วันนี้ MaBrisbane ได้มีโอกาสพูดคุยกับสาวติสต์ “ปราง” กับประสบการณ์ครั้งนึงในการมาเที่ยวและทำงานในออสเตรเลียด้วยโปรแกรม WAH และเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เธอเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตของเธอไปเลย มาอ่านเรื่องราวของเธอกัน..
สวัสดีค่ะชื่อ “ปราง วันชัย” หรือ “แก้ม” นะคะ มีความใฝ่ฝันตั้งแต่สมัย ม.ปลาย ที่จะไปออสเตรเลียให้ได้ และฝันก็เป็นจริงแต่ก็ต้องสู้หลายอย่างเหมือนกัน จนได้มามีประสบการณ์ในออสที่จำไม่รู้ลืมและเปลี่ยนความคิดในการใช้ชีวิตของเราไปเลย
ด้วยความที่ติดใจกับออสเตรเลียมาก ถึงแม้จะมีทุนไปเรียนต่อต่างประเทศเยอะแยะสมัยเรียน แต่ด้วยตัวเองรู้สึกว่าคะแนนไม่น่าจะสู้กะชาวบ้านได้ ก็เลยยังไม่มีโอกาสให้ได้ทำตามฝัน จนเรียนจบได้ทำงานไปสักพักนึง เพื่อนที่มีอินเนอร์เดียวกันก็มาบิ้วว่า มีเพื่อนได้ไปวีซ่าอันนึงที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างเรา คือ WORK AND HOLIDAY VISA (WAH) ไปได้ปีนึงเลยนะเว้ย แต่สเตทเมนท์ไม่มากมายเท่าวีซ่านักเรียน แถมเงินติดกระเป๋าแสนสองแสนก็ยังไหวอยู่ อ้าว! ช้าทำไม เตรียมตัวกันไปเลยสิคะ!!!
เตรียมตัวก่อนเดินทาง..
จากจุดเริ่มตรงนั้นทำให้เราไปลงเรียนนวดไทยที่วัดโพธิ์เก็บใบ Cer และเตรียมตัว สอบ IELTS ปีแรกที่ลองเข้าไปกดสมัคร WAH ไม่ทัน ก็รอสมัครรอบใหม่ พี่ที่รู้จักอยู่ออสเตรเลียมาหลายปีแนะนำว่า เรียนนวดน้ำมันสิ เรทดีนะ อ้าว รออะไร จัด Cer มาอีกใบเลยจ้า ซึ่งรอบนี้ Finally she made it! มีเพื่อนผู้ทุ่มเทกำลังกายและใจช่วยกันกด ยกขึ้นหิ้งเป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณท่วมหัวไปเลยจ้า แม่และเพื่อนสนิทก็ต่างพาเราไปสักการะสิ่งศักดิ์มากมาย รวมถึงเราเองก็แอบมีบนไว้ด้วยนิดนึง ก็เลยตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำยังไงถึงจะได้ เพราะมันก็หลายปัจจัยอยู่โนะ
ก่อนที่จะมาออสเตรเลีย ปรางทำงานอยู่ในทีมกราฟิกดีไซน์ให้กับนิตยสารฉบับนึงของไทย หลังออกจากงานเพื่อเตรียมตัวจะไปออสเตรเลีย ก็รอประมาณเดือนนึงทาง VFS ซึ่งเป็นศูนย์ยื่นวีซ่าฯที่ไทย ก็โทรมาถามว่าไปตรวจร่างกายรึยัง ห๊ะ!? งง สรุปเค้าอนุมัติวีซ่าตั้งแต่อาทิตย์แรกแล้ว แต่ดันติดตรงที่อีเมล์ไม่ถึงเรา กรี๊ดด! ไปเก็บกระเป๋าสิคะ
ก้าวแรกสู่ออสเตรเลีย
เย้! Melbourne ออสเตรเลีย ปรางมาแล้ว ใช้เวลาอาทิตย์แรกเดินชมเมืองกับไกด์ส่วนตัวคือเพื่อนที่มาอยู่ก่อน เพื่อนก็หาห้องให้ มีรูมเมทเป็นคนไทย 4 คน สนิทและรักกันไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด หลังจากเริ่มชินกับเมืองก็เริ่มหางาน เน้นงานนวดอย่างเดียว ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์ก็ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกันกว่าจะได้งาน ร้านนวดส่วนใหญ่ (เท่าที่รู้) จะต้องมีเทสต์มือ ถ้าเค้าใจดีรับก็จะได้รับการฝึกวิชากระบวนท่าของแต่ละร้าน สไตล์ใครสไตล์มัน แต่ที่แนะนำเหมือนกันคือให้ดู YouTube เยอะ ๆ ของเราก็โชคดีที่เจ้าของร้านรับ ใจดี เอ็นดูเรา และเพื่อนที่ร้านน่ารัก เก่งกล้าวิชาแต่ไม่ได้หวง มีเวลาก็จะถาม และคอยดู YouTube เรื่อย ๆ แต่ความยากไม่ใช่ว่าท่าไหน แต่ทำยังไงให้ลงน้ำหนักได้ดีต่างหาก ฝรั่งตัวใหญ่งี้ ทำไงให้มันถึงใจคุณลูกค้าคะ! ฝึกมันเข้าไปค่ะ ใช้เวลาหลายเดือนเหมือนกันกว่าจะลงน้ำหนักได้
