วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

Booking.com

สัมภาษณ์คุณเต่า ชวฤทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปการบินไทยรัฐควีนส์แลนด์

เผยแพร่เมื่อ 20 เม.ย. 2017 โดย MaBrisbane

วันนี้เราได้รับเกียรติจากผู้จัดการบริษัทการบินไทย ประจำรัฐควีนส์แลนด์ คนใหม่ ที่ได้ให้โอกาส MaBrisbane สัมภาษณ์ ทำความรู้จักและแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมทั้งทักทายเพื่อน ๆ คนไทยในควีนส์แลนด์ ตามอ่านกันได้เลย...

 

แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ

ชื่อ ชวฤทธิ์ ธนสมบัตินันท์ ครับ ชื่อเล่นชื่อเต่า ก่อนหน้านี้ประจำที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย หรือชื่อเต็มคือสาธารณรัฐอินเดีย(Republic of India) คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ เพราะเราเรียกอินเดีย ๆ กันตลอด

 

จุดเริ่มต้นกับการบินไทย

ทำงานกับการบินไทยมาตอนนี้ก็จะครบ 17 ปีเดือนเมษายนปีนี้ เริ่มแรกเดิมทีผมจบสายวิศวะ เข้ามาทำงานกับการบินไทยครั้งแรกในตำแหน่งวิศวกรอยู่กับฝ่ายอาคารสถานที่ที่สำนักงานใหญ่ตรงวิภาวดี ดูแลระบบประกอบอาคาร พวกไฟฟ้า น้ำประปา ระบบปรับอากาศ ในส่วนการซ่อมบำรุง ทำไปได้ 3 ปี ทางฝ่ายพาณิชย์มีการเปิดรับสมัคร management trainee เป็นการสร้างพนักงานรุ่นใหม่ให้พร้อมที่จะส่งมาดูแลสาขาต่างประเทศ ถือว่าโชคดีที่ผู้บังคับบัญชาตอนนั้น ท่านคงจะเห็นถึงศักยภาพ (หัวเราะ) ท่านเลยบอกให้ไปลองสมัครสอบดู ไหน ๆ ก็อุตส่าห์เรียนจบโทที่ต่างประเทศ เสียดายความรู้เรื่องภาษา ผมจบที่นอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษครับ ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผมก็ลองสอบดู ก็โชคดีที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมทีมฝ่ายการพาณิชย์ เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้ามาทำงานด้านนี้ในปี 2003

20161220-tanawat-h-B747-400-landing

 

ก้าวแรกกับการได้ทำงานในต่างประเทศ

2004 ผมก็ได้มาประจำตำแหน่งที่สิงคโปร์เป็น management trainee ก็คือไปให้ได้สัมผัส ให้มีประสบการณ์จริงกับสำนักงานที่ต่างประเทศ นี่เป็นนโยบายของท่านผู้บริหาร คุณสุเทพ สืบสันติวงศ์ ท่านเล็งเห็นความสำคัญว่า ในเมื่อเราคัดคนมา ฝึก และเตรียมความพร้อมแล้ว ทำไมยังให้เค้าเห็นแต่ภาพจำเจในสำนักงานใหญ่ ซึ่งเส้นทางการทำงานของพวกเค้าจริง ๆ คือต้องเดินทางไปเห็นงานในต่างประเทศ วิสัยทัศน์ของคุณสุเทพก็คือไม่อยากให้เด็กที่ฝึกใหม่ เรียนเรื่องการจองที่นั่ง ออกบัตรโดยสาร กฎราคาต่าง ๆ รวมถึงการบริหารการจัดการเบื้องต้น การบริหารงานบุคคล และท่านก็ไม่อยากให้ เหมือนคนเรียนจบแล้วต้องนั่งอยู่เฉย ๆ ให้เค้าออกมา จะบอกว่าปล่อยเต่าให้ว่ายน้ำ จริง ๆ จะบอกว่าปล่อยให้จระเข้ว่ายน้ำ แต่ก็จะดูน่ากลัวไป (หัวเราะ) ลูกต่งลูกเต่าเค้าโตแล้วก็ปล่อยเค้าลงทะเลเจอคลื่นเจอลมบ้าง เค้าจะได้รู้ว่าควรจะทำตัวยังไง

