วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

Booking.com

กว่าจะมาเป็น “วัฒนธรรมกาแฟ” ในออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 22 กันยายน 2563 โดย Yingg Is

australia coffee culture 01

 

      ครั้นย้อนไปในวันแรกในประเทศออสเตรเลีย สิ่งที่เรามองหาสิ่งแรกเลยก็คือ “กาแฟ” เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ (ติดกาแฟนั่นแหละ) และเมื่อเดินเข้าไปในเมืองเรื่อย ๆ ก็จะได้กลิ่นหอม ๆ ของกาแฟที่เตะจมูก และร้านกาแฟที่ตั้งทุกหัวมุมถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนช่วงเช้า จะพบเห็นผู้คนต่อคิวล้นออกมานอกร้านกาแฟเพื่อมาทาน Brekkie (หรือ Breakfast นั่นเอง) ต้อนรับลูกค้าด้วยรอยยิ้มจากบาริสต้า เคล้าเสียงหัวเราะและพูดคุยกันของลูกค้าในร้าน ช่างเป็นบรรยากาศที่แสนจะคึกคัก และเป็นกันเองในเวลาเดียวกัน

“บาริสต้า” หนึ่งในอาชีพยอดนิยมของ (นักเรียน) ชาวต่างชาติอย่างเรา เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความต้องการด้านแรงงานสูง อีกทั้งยังเป็นงานที่สอดคล้องไปกับความนิยมและพฤติกรรมชาวเมืองออสซี่ ที่มักใฝ่หากาแฟดี ๆ สักแก้วในทุกเช้า (หรือทั้งวัน) จะเห็นได้จากคอร์สการสอนวิชาการทำกาแฟมากมายหลายสถาบัน หรือจะเป็นการรีวิวร้านกาแฟสุดคูลในเมือง ตามเพจท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย

ทำไมนะ? “กาแฟ” ถึงได้เป็นวัฒนธรรมหลักในประเทศออสเตรเลียที่นักท่องเที่ยวต่างถวิลหา ประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่สามารถรังสรรค์รสชาติกาแฟได้อย่างมีเอกลักษณ์และหลากหลาย เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกัน

 

  เพราะชาวออสซี่ เริ่มต้นวันด้วยกาแฟ  

australia coffee culture 02

ที่มาภาพ : https://sydneylivingmuseums.com.au/convict-sydney/what-was-early-sydney-like-convicts

 

      หากเริ่มต้นตั้งแต่การมาถึงของกาแฟ คงต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคมในช่วง 1788 ที่มีการทดลองนำเมล็ดกาแฟที่นำเข้ามาจาก Rio de Janeiro มาทางท่าเรือ Sydney Cove เข้ามาปลูกในรัฐสภา แต่เนื่องจากสภาพพื้นดินและอากาศไม่เป็นใจ ดับฝันการผลิตเมล็ดกาแฟไป แต่ก็ได้มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟอย่างต่อเนื่อง จนช่วงยุคตื่นทอง ชาวยุโรปและอเมริกันต่างหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก และได้เกิดร้านคาเฟ่สไตล์ Parisian สุดหรูเพื่อการพบปะสังสรรค์กันในช่วงนั้น ซึ่งกาแฟก็เป็นหนึ่งในเมนูของร้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมสำหรับคนทั่วไป เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ราคาแพง ทำให้ผู้มีฐานะหรือชนชั้นสูงในยุคนั้น ที่มีโอกาสได้จิบกาแฟหอมอร่อยมากกว่า

 “เครื่อง Espresso” เครื่องมือที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักของการทำกาแฟเลยก็ว่าได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคนิคในการทำกาแฟเพิ่มมากขึ้น ทั้งแบบ Cold Brew, Drip, Aero Press ฯลฯ แต่กาแฟสไตล์ Espresso ยังคงเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุดวิธีหนึ่งในจักรวาลคนรักกาแฟ

