วันพุธ, 09 ตุลาคม 2567

Booking.com

รวม 5 นวัตกรรมเปลี่ยนโลก ที่ถือกำเนิดขึ้นในออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 30 กันยายน 2567 โดย Yingg Is

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างสรรต์นวัตกรรมใหม่ ๆ  ตั้งแต่บูมเมอแรงเพื่อใช้ล่าสัตว์ในยุคโบราณ จนถึงเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีบนมือถือ ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน

เราอยู่ในยุคสมัยที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวออสเตรเลีย ต่างสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยทักษะและมันสมอง หรือพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในออสเตรเลียก็ตาม เพื่อทำให้ชีวิตผู้คนดียิ่งขึ้น มาดูกันว่ามีอะไร ที่ผู้คนใช้งานกันอยู่ทุกวัน แถมมีจุดกำเนิดจากประเทศออสเตรเลียโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

 

  WiFi หรือ WLAN  

 

australian innovations history 01

ที่มาภาพ : freepik.com

 

      เครือข่ายไร้สายที่ได้รับความนิยมสูง  เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารระหว่างกันในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง จากอดีตที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เชื่อมต่อเข้ากับสายไฟที่มีชื่อว่า LAN มาคู่กับเสียงที่เด็ก 90’s ต่างคุ้นเคย การเปลี่ยนผ่านจากสายระโยงระยาง ให้กลายเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สายไร้ความวุ่นวาย ต้องขอบคุณการประดิษฐ์ของชาวออสเตรเลียในปี 1992 จากนักประดิษฐ์ที่หน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย ที่มีชื่อย่อว่า CSIRO ชื่อเต็ม ๆ ว่า The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์วิทยุ เพื่อไขปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในขณะนั้น การค้นพบนี้ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเราจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นเรื่องราวความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของออสเตรเลีย ปัจจุบัน WiFi ได้ถูกใช้งานในผลิตภัณฑ์แทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ยันคอนโซลเกม อีกทั้งยังได้แพร่หลายในหลายแห่ง ตั้งแต่ในสำนักงาน บ้าน จนถึงร้านกาแฟ

 

 

  สว่านไฟฟ้า  

  

australian innovations history 02

ที่มาภาพ : freepik.com

 

 

      เครื่องมือไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ทั้งในโรงงานและในครัวเรือน โดยเฉพาะครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับสว่านและใบมีด ซึ่งพัฒนาการใช้งานให้มีความเร็วสูงและทนทานต่อวัสดุที่แข็งขึ้นเรื่อย ๆ  อีกทั้งยังต้องมีความสะดวกสบายในการใช้งาน ทำให้เครื่องมือไร้สายได้รับความนิยมแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม

สว่านไฟฟ้า (Electric drill) คือหนึ่งอุปกรณ์การช่างที่อยู่คู่บ้านของทุกคนเลยก็ว่าได้ รู้หรือไม้ว่าสว่านไฟฟ้าที่ใช้ในการเจาะพื้นผิวต่าง ๆ นั้น มีต้นกำเนิดจากชาวออสเตรเลียสองคนที่มีชื่อว่า Arthur James Arnot และ William Brain ในปี 1889 ที่เมืองเมลเบิร์น เดิมทีสิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเจาะหินและขุดถ่านหิน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเวลาต่อมา ทำให้วิศวกรไฟฟ้าชาวออสเตรเลียทั้งสองคน จึงตัดสินใจจดสิทธิบัตรสว่านไฟฟ้าตัวแรกของโลก ทำให้วิศวกรในต่างประเทศต่าง ต่างให้สนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ สว่านแบบพกพานี้ได้รับการพัฒนาต่อมาในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษปี 1920 ที่โรงงาน Black & Decker ซึ่งที่นั่นได้ออกแบบด้ามจับใหม่ ช่วยทำให้ใช้งานได้สะดวกและสบายมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ส่วนชีวิตต่อมาของ Arthur James Arnot ก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ  ด้วยความมุ่งมั่นและความขยันขันแข็งของเขา จึงได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบไฟถนนและสายไฟฟ้าในเมลเบิร์น และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเมือง แต่ได้สละตำแหน่งนี้ในปี 1901 เพื่อดูแลบริษัท Babcock & Wilcox Ltd บริษัทด้านนวัตกรรมทางพลังงาน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจนถึงทุกวันนี้

 

 

  กล่องดำ  

 

australian innovations history 03

ที่มาภาพ : wikimedia.org

 

 

      ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่อันตรายที่สุด นั่นคือการเดินทางโดยเครื่องบิน ระหว่างที่อยู่บนฟากฟ้า ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เว้นเสียแต่ผู้โดยสารบนเครื่องและพนักงานบนเครื่องบิน กัปตันผู้บังคับการบินเอง คือผู้ที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า “กล่องดำ” หรือ The Black-Box Flight Recorder หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญในด้านความปลอดภัยการบิน เป็นกล่องอยู่ในห้องควบคุมการบิน ที่นักบินจะใช้เพื่อการบันทึกข้อมูลการบินที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุอันตราย บันทึกตั้งแต่ความเร็ว, ความสูง, ทิศทาง รวมถึงเสียงบันทึกในห้องนักบิน กล่องดำจะถูกใช้งานเมื่อเกิดเหตุการณ์อันตรายที่ไม่คาดคิด ตั้งแต่การโจรกรรมบนฟ้า หรือที่เรียกกันว่า Highjack จนถึงเหตุการณ์ทางธรรมชาติอย่างหารตกหลุมอากาศรวมถึงพายุ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ที่แม้ว่าจะร่อนลงอย่างปลอดภัยก็ตาม กล่องดำจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนต่อไป 

 

australian innovations history 04

David Warren

ที่มาภาพ : nma.gov.au

 

สิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญนี้ เกิดขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่มีชื่อว่า  David Warren ในขณะนั้นเขาทำงานให้กับหน่วยการวิจัยการบิน ARL หรือ Aeronautical Research Laboratory ในเมลเบิร์นช่วงกลางทศวรรษ 1950 ในตอนนั้นเขาได้มีส่วนร่วมในการสืบสวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินพาณิชย์ที่ชื่อว่า Comet เดวิดเกิดความคิดว่า ถ้ามีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเครื่องบิน ก่อนที่จะเกิดเหตุนั้น น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เดวิดนึกถึงเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กเครื่องแรกของโลก ที่เขาเพิ่งเห็นในงานแสดงสินค้า เขาเห็นภาพเครื่องบันทึกเสียงดังกล่าวที่ติดตั้งไว้ในเครื่องบินทุกลำ ที่บันทึกรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง และสามารถกู้คืนได้หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินตก กล่องดำเครื่องแรกสามารถบันทึกคำพูดก่อนเกิดเหตุได้นานถึง 4 ชั่วโมง รวมถึงสามารถการอ่านค่าเครื่องมือวัดในการบินด้วย กล่องดำได้ถูกใช้งานจริงหลังจากเครื่องบิน Fokker Friendship ตกที่เมือง Mackay รัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 1960 หลังจากเหตุการณ์นั้นเอง ศาลออสเตรเลียจึงบรรลุข้อบังคับให้มีกล่องดำในห้องนักบินทุกลำ โดยออสเตรเลียเป็นประเทศแรกของโลกที่มีข้อบังคับนี้ สิ่งประดิษฐ์นี้ได้ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ  จนปัจจุบันกล่องดำทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมหรือไทเทเนียม ห่อหุ้มด้วยฉนวนความร้อน ทนต่ออุณหภูมิได้สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส และทนต่อแรงกระแทกได้มากถึง 3,400 g ด้วยความทนทานแบบนี้ ทำให้กล่องดำมักจะไม่เสียหายหลังเหตุการณ์เครื่องบินตก ทุกวันนี้กล่องดำจะไม่ได้มีสีดำแต่เป็นสีส้ม ซึ่งเป็นสีที่มองเห็นได้เด่นชัดและเป็นสีที่ธรรมชาติไม่สามารถสังเคราะห์ได้ ยกเว้นผลส้ม

 

 

  Spray-on Skin สเปรย์สมานแผลไฟไหม้  

 

australian innovations history 05

ที่มาภาพ : freepik.com

 

      เวลาที่มือเราถูกน้ำร้อนลวกแม้เพียงเล็กน้อย เราต้องทนปวดแสบปวดร้อนจากแผลนานขนาดเป็นวันหรือหลายวัน หากนึกเหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้น โดยเฉพาะแผลไฟไหม้พุพองจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ แม้ว่าร่างกายภายในจะปลอดภัย แต่ผู้บาดเจ็บต้องทรมานกับความเจ็บปวดบนผิวหนังเป็นเวลานาน ด้วยปัญหานี้ทำให้ Marie Stoner และศัลยแพทย์ตกแต่งอย่าง Fiona Wood จากเพิร์ธ ได้พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อย่างสเปรย์ที่ช่วยสมานแผลไฟไหม้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเทคนิคของพวกเธอ ได้ผลเร็วกว่าเทคนิคการเพาะเลี้ยงผิวหนังแบบเดิม ที่ต้องใช้เวลา 21 วันในการปลูกเซลล์ให้เพียงพอกับบริเวณที่ถูกไฟไหม้จำนวนมาก แต่สเปรย์ตัวนี้สามารถลดระยะเวลาดังกล่าวลงเหลือเพียง 5 วันเท่านั้น