แต่ตอนนั้นด้วยหน้าที่ของเราเป็นแค่ trainee คือเราก็จะมี General Manager (GM) มอบหมายงานให้เรารับผิดชอบ ประสานงาน ถ้ามีปัญหาติดขัดท่านก็จะคอยชี้แนะ อย่างเรื่องระเบียบของบริษัท ซึ่งเราก็ต้องระมัดระวังและคอยศึกษา

 

20170420-tao-chawarit-09

 

การเดินทางและได้ทำงานหลาย ๆ ตำแหน่งหลาย ๆ ที่ ทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้น

20170420-tao-chawarit-10อยู่สิงคโปร์แค่ปีเดียว แล้วก็กลับมาประจำที่ไทย ช่วยงานผู้บริหารผ่าย Regional Director เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นภาพที่กว้างขึ้น เพราะได้ดูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด แต่ละตลาดก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ศาสนา ได้เห็นงานมากขึ้นและเข้าใจว่าการที่เรามาอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่แค่ว่าเรารู้ในส่วนแค่ไฟลท์ของเรา หรือการขาย บางครั้งเราก็ต้องดูภาพรวม อย่างน้อยในภูมิภาคที่เราดูแลอยู่เราต้องเข้าใจว่าแต่ละที่เป็นยังไง พยายามคิดต่อ ไม่ใช่ทำงานอยู่ในกรอบเฉพาะแค่หน้าที่ของเราเท่านั้น

เจนไนเป็นที่แรกที่ได้ทำหน้าที่เป็น GM หลังจากสิงคโปร์ได้มีโอกาสไปประจำที่กรุงมอสโกว ประเทศรัสเซีย ช่วงปี 2006 – 2009 ในตำแหน่ง Assistant GM คือเป็นแค่รองผู้จัดการทั่วไป ตอนนั้นการบินไทยเพิ่งเปิดเส้นทางมอสโกว ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ไปช่วยงาน GM ในการบุกเบิกตลาด ตั้งสำนักงาน วางระบบ มาตรฐาน ทำความเข้าใจ ฝึกพนักงานท้องถิ่นให้เข้าใจระบบระเบียบของบริษัท การนำเสนองานต่าง ๆ ในเรื่องของการสื่อสารก็ใช้ภาษาอังกฤษกัน ช่วงนั้นประเทศรัสเซียเพิ่งจะเปิดประเทศได้ไม่นาน คนส่วนใหญ่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือนักธุรกิจ

ตอนนั้นประเทศรัสเซียยังคงมีความเหลื่อมล้ำในสังคมค่อนข้างสูง คนที่รวยล้นฟ้ามีอำนาจก็มี คนจนก็อยู่นอกเมืองไม่มีโอกาสได้เข้ามาในเมือง

 

จากมอสโกวสู่เจนไน

หลังจากมอสโกว เพราะตอนนั้นเกิดวิกฤตค่าน้ำมัน ในปี 2009 ทางฝ่ายบริหารก็พยายามลดค่าใช้จ่าย มองว่ารัสเซียเริ่มอยู่ตัวแล้ว คงไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยก็เลยได้ย้ายกลับมาช่วยงาน Regional Director ที่ไทยอยู่ปีนึง ก็ได้ออกไปเป็นผู้จัดการประจำสำนักงานขายที่สุราษฎร์ธานี ดูแลภาคใต้ตอนบน ก็สนุกไปอีกแบบ เนื่องจากมันเป็นการบินภายในประเทศ เรื่องของราคาขายจะออกมาจากส่วนกลาง เราก็ไปแค่เหมือนดูแลลูกค้า ตัวแทนขาย ซึ่งแตกต่างจากการประจำอยู่ต่างประเทศ ที่เราต้องดูแลเรื่องแผนการตลาด งบประมาณ