จะขอเล่าที่มาสั้น ๆ ซะหน่อย ย้อนกลับไปช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่การดื่มกาแฟได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นชาติแรก ๆ ของโลก ได้มีการคิดค้นเครื่องทำกาแฟ Espresso เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1902 เปิดตัวในงาน Milan Fair ซึ่งเป็นอีเวนท์ใหญ่ระดับโลก โดยนักประดิษฐ์ทั้งสอง Luigi Bezzera และ Desiderio Pavoni ต่อมาครื่อง Espresso ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโดย Achille Gaggia จนกลายมาเป็นหน้าตาเหมือนกับทุกวันนี้ ซึ่งทำให้รสชาติและกลิ่นของกาแฟชัดเจนและหอมยิ่งขึ้น

 

australia coffee culture 03

หน้าตาของเครื่องทำกาแฟดีไซน์ Achille Gaggia 

ที่มาภาพ : https://www.abc.net.au/news/2019-12-28/best-australian-coffee-big-overseas/11747342

 

      แท้จริงแล้ววัฒนธรรมกาดื่มกาแฟของชาวอิตาลี ค่อนข้างสอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ชาวออสซี่ในยุคนั้นอยู่แล้ว ตรงที่ผู้คนที่ใช้ชีวิตสบาย ๆ Slow Life รักครอบครัวเพื่อนฝูง ชื่นชอบการพบปะพูดคุย บวกกับบรรยากาศเมืองที่สดใส ไม่เคร่งเครียดและหนาแน่น เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลก เหมือนกับจังหวะเวลาลงตัว ทำให้วัฒนธรรมสภากาแฟ ถูกแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวออสซี่มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่บริโภคกาแฟเป็นจำนวนมากจวบถึงทุกวันนี้

 

  จากการคั่วเมล็ด สู่การสร้างพื้นที่พบปะทางสังคม  

australia coffee culture 04 02

 ที่มาภาพ : https://www.delicious.com.au/eat-out/restaurants/gallery/melbournes-top-10-italian-restaurants/nrdvun9r?page=7

 

australia coffee culture 04 01

ที่มาภาพ : https://www.visitmelbourne.com 

 

      เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไป ผู้ลี้ภัยทั้งชาวอิตาลีและกรีกที่ต่างอพยพกันเข้ามาตามเมืองใหญ่อย่าง Sydney และ Melbourne ได้ค่อย ๆ ตั้งรกรากอย่างถาวร ซึ่งพวกเขาได้นำพาวิถีชีวิตดั้งเดิม พร้อมกับเครื่อง Espresso เข้ามาเผยแพร่อีกด้วย หากพูดถึงร้านที่เสิร์ฟกาแฟร้านแรกในออสเตรเลีย คงจะเป็นที่ถกเถียงกันเยอะ แต่ถ้าพูดถึงร้านแรกที่นำเครื่อง Espresso มาผลิตเครื่องดื่มกาแฟอย่างเป็นทางการ ร้านนั้นคือ "Café Florentino” ร้านอาหารอิตาลีสุดหรูเปิดขึ้นเมื่อปี 1928 โดยครอบครัวชาวอิตาเลี่ยน ตั้งอยู่ในเมือง Melbourne ซึ่งเครื่อง Espresso สมัยนั้น เป็นที่พูดถึงในเมืองพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นนวัตกรรมใหม่แล้ว ขนาดของมันเองก็ค่อนข้างใหญ่พอสมควร เหมือนเอาเครื่องจักรดี ๆ มาตั้งไว้ในร้านเครื่องนึงก็ว่าได้ เมื่อเทรนด์กำลังมา ความต้องการก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ย้ายขึ้นไปที่รัฐ New South Wales ในช่วงปี 1948 เครื่อง Espresso ทุกใช้งานต่อมาที่ร้าน "Patricia’s" เป็น Milk Bar ในเมือง Sydney ก่อตั้งโดยครอบครัวชาวกรีก

 

australia coffee culture 05

หน้าตาของเครื่อง Esspresso ที่ใช้งานที่ร้าน Cafe Florentino

ที่มาภาพ : https://australianfoodtimeline.com.au/wp-content/uploads/1940/09/Pavoni-Espresso-Machine.jpg

 

