิ่งจำเป็นแรก ๆ รองลงมาจากการหาที่พักเลยก็ว่าได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารประจำตัว ในบทความนี้เราจะแนะนำทริคในการเลือกเครือข่ายหรือแพลนให้เหมาะกับการใช้งานของคุณ พร้อมทั้งตัวเลือก streaming และเครื่องมือการฝึกภาษาอังกฤษออนไลน์เพื่อช่วยในการสื่อสาร


ก่อนที่จะทำการตัดสินใจเลือกเครือข่าย ลองถามตัวเองก่อนว่า?

  • ที่พักของเรามีอินเตอร์เน็ตรึเปล่า?
  • เราต้องการโทรศัพท์เครื่องใหม่มั้ย?
  • เราจะใช้ดาต้ามากน้อยแค่ไหน?
  • เราจะโทรกลับบ้านวิธีไหน?

อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการสื่อสารในปัจจุบัน หากที่พักของเราไม่มี ADSL, NBN, Fiber-optic รองรับ และมีปัญหาเรื่องสัญญาณ hotspot บนมือถือไม่ค่อยดี ก็มีผู้ให้บริการอินเตอร์เนตไร้สายผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเช่นกัน เช่น อุปกรณ์ 4G modem (Mobile Broadband) เป็นต้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $15-20 ต่อเดือน โดยมีทั้งแบบ Prepaid และ Contract รายเดือน ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ตบนแล็ปท็อป หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่แบบไร้สาย (mobile devices) อื่น ๆ ได้

 

เราจะเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือในออสเตรเลียได้อย่างไร?

หากเรามีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดในการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ คือการซื้อแพ็คเกจแบบ Prepaid ซึ่งเราสามารถเติมเงินเพื่อเพิ่มดาต้า รับส่งข้อความ รับและโทรออกสายภายในและต่างประเทศได้ เพียงแค่ซื้อ SIM card และเลือกแพลนเติมเงินที่เหมาะกับการใช้งานของเรา ซึ่งสามารถเติมเงินเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีการทำหนังสือสัญญาผูกมัด หรือที่เรียกว่า Contract สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือหรือสะดวกซื้อทั่วไปเช่น 7-Eleven เป็นต้น

ถึงแม้แพ็คเกจแบบ Prepaid เราจะไม่ต้องทำหนังสือสัญญากับทางเครือข่าย แต่ตามกฎหมายของออสเตรเลียทุกเบอร์ต้องมีการลงทะเบียนก่อน แต่ไม่ได้ยุ่งยากเลยสามารถทำได้ที่ร้านมือถือหากซื้อที่ร้านโดยตรง แต่ถ้าซื้อตามร้านสะดวกซื้อก็สามารถลงทะเบียนเองได้ง่าย ๆ ทั้งโทรไปที่ศูนย์หรือจะลงทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เนตบนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการหากกังวลเรื่องการพูดคุยสื่อสาร สำหรับรายละเอียดนั้นดูได้ในเอกสารที่แนบมากับซิมที่ซื้อมา โดยใช้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงชื่อ-นามสกุล และหมายเลขพาสปอร์ตเท่านั้น

แต่หากต้องการจำนวนดาต้า รับส่งข้อความ รับและโทรออกสายภายในและต่างประเทศ ที่มาพร้อมกับแพลนปกติ (regular plan) การเลือกแพลนแบบ SIM Only และเลือกจ่ายรายเดือน พร้อมลงทะเบียนสำหรับแพลน 12 – 24 เดือน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งค่าใช้จ่ายความคุ้มค่าจะมากกว่าการซื้อแบบ Prepaid

 

อยากได้โทรศัพท์เครืองใหม่ ต้องทำยังไง?

หากคุณมีแผนที่จะอยู่ในออสเตรเลียเกิน 1 ปี และต้องการมือถือเครื่องใหม่ ทางเลือกที่ดีทีสุดคือลงทะเบียนสำหรับแพลน 12 – 24 เดือน ตัวเลือกนี้คุ้มค่าที่สุดและคุณสามารถเลือกมือถือในแบบที่คุณต้องการพร้อมกับแพลนการใช้งานที่เหมาะกับคุณ พร้อมเลือกยี่ห้อและรุ่นของมือถือที่ชอบ รวม ๆ แล้วคล้ายกับการซื้อเครื่องพร้อมแพ็กเกจที่ไทย โดยเอกสารที่ใช้ในการซื้อสามารถดูได้ในหัวข้อถัดไป..

1903-100-pt-check2

 

ต้องใช้อะไรบ้างในการทำ contract มือถือ?

  • เอกสารแสดงที่อยู่ในออสเตรเลียของคุณ (Proof of your Australian address)
  • เอกสารแสดงการลงทะเบียนเรียน (Proof of Enrolment) ส่วนใหญ่จะเป็นบัตรนักเรียน (Student card) หรือจดหมายจากโรงเรียนยืนยันการรับเข้าเป็นนักเรียน (Enrolment Letter)
  • เอกสารแสดงตัวตน (Proof of Identity) หนังสือเดินทาง (Passport) เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
  • เอกสารแสดงรายรับหรือเงินทุน (Proof of Income/Funds) ใบเสร็จการรับเงินค่าจ้าง (Payslip) หรือรายการเงินฝากถอนในบัญชีเงินฝาก (Bank Statement)
  • ก่อนจะทำ contract เราควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?
  • ระยะเวลาของ contract
  • Contract นี้รวมค่าโทรออกต่างประเทศด้วยมั้ย
  • ดาต้าต่อเดือนได้เท่าไร
  • มีค่าปรับเท่าไร หากเราต้องการออกจาก contract ก่อนระยะเวลาที่ contract จะหมด
  • ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเครือข่ายในต่างประเทศ
  • สัญญาณครอบคลุมอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างไร
  • มีการหักค่าบริการเพิ่มในการเลือกจ่ายเงินบางประเภทมั้ย เช่น หักเปอร์เซ็นต์เมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต

 

ตัวเลือกของผู้ให้บริการเครือข่าย

ในออสเตรเลียมีผู้ให้บริการเครือข่ายอยู่หลายบริษัท บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้จักและคนส่วนใหญ่เลือกใช้กันก็มี Optus, Vodafone และ Telstra ซึ่งจะมีหน้าร้านอยู่ตามช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ต่าง ๆ โดยเราสามารถเข้าไปเปรียบเทียบแพลนและราคาบนเว็บไซต์ หรือจะไปที่ร้านเพื่อขอคำแนะนำพร้อมกับเลือกดูมือถือรุ่นต่าง ๆ ได้ ในกรณีที่เราต้องการมือถือเครื่องใหม่ด้วย

20170125-mobile-plans

Telstra จะขึ้นชื่อในเรื่องของสัญญาณที่ดีแต่ราคาค่าบริการก็อาจจะสูงกว่าเจ้าอื่น
Optus เป็นระดับกลางในเรื่องของทั้งสัญญาณและราคา
Vodafone เด่นเรื่องแพลนที่ค่อนข้างดีสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะ และค่าบริการที่ดูจะคุ้มสุด

ส่วนเครือข่ายอื่น ๆ ที่มีอีกเยอะแยะมากมายในออสเตรเลียนั้นส่วนใหญ่จะเช่าสัญญาณจาก 3 เครือข่ายข้างต้นและให้บริการในนามบริษัทของตนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนบุคคล คุณภาพและการใช้งานจริง สามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่สัญญาณครอบคลุมของแต่ละบริษัท หรือเปรียบเทียบการให้บริการ ได้บนเว็บไซต์อย่าง https://www.whistleout.com.au

20180702-mobile-network-coverage-qld
Cr. whistleout.com.au

 

ตัวเลือกในการ streaming รายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์มีอะไรบ้าง?

1. Netflix – Netflix.com เริ่มที่ $11 ต่อเดือน

Netflix เริ่มให้บริการในออสเตรเลียเมื่อปี 2015 มีรายการทั้งในและนอกประเทศออสเตรเลีย คุณสามารถดูได้บน smart TV, เครื่องเกม (gaming consoles) , Apple TV, Chromecast, อุปกรณ์เคลื่อนที่แบบไร้สาย และบนคอมพิวเตอร์

2. Stan – stan.com.au เริ่มที่ $10 ต่อเดือน

เป็นบริษัทของออสเตรเลีย อาจจะไม่ค่อยมีรายการที่ผลิตเอง แต่มีรายการภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศให้เลือกเยอะ นอกจากนี้ยังมีรายการจากบริษัทอื่นให้ชมอย่างรายการของ Amazon สามารถดูได้บน smart TV, เครื่องเกม, Apple TV, Chromecast, อุปกรณ์เคลื่อนที่แบบไร้สาย และบนคอมพิวเตอร์

3. Foxtel Now – Foxtel.com.au/now เริ่มที่ $15 ต่อเดือน

ดูได้บน smart TV, เครื่องเกม, Chromecast และบนคอมพิวเตอร์ แอพนี้สามารถให้เราลงทะเบียน (sign up for subscription) Foxtel โดยไม่มีค่าติดตั้ง (installation) หรือ contract. Foxtel เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนชอบดูการถ่ายทอดกีฬาสด (live sport)

4. แอพฯสำหรับดูรายการทีวีย้อนหลัง – ABC iView, SBS OnDemand, Plus7, 9Now, TenPlay

สถานีโทรทัศน์ฟรีใหญ่ ๆ ในออสเตรเลียมีแอพให้คุณสามารถดูรายการได้แบบ on demand สามารถดาวน์โหลดและใช้แอพได้ฟรีแต่จะมีโฆษณาอยู่

20180702-streaming-companies
Cr. thx.com

 

ตัวช่วยในการฝึกภาษาอังกฤษออนไลน์

แน่นอนว่ามาอยู่ออสเตรเลีย การติดต่อสื่อสารหลัก ๆ และชมรายการต่าง ๆ ต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการทำความเข้าใจและสื่อสาร เว็บไซต์ข้างล่างนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มช่วยพัฒนาทักษะการฟังและพูดในช่วงเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในออสเตรเลียได้ดีเลยทีเดียว

  1. English Centralenglishcentral.com มีวีดีโอภาษาอังกฤษให้เลือกชมมากมาย
  2. BBC Learning Englishbbc.co.uk/learningenglish ดูวีดีโอแล้วทำแบบฝึกหัดเพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ
  3. Italki italki.com เลือกระหว่างเจ้าของภาษาและอาจารย์สอนภาษา (ราคาแพงกว่า) เพื่อที่จะสนทนากับคุณผ่าน video chat แบบตัวต่อตัว
  4. Busuubusuu.com แอพบนเว็บไซต์และมือถือ เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คสำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาใหม่ ๆ

 

ข้อมูลอ้างอิง: International Student Guide, Brisbane, 2018, Insider Guides.

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 02 ก.ค. 2018
พริกขี้หนู

พริกขี้หนู