ร้านนวดแต่ละร้านเค้าจะมีวันให้ลงว่าเราอยากทำงานวันไหนบ้าง ข้อดีของ WAH คือ สามารถทำงานได้เต็มที่แตกต่างจากวีซ่านักเรียน แต่เพื่อความบาลานซ์ของชีวิตก็ทำไปห้าวัน สองร้าน สลับกันไป เสาร์อาทิตย์เราก็ไปผลาญเงินตัวเองกัน ของที่นี่เซลล์บ่อยจริง ๆ นอกจากเรื่องชอปปิ้ง Melbourne ยังมีร้านกาแฟเก๋ ๆ พิพิธภัณฑ์ที่สวยงาม งานศิลป์ และอีเว้นท์ต่าง ๆ ไว้ให้เราเก็บแต้มเยอะแยะไปหมด เผลอแว่บเดียวก็ถึงเวลาที่จะต้องย้ายงานตามกฎของ WAH ที่ห้ามทำงานกับที่ใดที่หนึ่งเกิน 6 เดือน ตลอดเวลาที่ได้มาใช้ชีวิตที่นี่เรารู้สึกชอบออสเตรเลียมาก การใช้ชีวิต บ้านเมือง ผู้คน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มันทำให้เราเริ่มคิดวางแผนอนาคตหลังจากวีซ่า WAH หมด ที่จะหางานทำและใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย
“Welcome to Cape Tribulation จุดที่ชีวิตเปลี่ยน”
ชื่อหนังเหรอ? อื้อ หนังชีวิตดิฉันนี่แหละค่า หลาย ๆ คนคงจะไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้ เพราะมันเป็นเมืองทางเหนือของ Cairns แบบ far far North Queensland ที่ตัดสินใจไปที่นั่น เพราะตอนเสิร์ชหางานก็เข้าไปอ่านประสบการณ์คนที่มาวีซ่าเดียวกับเรา ว่าเค้านิยมไปไหนกันบ้าง ส่วนใหญ่จะไปทำงานฟาร์มเก็บผลไม้ ซึ่งรุ่นพี่คนไทยส่วนใหญ่ที่มาแชร์ประสบการณ์จะบอกว่า อย่ามาเลย เพราะอยู่กันแบบแออัด ห้องนึงต้องนอนด้วยกัน 10 คน ลำบากมาก ต้องตื่นแต่เช้าไปเก็บผลไม้ให้ได้ตามจำนวน แล้วถ้าต้องไปเก็บกล้วยนะ โอ้ สุดยอด เราอ่านไปก็คิด ทำไมชีวิตมันดู...ขนาดนั้นวะ เครียดมาก สุดท้ายก็เลยตัดสินใจสมัครงานเป็นแม่บ้านในรีสอร์ท ทำงานแลกที่อยู่และอาหาร ไม่ได้เงินจร้า แต่งานทำสบาย ๆ แค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน เปลี่ยนผ้าปู ซักผ้า ทำความสะอาด แต่มีกันแค่สองคน วันไหนแขกเยอะก็มันส์ไปเลยค่า
นอกจากเรื่องงานแล้ว ชีวิตที่ Cape Tribulation ก็ดีงาม เพราะธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตามสโกแกนเค้าว่า “Where the rainforest meets the reef” มีนกยูงเดินเล่นในรีสอร์ท จระเข้น้อยเดินหาแม่อยู่ใน national park ข้าง ๆ หรือว่างจากงาน เพื่อนก็จะลากไปเล่นน้ำ แต่ลงลึกไม่ได้นะฉลามบุก โดดเถาวัลย์ หรือชมซากหอยปูปลาตอนน้ำลง ทะเลหน้าที่พักก็ได้อยู่นะเออ ตอนที่เราไปเจอพี่คนไทยอยู่ 1 คน เลยถามเค้าว่ามีคนไทยอยู่เยอะมั้ย พี่เค้าบอกว่าเราเป็นคนที่ 4 ที่มาทำงานที่นี่ ส่วนใหญ่คนที่มาก็จะเป็นวีซ่า WAH จากหลาย ๆ ชาติ
ณ คืนวันหนึ่ง ..ที่จะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต
จุดเปลี่ยนชีวิตของเราเกิดขึ้นหลังจากที่เรามาทำงานได้เพียง 2 อาทิตย์ คืนนั้นมีงานปาร์ตี้เลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงานคนนึง สนุกสนานเฮฮากันมากมายด้วยบรรยากาศในรีสอร์ทและธรรมชาติรอบ ๆ ชมการแสดงรำกระบองไฟ ตีปิงปอง เล่นพูล ว่ายน้ำ จิบเบียร์กันไป แบบปาร์ตี้จริงจังมาก พอตอนกลับ ก็แยกกันกลับหลายเส้นทาง กลุ่มของปรางไม่ชินทางเท่าไร บวกกับมันมืดมาก ไฟถนนก็ไม่ค่อยมี ก็เลยเดินเลียบ ๆ ขอบถนนไป ไอ้เราที่สติยังดีอยู่ก็เป็นห่วงเพื่อน ๆ ที่เดินเฮฮากันอยู่กลางถนน เพราะกลัวรถที่วิ่งมามันจะมาเร็วแล้วยิ่งมืด ๆ มันจะมองไม่เห็นกัน หลังจากที่หันไปมองเพื่อน ๆ นั่นแหละ รู้สึกตัวอีกทีก็นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแล้ว