      บทบาทของร้านกาแฟในปัจจุบัน นอกจากจะเสิร์ฟกาแฟหอม ๆ แล้ว ภายในร้านเปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการพบปะพูดคุยระหว่างเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเมือง Melbourne ที่ผู้คนต่างเอนจอยไปกับการดื่ม สังสรรค์ ไม่ว่าจะกลางวัน หรือกลางคืน จะเห็นได้ว่า ช่วงเช้าจนถึงสาย ๆ โดยเฉพาะวันอาทิตย์ จะพบเห็นความคึกคักของชาวเมลเบิร์นที่ตื่นสาย ๆ ออกมาทาน Brunch หรือมื้อคาบเกี่ยวระหว่างเช้า-กลางวันกันอย่างหนาแน่น แทบจะทุกร้านเลยทีเดียว

  

  เอกลักษณ์และความแข็งแรงทางวัฒนธรรมกาแฟ  

australia coffee culture 06

 

      อีกหนึ่งปรากฏการณ์ธุรกิจด้านกาแฟที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย นั่นคือแบรนด์ "Starbucks" แบรนด์กาแฟสัญชาติอเมริกันที่มีสาขากระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลก ประสบความสำเร็จมากในกลายประเทศ แต่กลับตรงกันข้ามในออสเตรเลีย แม้ว่าที่นี่จะมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแข็งแรงมากกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ แต่ทำไมผู้คนถึงไม่ยอมเดินเข้า Starbucks เหมือนกับร้านกาแฟท้องถิ่น? จะเห็นได้จากตัวเลขสาขาที่ลดลงตั้งแต่ปี 2000 ที่ Starbucks เปิดสาขาแรกในประเทศ และ 8 ปีต่อมา สาขาต่าง ๆ ได้ปิดตัวลงถึง 2 ใน 3 แห่งเลยทีเดียว

 

australia coffee culture 07

 

      หนึ่งในเหตุผลหลักเลย นั่นคือ Starbucks ไม่ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตชาวออสซี่ แบรนด์ Starbucks โดดเด่นในเรื่องของการวางมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งขัดแย้งกับวัฒนธรรมการทานกาแฟของที่นี่ ที่แต่ละร้านจะมีความ Unique เฉพาะ หรือถ้าจะยกตัวอย่างเช่น การเสิร์ฟเมนู Latte แต่ชาวออสซี่จะคุ้นเคยกับ Flat White มากกว่า, การที่รสชาติกาแฟที่ติดหวานจนเกินไป หรือแม้แต่เมนูอาหารที่เสิร์ฟในร้าน ชาวออสซี่โดยทั่วไปค่อนข้างรักสุขภาพ มีไลฟ์สไตล์ที่มักจะหามื้อเช้าดี ๆ ทาน หลังจากออกกำลังกายในยามเช้า แต่เมนูใน Starbucks กลับมีแต่ของหวานทำลายสุขภาพ อาทิ Muffin หรือ Cinnamon Scone ซึ่งกลับกันกับร้านกาแฟท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเสิร์ฟเมนู Avocado Toast, Quinoa Bowls ที่มีแต่วัตถุดิบรักสุขภาพ เป็นต้น
จากกรณีศึกษานี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า การทำธุรกิจในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งค่อนข้างแข็งแรง ต้องปรับตัวเข้ากับพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แล้วอะไรบ้างล่ะ ที่เป็นสิ่งที่เป็น “เอกลักษณ์เฉพาะ” ของร้านกาแฟสไตล์ออสซี่? (นอกจากหน้าตาและคาแรคเตอร์เฉพาะของบาริสต้า :-P )

 

australia coffee culture 08

 

      หนึ่งในนั้น ก็คือ เมนูกาแฟ จะเห็นได้ว่าเวลาเข้าร้านกาแฟในออสเตรเลีย จะเห็นชื่อเมนูที่ไม่เหมือนที่บ้านเรา เช่น “Flat White” ที่แปลตรงตัวว่า สิ่งที่มันขาวและบาง นั่นคือ ช็อตกาแฟ Espresso ที่ใส่นมที่สตรีมแล้วเล็กน้อย คล้ายกับ Latte นั่นเอง แต่ต่างกันตรงที่ลักษณะของนมที่ละเอียด และนุ่มกว่า เมื่อเทียบกับ Latte ทั่วไป แท้จริงแล้วเมนูนี้ เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง ณ เมือง Sydney ร้านกาแฟร้านหนึ่งได้ครีเอตเมนูนี้ขึ้นมาในปี 1984 จนเกิดเป็นความแปลกใหม่และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนทุกร้านในออสเตรเลียต้องบรรจุเมนูนี้เข้าไปในร้าน