หลังจากสุราษฎร์ธานีก็ย้ายไปเจนไน อยู่ที่นั่น 4 ปี 9 เดือน 24 วัน เป็นครั้งแรกที่ได้ไปอินเดีย พูดตามตรงตอนได้ยินว่าจะได้ไปก็มีแบบอึ้งนิดนึงว่าทำไมต้องเป็นอินเดีย ผมก็เป็นคนคิดบวกเนอะ ก็คิดว่าเราไปทำงานเพื่อบริษัท ผู้บังคับบัญชาเค้ามีความเชื่อมั่นในตัวเรา เค้าจึงมอบหมายให้เราไปดูแล เราก็ไปทำให้ดีทีสุด

หลาย ๆ คนพอบอกว่าไปอินเดียก็จะแบบ อี๊ สกปรก เพราะว่าเราเห็นตามจากสารคดี แม่น้ำคงคา คนผิวคล้ำ ๆ เสื้อผ้าเก่า ๆ แต่พอเราไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ ก็ต้องขอบคุณบริษัทที่ไม่ทอดทิ้งพนักงาน เค้าเปิดโอกาสให้เราไปดูพื้นที่ ซึ่งมันก็มีชุมชนที่ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ไปทำงาน ห้างสรรพสินค้าอาจจะไม่หลากหลายแต่ก็มี ร้านอาหารถึงจะมีตัวเลือกไม่เยอะแต่คุณภาพและฝีมือการปรุงก็โอเค

 

อยู่อินเดียไม่ค่อยได้เข้าวัดเพราะเรื่องความปลอดภัยและขัดแย้งของคนพื้นเมือง

ตรงเจนไนเองเราไม่มีวัดไทย แต่เห็นว่ามีวัดศรีลังกาซึ่งมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของหลักปฏิบัติ ตอนที่ผมอยู่ ความรุนแรงในประเทศศรีลังกาที่เกิดจากการสู้รบของกบฏทมิฬกับชนพื้นเมืองก็จบไปแล้ว มันมีที่มาที่ไปว่า ช่วงที่สมัยอังกฤษมาปกครองอินเดีย เค้าไม่สามารถเค้ามาปกครองคนศรีลังกา ชนพื้นเมืองได้ เค้าก็เลยเอาคนทมิฬจากรัฐทมิฬนาฑูมาปกครองที่ศรีลังกาเพื่อดูแลให้อังกฤษ ก็เกิดความไม่พอใจของคนพื้นเมืองของศรีลังกา เกิดความวุ่นวายขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายรัฐบาลศรีลังกาเริ่มมามีอิทธิพลมากขึ้น ก็เลยทำให้ชนกลุ่มน้อยทมิฬพยายามที่จะต่อต้าน อยากให้ตัวเองได้มีอำนาจ จนรัฐบาลตัดสินใจขั้นเด็ดขาด คือใช้ความรุนแรงกำจัดให้หมด นักการเมืองชาวทมิฬบางคนเลยใช้จุดนี้ในการสร้างกระแสเพื่อที่จะสร้างฐานเสียงในรัฐทมิฬนาฑู ว่า เฮ้ย ญาติพี่น้องเราชาวทมิฬไปเสียชีวิตที่ศรีลังกา เราต้องเรียกร้องรัฐบาลศรีลังกาอย่างนู้นอย่างนี้

