ในที่สุด... ข่าวดีที่ชาวบริสเบนต่างรอคอยกันมาอย่างยาวนานก็มาถึง ในปี 2032 หรืออีก 11 ปีต่อจากนี้ เมืองบริสเบนของเราได้รับเกียรติที่จะได้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่าง Olympic Games หรือมีชื่อเรียกว่า Brisbane 2032 นั่นเองงง แม้ว่าจะต้องรออีกยาวนาน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นกันล่วงหน้ากับมหกรรมกีฬาที่เมืองของเราจะได้เป็นเจ้าภาพ
และที่เพิ่งผ่านพ้นไปงานโอลิมปิกครั้งล่าสุด Tokyo 2020 ที่เมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะต้องถูกเลื่อนจัดงานไป 1 ปี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารย์จากหลายฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็จบลงไปได้อย่างเรียบร้อยดีแม้จะมีปัญหาบ้างก็ตาม อย่างไรก็ดีในอนาคตหากไม่มีเหตุการณ์โรคระบาดหรือมีเหตุการณ์อื่น ๆ มากระทบอีก ครั้งต่อไปในปี 2024 จะจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปี 2028 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถึงตาของเมืองบริสเบน
บทความนี้เราจะมาชวนคุยกันว่างานโอลิมปิกนั้นมันมีความสำคัญต่อมนุษยชาติอย่างไร หรือเป็นเพียงการจัดงานกีฬาทั่วไปกันแน่ และทำไมชาติต่าง ๆ ถึงอยากจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
> การแข่งขัน Olympic Games เริ่มต้นมาจากไหน?
ที่มาภาพ : unsplash.com/@nhoizey
การแข่ง Olympic Games หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า งานโอลิมปิก คือการแข่งขันระดับโลก ที่แต่ละประเทศส่งตัวแทนเข้าร่วมในแต่ละประเภทกีฬา โดยมีประเทศที่เข้าร่วมมากว่า 200 ประเทศ จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการจัดโอลิมปิกล่ะก็ คงต้องย้อนไปเมื่อหลายพันปีก่อน ที่มีการแข่งขันกีฬาในเมือง Olympia เมืองเล็ก ๆ ในประเทศกรีซ แม้ก็ไม่ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนมาถึงปี 1894 เป็นครั้งแรกของโลกที่ได้ก่อตั้ง International Olympic Committee หรือที่เรียกกันย่อๆว่า IOC เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดระบบระเบียบการแข่งขันให้เข้ากับยุค และเป็นเสมือนทีมบริหารการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาร่วม 127 ปี โดยการแข่งขันกีฬาที่ตั้งชื่อว่า Olympic Games นั้น เกิดคร้ังแรกบนโลกในปี 1896 จัดขึ้นที่เมือง Athens ประเทศกรีซอีกเช่นกัน ร้อยกว่าปีผ่านมา แน่นอนว่ารูปแบบการแข่งขันย่อมมีการปรับเปลี่ยน อย่างเช่นการเพิ่มรูปแบบกีฬาใหม่ ๆ รวมไปถึงการจัดการแข่งขัน Winter Olympic Games สำหรับการแข่งขันกีฬาประเภทน้ำแข็ง และ Paralympic Games เป็นการแข่งขันสำหรับผู้บกพร่องทางร่างกาย เพื่อเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมยิ่งขึ้น
ที่มาภาพ : olympics.com
และอดพูดถึงไม่ได้เลย กับผลกระทบในโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ล่าสุดคือส่งผลต่อการจัดการแข่งขันในปี 2020 ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ ที่เราต่างเรียกกันว่า Tokyo 2020 อันเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทุกมุมโลก แต่การยกเลิกหรือการเลื่อนการแข่งขัน ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงสงครามโลกในปี 1916, 1940 และปี 1944 รวมไปถึงเหตุการณ์คว่ำบาตร (Boycott) อันเนื่องจากมาจากยุคสงครามเย็น ทำให้ในปี 1980, 1984 ก็ไม่ได้จัดการแข่งขันเช่นเดียกัน
> ทำไม..ถึงต้องเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันโอลิมปิก
ที่มาภาพ : unsplash.com/@ryunosuke_kikuno