 

australia coffee culture 09

ที่มาภาพ : https://www.pinterest.co.uk/pin/294915475577640662/?nic_v2=1aPD4mWOs 

 

      อีกหนึ่งเมนูที่คนไม่ชอบดื่มนมแบบเรามักจะสั่งอยู่บ่อย นั่นคือ “Long Black” อะไรทั้งยาวทั้งดำ? อย่าคิดไปอื่นไกล มันก็คือกาแฟดำนั่นเอง ที่มีความคล้ายคลึงกับ Americano นั่นแหละ แต่ต่างกันเล็กน้อยตรงที่มีความเข้มข้นของกลิ่นและความเข้มมากกว่าเท่านั่นเอง

 

  กลิ่นหอมจากอดีตที่ยาวนาน สู่ปัจจุบันอันหอมกรุ่น  

australia coffee culture 10

ที่มาภาพ : https://www.foodnavigator-asia.com/Article/2015/03/26/Sydney-overtaking-Melbourne-as-Australia-s-coffee-king-capital

 

      ในปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟในออสเตรเลีย ยังคงได้รับความนิยมสูงมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากร้านกาแฟที่เกิดขึ้นอยู่ในแทบทุกที่ในเมืองโดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ และที่บริสเบนเองก็มีร้านกาแฟใหม่ ๆ เปิดขึ้นอยู่รอบเมือง แม้ว่าที่นี่จะไม่ได้เป็นเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่ไลฟ์สไตล์ และวิถีความ Slow Life ถูกฝังลึกเข้าไปใน DNA ของชาวออสซี่แทบจะทุกคน ถ้ามีโอกาสจะมาแนะนำร้านกาแฟรอบตัวเมืองบริสเบนกัน ว่ามีที่ไหนที่สนใจกันบ้าง

 

australia coffee culture 11 01

ที่มาภาพ : https://shingleinncityhall.com

 

australia coffee culture 11 02

ที่มาภาพ : https://theweekendedition.com.au/events/mothers-day-high-tea-at-the-oldest-most-loved-cafe-in-brisbane/

 

      หันกลับมามองบ้านเราเอง ถ้าพูดถึงร้านกาแฟร้านเก่าแก่ในบริสเบน หนึ่งในนั้นคือ “Shingle Inn” ร้านกาแฟสาขาแรก ตั้งอยู่ภายใน City Hall ใจกลางเมือง เมื่อก้าวเข้าไปภายในร้าน ก็จะพบกับการตกแต่งด้วยไม้เก่าสุดวินเทจที่ปรับปรุงไว้สภาพเดิม เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 1936 ยังไงอย่างนั้น นอกจากจะมีกาแฟให้เราได้ทานยามบ่ายแก้ง่วงแล้ว เมนูที่มักจะทานคู่กัน นั่นคือชุดของว่างที่ประกอบไปด้วยแซนวิช, เค้ก และเบอเกอรี่ ที่เสิร์ฟทั้งแบบจานเดี่ยว และจานทรงสูงสุดหรูหราคลาสสิค เข้ากับบรรยากาศ และเมื่อฟ้ามืดทางร้านก็ยังมีเมนูสำหรับ Dining ด้วยเช่นกัน จะมากลางวันหรือกลางคืนก็ให้บรรยากาศที่แตกต่างกัน เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 อาจทำให้ร้านเก่าแก่แห่งนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้ เชื่อว่าสักวันที่ร้านกลับมา พวกเราชาวบริสเบนก็พร้อมให้เราเข้าไปอุดหนุนธุรกิจกันอย่างแน่นอน

 

australia coffee culture 12

ที่มาภาพ : https://australia247.info/explore/queensland/brisbane_city/eagle_farm/merlo_coffee_eagle_farm.html 

 