รู้สึกชา เบลอ ๆ ขยับไม่ค่อยได้ และงง ๆ สายอะไรไม่รู้ห้อยระโยงระยางกับตัวเหมือนในหนัง เพื่อนที่เฝ้าอยู่โวยวายใหญ่ ยูรู้มั้ยว่ายูถูกรถชนอาการโคม่ามาสองคืนแล้ว พร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ว่าคืนนั้นปรางโดนรถชนเข้าอย่างจัง เลือดอาบทั่วตัว ด้วยความกันดารของสถานที่เกิดเหตุ ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่ Townsville ด้วยเฮลิคอปเตอร์ เหตุที่ต้องไปถึง Townsville เพราะปรางได้รับบาดเจ็บทางศีรษะและสมอง ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางประจำอยู่ที่นั่นที่ใกล้ที่สุด คุณตำรวจก็ถามว่ายูรู้มั้ยว่ารถคันที่ชนยูน่ะเค้านั่งกันมากี่คน 6-7 คนเลยนะ และคนขับก็เมา ไม่มีใบขับขี่ และรถก็ไม่ได้จ่ายค่าลงทะเบียนอีกต่างหาก
พอได้สติจากการฟังเรื่องราวของคนรอบข้าง สิ่งที่คิดอย่างแรกเลยคือ ตายแล้ว นอนโรงบาล จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายละนี่ โชคดีที่เราซื้อประกันมาจากไทย ซึ่งเขามีสำนักงานที่ Sydney ด้วย พยาบาลก็มาบอกว่ามีชื่อเราอยู่ใน cover นี้ ยูไม่ต้องห่วงนะ ซึ่งเราอยู่โรงพยาบาลรัฐ 2 อาทิตย์ (ถึงจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ แต่ดีเลิศเลยทีเดียว สมราคานะ) ค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 1,700,000 บาท แล้ววงเงินของประกันการเดินทางซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมเรื่องอุบัติเหตุไว้ด้วย อยู่ที่ 2 ล้านบาท เพิ่งจะเข้าใจความจำเป็นของการซื้อประกันก็คราวนี้แหละ
จริง ๆ อาการและสภาพของปรางควรจะต้องรักษาในโรงพยาบาลต่อ นอกจากจะบาดเจ็บที่ขา ลำตัวแล้ว ใบหน้านี่เป็นแผลเหมือน Chucky จากเรื่อง Child’s Play เลย กระดูกตรงโหนกแก้มแตก หมอต้องใส่เหล็กให้ และบาดเจ็บทางสมองและศีรษะอีก เรียกว่าต้องพบแพทย์หลากหลายแขนง ผ่าตัดหลายรอบเลยทีเดียว และด้วยภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรงของเราก็ทำให้เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างว่าเราเป็นอะไรมากน้อยแค่ไหน
ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ได้ ’ปลา’ เพื่อนที่อยู่ที่ Port Doulas และพี่ ๆ น้อง ๆ ไปโพสต์ไว้ในคอมมิวนิตี้คนไทยว่าให้เข้ามาเยี่ยมเยียนเรา คอยส่งข้าวส่งน้ำ ให้กำลังใจ ช่วยสมทบทุนทั้งที่ไม่รู้จักกัน
เพื่อน ๆ ช่วยตั้งกองทุน Fundraiser ให้
เพื่อนเราทั้งไทยและเทศก็มาเยี่ยมเราถึงที่ มานอนเฝ้า เราซึ้งใจมาก เพราะมาอยู่เมืองนอกห่างบ้าน แล้วเจอเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งมันทำให้เราคิดว่าถ้าตอนที่เราอยู่ในช่วงโคม่าแล้วไม่มีใครมาคอยเรียกชื่อเราข้าง ๆ มันจะเป็นยังไง เรารู้สึกว่าเราโชคดีมากที่เราไม่ได้พิการหรือเอ๋อ และมันทำให้เรารู้ว่าชีวิตมันไม่แน่นอนจริง ๆ ตัวเองไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลย พอมาเจอก็ครั้งนี้เลยจ้า
สื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวอุบัติเหตุครั้งนั้น