น่าจะเป็นคำถามที่หลายคน (รวมถึงเรา) สงสัยว่า ทำไมแต่ละประเทศ ถึงอยากจะแย่งชิงการเป็นเจ้าภาพการจัดงานซะเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาลในการเตรียมความพร้อมภายในเมือง ทั้งด้านสถานที่, สาธารณูปโภค และการจัดการภายใน อีกทั้งอาจส่งผลเสียทั้งด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จากการใช้ทรัพยากรรวมไปถึงจำนวนขยะเช่นกัน มีแต่เสียกับเสียทั้งนั้น... แม้ว่าจะทราบถึงผลลัพธ์ด้านลบที่ตามมา แต่ในมุมกลับกัน การเป็นเจ้าภาพงานกีฬานั้น ก็ช่วยสร้างผลลัพธ์ด้านบวก ที่ประเมินค่าได้และไม่ได้เช่นเดียวกัน อันได้แก่
1. กระตุ้นผลบวกทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่
ที่มาภาพ : unsplash.com/@jezael
เพราะการจัดโอลิมปิก คือการเฉลิมฉลองที่มีกีฬาเป็นจุดร่วม แน่นอนว่าการที่เมืองไหนได้รับเลือก เมืองนั้น ๆ จะกลายเป็นที่จับตามองจากผู้คนทั่วโลก และเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนต่างต้องการเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า ห้างร้านในพื้นที่ ต่างตื่นตัวกับการมาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้เกิดการจับจ่าย ใช้สอยเพิ่มขึ้น เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2. สร้างชื่อเสียงของประเทศในระยะยาวหลังจากการจบการแข่งขัน
ที่มาภาพ : unsplash.com/@hjiang
แน่นอนว่า การที่ได้เป็นเจ้าภาพงานใหญ่ขนาดนี้ เมื่อจบการแข่งขันไปแล้ว ผู้คนสามารถจดจำชื่อของเมืองนั้นไปได้อย่างยาวนาน อีกทั้งสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการกิจกรรมนี้ อาทิการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ ก็จะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่มีความสำคัญ เมื่อนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสแวะเวียนมา ก็ไม่พลาดที่จะแวะไปถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก เหมือนกับสนามรังนก (Beijing National Stadium) ในเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ในครั้งเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกปี 2008
3. การพัฒนาด้านสาธาณูปโภคและความสะดวกสบาย
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การที่ประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะงานระดับโลกขนาดนี้ ภาพลักษณ์ของเมืองเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เมื่อเป็นกิจกรรมที่ต้องรวมผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลกขนาดนี้ การจัดการความพร้อม มักเป็นสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น อย่างเช่น การเดินทาง สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่พัก ร้านอาหาร ฯลฯ อาจจะเรียกได้ว่า โอลิมปิกทำให้ประเทศตื่นตัวในการพัฒนาเมืองเลยก็ว่าได้
> ประเทศออสเตรเลียกับการจัดโอลิมปิกที่ผ่านมา
ที่มาภาพ : sydneyoperahouse.com, olympics.com, australiangeographic.com.au
แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ประเทศออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันระดับโลกแบบนี้ เมื่อย้อนไปครั้งล่าสุด เมื่อปี 2000 เมืองใหญ่อย่างซิดนีย์เอง ก็เคยได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดโอลิมปิกเองเช่นกัน หรือที่ผู้คนเรียกงานนี้ว่า Sydney 2000 เป็นการจัดโอลิมปิกฤดูร้อนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2000 (ตอนนั้นเรียกว่ายังเป็นเด็กน้อย) นับว่าเป็นครั้งที่สอง ที่ให้ประเทศออสเตรเลียเป็นสถานที่ในการจัดงาน โดยการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมือง Melbourne เมื่อปี 1956