      อีกหนึ่งธุรกิจที่เรียกได้ว่าเป็นกลไกหลักของธุรกิจกาแฟในออสเตรเลียเลย นั่นคือโรงคั่วเมล็ดกาแฟ ซึ่งแบรนด์ที่จะมาเล่านี่เริ่มต้นจาก Queensland นี่เอง นั่นคือ “Merlo” ถ้าเพื่อน ๆ ได้เห็นโลโก้สีฟ้าของเค้า คงต้องร้องอ๋อแน่นอน เพราะร้านกาแฟในบริสเบนหลายร้าน นำเข้าเมล็ดกาแฟจากแบรนด์นี้มาเสิร์ฟให้เราดื่มนั่นเอง Merlo ก่อตั้งเมื่อปี 1992 โรงงานหลักตั้งอยู่ที่  Eagle Farm ปัจจุบันนอกจากเปิดร้านกาแฟเอง และจำหน่ายเมล็ดกาแฟตามร้านต่าง ๆ ในประเทศแล้ว ยังจำหน่ายเมล็ดกาแฟหลากหลายรูปแบบ ผ่านทางออนไลน์ เพื่อสะดวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองสั่งเมล็ดกาแฟมาลองทำ สามารถสั่งออนไลน์ได้ที่ www.merlo.com.au หรือวันไหนได้ออกไปข้างนอก ลองเดินผ่านร้านกาแฟสัก 3-4 ร้าน ก็จะเห็นป้าย Merlo ถูกตั้งหรือแขวนติดอยู่หน้าร้านก็เข้าไปอุดหนุนได้

 

australia coffee culture 13

ที่มาภาพ : http://www.culturedcreatures.co/take-a-brekkie-coffee-club

 

      ด้วยความแข็งแกร่งของธุรกิจกาแฟในออสเตรเลีย ทำให้แบรนด์กาแฟหลายเจ้า ตัดสินใจขยายสาขาไปยังต่างประเทศ โดยคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ออสเตรเลีย แบรนด์ที่เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันบ้างอย่าง ​The Coffee Club และ Gloria Jean's Coffees สองแบรนด์ยักษ์จากออสเตรเลียที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย หรือแบรนด์อื่น ๆ เช่น Jamaica Blue หรือจะ McCafé... อ่านไม่ผิดหรอก ร้านกาแฟที่อยู่ในร้านฟาสต์ฟู๊ดอย่าง McDonald’s ที่มีมุมกาแฟภายในร้านนั่นแหละ เริ่มต้นสาขาแรกที่ Melbourne ก่อนที่จะขยายภายใน McDonald’s อีกพันกว่าสาขาทั่วโลก หากใครคิดถึงเมนู Flat White หรือ Long Black ก็สามารถสั่งได้ที่ร้านเหล่านี้เช่นกัน

แม้การเข้ามาของกาแฟนั้น ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการผลิตภายในประเทศ แต่เกิดจากการนำมาของผู้คนนอก การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายวัฒนธรรมนี่เอง นำมาซึ่งความน่าสนใจและความรุ่งเรืองทางด้านวิถีชีวิต จากจนทุกวันนี้ได้กลายเป็นวิถีหลักของชาวออสซี่จนถอนตัวไม่ขึ้น ว่าแต่...ร้านกาแฟในดวงใจของเพื่อน ๆ ในตอนนี้ คือร้านอะไรล่ะ ? มาเล่าให้พวกเราฟังด้วยนะ

 

แหล่งที่มา :

https://australianfoodtimeline.com.au/espresso-machine/

https://www.corporatecoffee.com.au/blog/a-brief-history-of-australian-coffee/

https://dictionaryofsydney.org/entry/coffee

https://www.vogue.com/article/australian-coffee-cafe-take-over

https://www.abc.net.au/news/2019-12-28/best-australian-coffee-big-overseas/11747342

https://en.wikipedia.org/wiki/Flat_white

https://en.wikipedia.org/wiki/Long_black

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_coffeehouse_chains

https://en.wikipedia.org/wiki/Shingle_Inn

https://www.merlo.com.au/

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 24 ก.ย. 2563
Yingg Is

Yingg Is

ไปได้ทุกที่ ยกเว้นบ้าน