ตอนนั้นวีซ่า WAH ของเรายังเหลืออีก 4 เดือน เราอยากอยู่ต่อให้ครบ แต่เพื่อนก็บอกว่าจะอยู่ได้ยังไง จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ สภาพยูก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีทางเดียวก็คือต้องกลับไทย ซึ่งหมอห้ามไม่ให้ไปไหนมาไหนหรืออยู่คนเดียว จะเดินทางก็ต้องมีคนกลับด้วย จึงต้องกลับพร้อมปลาเพราะกำลังจะกลับไทยพอดี
ได้รับความช่วยเหลือ และการเคลมค่ารักษาพยาบาล
หลังจากเกิดอุบัติเหตุไป 6 เดือน เราก็ยังเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่ และยังคั่งค้างใจกับ 4 เดือนของวีซ่าที่หายไป โดยที่ไม่ใช่ความผิดเรา จะด้วยโชคหรืออะไรไม่รู้ วันนั้นเพื่อนได้มีโอกาสพบกับท่านกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งประเทศไทยของรัฐควีนส์แลนด์ คุณ Andrew Park และได้เล่าเหตุการณ์ของปรางให้ท่านฟัง ท่านกงสุลจึงแนะนำคุณอ๋องจากบริษัท Littles Lawyer ซึ่งเป็นบริษัททนายความผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่อง personal injuries ให้ปรางได้รู้จัก เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ซึ่งในตอนนั้นปรางอยู่ที่ไทยแล้วและคุณอ๋องก็อยู่ที่ออสเตรเลีย เราติดต่อกันทางออนไลน์ ปรางได้รู้ถึงสิทธิ์ของผู้บาดเจ็บที่ปรางควรได้รับเป็นครั้งแรก ซึ่งมันเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรได้รับ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ถึงสิทธิ์นี้
ปรางรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เราทุกคนจะรู้ถึงสิทธิ์ของเรา ในกรณีของปรางมันทั้งซับซ้อนและมีอุปสรรคหลายอย่างในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือค่าชดเชย เพราะปรางไม่ได้ดำเนินเรื่องทันทีตั้งแต่แรกเพราะไม่รู้จะไปพึ่งใคร ไม่รู้ถึงสิทธิ์ที่ตัวเองมี และตัวปรางเองก็เดินทางกลับมาที่ไทยแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นทาง Littles Lawyer ก็ช่วยเหลือปรางอย่างเต็มที่ จนวันนี้ปรางได้เดินทางกลับมาที่ออสเตรเลียเพื่อทำการตรวจเช็คร่างกายและดำเนินการการขอค่าชดเชยจากการบาดเจ็บที่ได้รับ
หวังว่าเรื่องของปรางจะเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ ได้ทำตามฝัน โดยไม่ต้องรอให้ถึง “จุดที่เปลี่ยนชีวิต” เหมือนปราง เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น LIVE LIKE THERE IS NO TOMORROW ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับทุกวัน และที่สำคัญช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนไทยอยู่ที่ไหนก็รักกันเนอะ ๆๆ
หากเพื่อน ๆ คนไทยในออสเตรเลีย ไม่ว่าใครก็ตามที่มีประสบการณ์คล้ายกับตัวปรางเอง หรือได้รับการบาดเจ็บจากการทำงานก็ตาม อยากจะแนะนำให้ลองติดต่อทาง Littles Lawyer และคุณอ๋องดู (เบอร์โทร 0478 770 556) เพื่อขอคำแนะนำด้าน personal injuries โดยทางบริษัททนายแห่งนี้เค้ามีนโยบายหากไม่ชนะคดีเราก็จะไม่ต้องจ่ายค่าดำเนินการค่ะ
..ทีมงานขอขอบคุณ คุณปราง วันชัย ที่มาแชร์ประสบการณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้ใครหลายคน หากจะต้องประสบกับปัญหาคล้ายกันกับเธอให้พวกเราฟังกันมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ, ขอบคุณค่ะ