 

australian innovations history 06

Fiona Wood

ที่มาภาพ : thewest.com.au

 

เทคนิคของเธอถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการซ่อมแซมผิวหนังทางคลินิก ช่วยลดรอยแผลเป็นในผู้ป่วยไฟไหม้จำนวนมากและเร่งอัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วย ผลงานครั้งนี้ได้ถูกใช้งานจริงกับเหตุระเบิดที่บาหลีในปี 2002 ที่มีชื่อว่า Bali Bombing ซึ่งมีผู้ประสบภัยและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการไฟไหม้บนผิวหนัง วูดเป็นหัวหน้าทีมที่ได้รับเครดิตในการช่วยชีวิตผู้ป่วย 28 ราย โดยบางรายได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย ต่อมาในเดือนมีนาคม 2007 ยังดูแลเหยื่อหลายรายจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่สนามบิน Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย คุณูประการของเธอ ทำให้มีผู้คนหลายร้อยชีวิต รอดพ้นจากอันตรายและความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด

 

 

  Google Maps  

  

australian innovations history 07

ที่มาภาพ : freepik.com

 

 

      ปิดท้ายด้วยแอพพลิเคชั่นที่จำเป็นสำหรับใครหลายคน ใช้ในการระบุเส้นทางในการเดินทาง, คำนวณเส้นทางและเวลา แอพพลิเคชั่นนำทางนี้ถือกำเนิดขึ้นในยุค 2000s ช่วงที่อินเตอร์เน็ทกำลังเฟื่องฟู โดยสองหนุ่มชาวออสซี่ Noel Gordon และ Stephen Ma ร่วมมือกับพี่น้องชาวเดนมาร์ก Lars และ Jens Rasmussen พัฒนาแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีแผนที่ ในรูปแบบบริษัท Start-up ในกรุงซิดนีย์ที่ชื่อว่า “Where 2 Technologies” และบริษัทของทั้งสี่หนุ่ม ก็ได้ถูกซื้อโดย Google ในเวลาต่อมา

ก่อนจะเป็น Google Maps ในทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นไอเดียนี้เกิดขึ้นจากความต้องการที่อยากให้แผนที่ใช้งานง่าย รวดเร็วและเข้าถึงทุกคน ในช่วงนั้นเองก็มีเจ้าตลาดอย่าง “MapQuest” จากสหรัฐฯ แต่ก็พบช่องโหว่ในการใช้งาน เช่น ความล้าช้าในการโหลดข้อมูล ทำให้เหล่าวิศวกรทั้งสี่ พัฒนาผลงานจนกลายมาเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ในเวอร์ชั่นแรก ที่มีชื่อว่า “Expedition” แต่ก็ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจซักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับ Larry Page ผู่ก่อตั้ง Google และผู้ที่กำลังจะเข้าซื้อบริษัท เพราะในยุคสมัยนั้น ผู้คนต่างตื่นตัวกับกระแส WWW (World Wide Web) มากกว่าการโหลดโปรแกรมติดตั้งแบบดั้งเดิม จากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 Google Maps ได้เปิดตัวในรูปแบบของการใช้งานบนเดสก์ท็อปอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยระบุเส้นทางจากจุด A ไป B ได้อย่างแม่นยำ ต่อมาได้เปิดตัว Google Earth ที่ทำให้เรามองเห็นโลกใบนี้ได้กว้างมากขึ้นในรูปแบบ 3D

Google Maps ได้เข้ามาปฎิวัติเทคโนโลยีการใช้งานเแผนที่อย่างสิ้นเชิง ทำให้ที่ผู้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและเข้าถึงได้ทุกคน มีการเพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การดูเส้นทางรถสาธารณะ, Street View ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้เดินทางเห็นเส้นทางจริง, ช่วยเหลือธุรกิจร้านค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณสี่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพแผนที่จากซิดนีย์ ที่ทำให้นวัตกรรมนี้อยู่บนมือของเราได้ทุกที่ทุกเวลา

 

 

ยังมีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากออสเตรเลียมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อโลกและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของออสเตรเลีย ที่มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากมาย

 

 

ขอบคุณข้อมูล

researchmaster.com.au

www.australiangeographic.com.au

www.csiro.au

www.tme.com

https://www.vitaman.com

www.dst.defence.gov.au

www.thaipbs.or.th

en.wikipedia.org/wiki/Spray-on_skin

medium.com

blog.google/products/maps

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 30 ก.ย. 2567
Yingg Is

Yingg Is

ไปได้ทุกที่ ยกเว้นบ้าน