งาน Sydney 2000 ได้รวมตัวนักกีฬาจาก 199 ประเทศเข้าร่วม โดยใช้งบประมาณไปมากกว่า 6.6 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์เลยทีเดียว ถึงเม็ดเงินจะมหาศาล แต่ขอบอกเลยว่า นับเป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จมากอีกงานหนึ่งในโลกเลย และได้กลายเป็นเหมือน Role Model ในการจัดการแข่งขันของเมืองอื่นในปีต่อ ๆ มา แม้ว่าเราจะเป็นประเทศเจ้าภาพเอง แต่ก็ไม่ได้ครองเหรียญรางวัลได้มากเท่ากับ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ในการรับเหรียญมากที่สุดจากจัดงานในครั้งนั้น
และแน่นอน จากการที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2000 สถานที่จัดการแข่งขันที่ถูกสร้างขึ้นในครั้งนั้น ก็ยังคงใช้งาน และเป็นสถานที่สำคัญในการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างอาคารที่ใช้เป็นพิธีเปิดและปิด อย่าง Stadium Australia หรือที่คนซิดนีย์เรียกสั้นๆว่า ANZ Stadium และ Telstra Stadium ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ในพื้นที่ Sydney Olympic Park นั่นเอง อาคารนี้สามารถจุผู้เข้าชมมากถึง 110,000 คน กลายเป็นอาคารกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรอง Melbourne Cricket Ground ที่จุได้มากถึง 120,000 คน
ที่มาภาพ : en.wikipedia.org
หลังจากจบการแข่งขัน Sydney 2000 อาคารนี้ก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจากภาครัฐ ทำให้สามารถจัดการแข่งขันอื่น ๆ ได้ เช่น จัดการแข่งขัน คริกเก็ต, รักบี้, ฟุตบอล, มอเตอร์ไซค์ผาดโผน รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง Justin Bieber, Ed Sheeran, Taylor Swift, Adele, Eminem, Bon Jovi และอื่น ๆ ที่มากมาย นับเป็นสถานที่ที่สร้างประโยชน์ให้กับเมืองได้อย่างมากมาย
Brisbane 2032
และแล้วก็ถึงคราวของนครบริสเบนกันบ้าง หลังการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้บริสเบนเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2032 แน่นอนว่าหลังจากนี้จะต้องมีการเริ่มเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างและปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับในการจัดการแข่งขัน
สนามกีฬาหลักที่ใช้จัดการแข่งขันของเมืองบริสเบนในปัจจุบัน The Gabba ก็จะมีการปรับปรุงสนามและเพิ่มที่นั่งเพื่อใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกด้วยเช่นกัน
ด้านคมนาคมนั้นในเบื้องต้นที่ประจวบเหมาะมีการก่อสร้างกันไปแล้ว เส้นทางรถไฟสายใหม่ Cross River Rail การขุดเจาะเส้นทางลอดผ่านใต้แม่น้ำบริสเบน ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการเดินทางและอำนวยความสะดวกของผู้สัญจรระหว่างทิศเหนือและใต้ของย่านธุรกิจนครบริสเบนมากยิ่งขึ้น โดยมีสถานีรองรับทั้งหมด 5 แห่ง ซึ่งสนาม The Gabba ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
สถานที่ท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญ Queen's Wharf แลนด์มาร์คสำคัญที่จะเป็นศูนย์รวมความบันเทิงแห่งใหม่ของชาวบริสเบน ก็กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างเช่นกัน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมระดับ5-6ดาว และเกมเซนเตอร์ขนาดใหญ่ กำลังจะถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะมาเยือนบริสเบนในอนาคต
เชื่อว่าจะมีแผนการพัฒนาอื่นๆตามมาเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่บริสเบนเท่านั้น รวมไปถึงเมืองใกล้เคียงอย่าง Gold Coast และ Sunshine Coast ที่จะใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันด้วย
นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ ที่เมืองบริสเบนจะได้เป็นที่จับตามองจากผู้คนทั่วโลก อาจจะกลายเป็นศูนย์กลางของความเจริญใหม่ที่จะเกิดขึ้น
เรามารอดูถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 11 ปีต่อจากนี้ แน่นอนว่าเมืองบริสเบนและเมืองรอบข้างเองจะเปลี่ยนไปอย่างที่เราคิดไม่ถึงเลยก็เป็นได้