ก็เลยมีการเตือนกันว่าวัดพุทธศรีลังกาเป็นสถานที่ ๆ ไม่ค่อยน่าจะปลอดภัยนักที่เราจะไป แต่ก็โชคดีว่าช่วงที่ผมอยู่ มีพระไทยไปศึกษาปริญญาเอกอยู่ เกี่ยวกับพวกปรัชญา เลยมีโอกาสได้เข้าร่วมกับชุมชนคนไทย ซึ่งก็ไม่เยอะเท่าไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแม่บ้าน ร้านอาหารไทยก็มีบ้าง แต่เจ้าของส่วนมากเป็นคนอินเดีย โชคดีที่เราได้เจอพ่อครัวแม่ครัวคนไทย แต่ไม่ได้ทำอยู่ร้านไทยนะ อยู่ร้านญี่ปุ่นกับเกาหลีแทน เราก็อาศัยไปทานร้านเค้า สั่งอาหารเกาหลีญี่ปุ่นแล้วก็ “พี่ ผมขอยำปลาหมึก ยำหมูยอ ได้มั้ย” เค้าก็จัดให้เท่าที่เค้ามี ยำเห็ดไรงี้

 

20170420-tao-chawarit-01

 

ประสบการณ์การทำงานกับคนอินเดีย

มีความท้าทายในการทำงานกับคนอินเดียที่ผมเจอ คือเค้าจะทำแค่ในสิ่งที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น จะไม่มีการคิดต่อยอด หรือนำเสนอทางเลือกให้ สมมุติผมสั่งงานไปช่วยหาข้อมูลยอดขายของเดือนที่แล้วให้หน่อย เค้าก็ไปหามาก็เป็นยอดขายอย่างที่สั่งไป “แต่แล้วยอดมันแตกต่างจากปีที่แล้วยังไงอ่ะ” เค้าก็กลับไปใหม่

(ผม) “โอเค อันนี้ของเราใช่มั้ย”
(พนักงาน) “ใช่ครับ”
(ผม) “อ้าว แล้วตลาดโดยรวมเป็นยังไง”
(พนักงาน) “อ่อ โอเค”
ก็กลับไปหามาให้ใหม่

เราก็ต้องปรับวิธีการสื่อสารกับเค้าใหม่ ต้องให้รายละเอียดว่าต้องมีอะไรบ้าง บางครั้งเค้าก็จะถามนะว่า หาข้อมูลตรงนี้เอามาทำไม เราดูแค่ยอดขายของเราก็พอสิ ผมก็ต้องอธิบายว่า เราต้องดูเปรียบเทียบกับตลาดรวม ถ้าตลาดขึ้นเราขึ้น โอเค ถ้าตลาดลงเราขึ้นก็โอเค แต่ถ้าตลาดขึ้นแล้วเราลงเนี่ย ฉ ห ละนะ (หัวเราะ) ก็เลยไม่รู้ว่าเค้าฉลาดกว่าเราหรือไม่รู้จริง ๆ ฉลาดกว่าก็คือ แกล้งทำเป็นไม่รู้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำรึเปล่า

อีกเรื่องนึงก็คือ คนอินเดียเวลาพูดเค้าจะชอบส่ายหัว ซึ่งถ้าเรามองเนี่ยก็จะเหมือนว่าเค้าปฏิเสธ แต่การส่ายหัวของเค้าคือใช่ บางทีเราเรียกประชุม ถามเค้าว่า เนี่ยถ้าเราจะทำอย่างนี้ไม่มีปัญหาใช่มั้ย คือปากเค้าก็บอกว่า Yes, sir. No problem. แต่หัวส่าย เราก็เลยงงว่า เอ๊ะ ตกลงมันได้หรือไม่ได้วะ สักพักนึงมานั่งคิด อ๋อ โอเค แปลว่าได้ ๆ (หัวเราะ)

 

20170420-tao-chawarit-03

 

พนักงานคนไทยที่ทำงานประจำสาขาต่างประเทศมีไม่มาก

เนื่องจากที่อินเดียเรามี 6 สำนักงาน แล้วช่วงหลังบริษัทพยายามจะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของพนักงาน ดังนั้นการที่เราจะส่งพนักงานจากไทยมาประจำในต่างประเทศก็เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยปรกติแล้วในสำนักงานต่างประเทศเราจะมีคนไทยประจำอยู่อย่างน้อย 3 คน คือ 1. GM 2. ผู้จัดการฝ่ายบัญชี 3. ผู้จัดการบริการสนามบิน เนื่องจากอินเดียเราถือเป็นแค่ 1 ประเทศ เราก็จะมีพนักงานบัญชีอยู่แค่คนเดียวที่เดลี ที่เหลือก็จะเป็นพนักงานท้องถิ่น

ก็จะมีการบินมาเจอกันระหว่างผู้จัดการเมืองต่าง ๆ Country Manager หรือนายก็จะบินมาเยี่ยมดูแล เราก็รู้สึกดีว่านายไม่ทอดทิ้ง ปีละครั้งสองครั้ง ดูความเป็นอยู่ เราก็จะใช้โอกาสตรงนี้ประชุมเรื่องการวางแผนการตลาดว่าปีนี้เราจะไปทิศทางไหน เราได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ว่าต้องหารายได้ให้ได้เท่าไร ทำยังไงถึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้

 

20170420-tao-chawarit-04

 

รู้สึกอย่างไรบ้างกับเมืองบริสเบน ?

ที่อินเดียคนไทยค่อนข้างน้อย ที่จะได้คุยกันหลัก ๆ ก็จะเป็นสถานกงสุล พอย้ายมาอยู่ที่บริสเบนก็แตกต่างพอสมควร คนไทยเยอะครับ เดินไปไหนก็ทุกหัวระแหงก็เจอ มาอยู่บริสเบนได้เกือบ 2 เดือนแล้ว ก็คิดว่าปรับตัวได้พอสมควรละนะ (หัวเราะ) ต้องขอบคุณชุมชนคนไทยครับที่ให้การต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี รู้สึกอบอุ่น คืออย่างน้อยเวลาเรามีปัญหาหรือติดขัดอะไรในเรื่องความเป็นอยู่หรือจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่ยืมเงินนะฮะ (หัวเราะ) ก็ได้พี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยให้ข้อมูล

 

ทราบว่าลูกชายของคุณเต่าย้ายมาเรียนที่นี่ด้วย มีการเตรียมตัวยังไงบ้าง?

การเรียนที่ออสเตรเลียจะเริ่มตอนเดือนมกราคม ลูกชายคนโตเพิ่งจบ ป.6 ปีการศึกษา 2016 ผมอยากให้เค้าอยู่รอได้รับวุฒิการศึกษาแบบเสร็จสมบูรณ์ ไม่ใช่อยู่แค่ครึ่งเทอม พอมาที่นี่ก็จะต้องมาเข้าในช่วงกลางเทอมของเค้า ซึ่งทางโรงเรียนที่นี่ก็ดูจะเป็นห่วงในเรื่องการใช้ภาษาเขียน เพราะพอขึ้น Year 7 หรือ ม.1 บ้านเรา เค้าจะเน้นเรื่องให้นักเรียนใช้ภาษาเขียนเยอะขึ้นอย่าง writing, grammar ซึ่งสำหรับเด็กไทยส่วนใหญ่พื้นฐานตรงนี้อาจจะไม่ค่อยแข็งแรง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์ อย่างลูกชายผมเค้าก็เรียนแค่ Intensive English Program (IEP) ก็เรียนด้วยภาษาไทยปกติ แต่ทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมงจะได้เรียนกับชาวต่างชาติ เป็นการฝึกเรื่องบทสนทนา ทักษะการฟัง แต่เรื่องการเขียนจะไม่ได้เน้นเท่าไร ทางโรงเรียนที่นี่เค้าก็เลยไม่ค่อยจะสนับสนุนให้มาเรียน Year 7 เข้ากลางเทอมเลย

ส่วนลูกชายคนเล็กเพิ่งจบ ป.2 ขึ้น Year 3 ต้องขอบคุณภรรยาครับ เค้าเลี้ยงดูอบรมดี (ยิ้ม) ก็ซนตามประสาเด็กแต่ก็ยังมีวินัยครับ มาอยู่ที่นี่ก็คงเป็นสามหนุ่ม(สามมุม) มุมเดียวกัน (หัวเราะ)

 

การปรับเปลี่ยนราคาและโปรโมชั่นของบัตรโดยสารในปัจจุบัน

เนื่องจากว่าเดี๋ยวนี้มีสายการบินใหม่แบบประหยัดเกิดขึ้นมามากมาย เราเองก็ต้องปรับกลยุทธ สร้างแบรนด์แบบใหม่ขึ้นมาบ้าง เป็นนกแอร์ ไทยสไมล์ เพื่อมาช่วยรองรับเครือข่ายของการบินไทย

เดิมทีเรามีบัตรโดยสารอายุ 1 ปีซึ่งราคาสูงมาก ไม่สามารถจะมาแข่งขันในตลาดจริงได้ ก็เลยทำให้เราต้องมีโปรโมชั่นออกมาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อที่จะกระตุ้นยอดขาย โดยพอเป็นราคาโปรโมชั่นก็จะมีข้อกำหนดเยอะขึ้น เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงการเดินทาง ต้องบินภายในวันนี้ บินไปแล้วห้ามบินกลับ หรือจะบินกลับแล้วห้ามบินไป...ไม่ใช่ละ (หัวเราะ) ล่าสุดทางฝ่ายบริหารก็เห็นด้วยว่า แทนที่จะต้องให้พวกเราคอยมานั่งคิดโปรโมชั่น ในเมื่อตลาดมันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องปรับราคาลงมา ตั๋ว 1 ปีก็เลยมีราคาที่ค่อนข้างต่ำลง แต่ก็อาจจะดูสูงอยู่ (หัวเราะ)

ข้อดีของมันก็คือมีอายุ 1 ปี อย่างเมื่อก่อนเวลาเราซื้อตั๋วราคา $800 จะอยู่ได้ 3 เดือน หากเราอยากอยู่นานกว่านั้นต้องเลื่อนวันเดินทางออกไปก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว คือตั๋วส่วนใหญ่จะมีอายุ 1 ปีหมด แต่ก็จะมีตั๋วโปรโมชั่นราคาพิเศษที่จะมีอายุน้อยออกมาเรื่อย ๆ เพราะด้วยสภาพตลาดการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน แต่ก็คงไม่ถี่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว คงจะออกมาเป็นโปรพิเศษจริง ๆ เช่น ครบรอบ 57 ปีการบินไทย และอาจจะขายช่วงสั้น ๆ อาทิตย์นี้อาทิตย์เดียว เดือนนี้เดือนเดียวเท่านั้น

 

มีอะไรอยากฝากถึงคนไทยในควีนส์แลนด์มั้ย?

ขอฝากเต่าน้อย (หัวเราะ) สำหรับคนไทยยินดีให้บริการที่สำนักงานโดยตรง มาซื้อตั๋วได้ เปิดให้บริการจันทร์ถึงศุกร์ 9am – 4.30pm ยกเว้นวันพฤหัสบดีเปิด 9.30am สำหรับเรื่องน้ำหนักกระเป๋าสามารถซื้อเพิ่มได้ที่สนามบินในวันเดินทางหรือติดต่อมาที่สำนักงานได้ ไม่สำคัญว่าจะซื้อตั๋วที่ไหน หรือใครที่เดินทางออกจากเมืองไทยสามารถซื้อกระเป๋าเพิ่มทางออนไลน์ได้

โดยส่วนตัว ในฐานะที่เป็นคนไทยมาอยู่ต่างประเทศ มีอะไรที่จะสนับสนุนช่วยเหลือคนไทยกันได้ ผมก็ยินดีเต็มที่ อย่างเช่นว่า ซื้อตั๋วไปแล้ว มีเหตุให้ต้องเดินทางด่วน คนในครอบครัวไม่สบายหนัก เปลี่ยนตั๋วเดินทางไม่ได้ มีค่าใช้จ่ายสูง ก็ลองเข้ามาหาเราได้ครับ หากมีเรื่องด่วนสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 1300 651 960 ครับ

20170420-tao-chawarit-tg

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 20 เม.ย. 2017
MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State