แรกเริ่มเดิมทีชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลียไม่ใช่ชาวยุโรปผิวขาวตามที่หลายๆ คนเข้าใจนะคะ ชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลียจริงๆเรียกว่าชาว “อะบอริจิ้นส์”รูปร่างหน้าตาของชาวอะบอริจินส์คือ มีผิวคล้ำ ตัวใหญ่ ปากและจมูกหนาผมหยักโศก นอกจากชาวอะบอริจินส์แล้วประเทศออสเตรเลียในยุคแรกๆ ยังมีบรรดาชาวเกาะต่างๆ หลายเผ่าพันธ์ที่รวมตัวกันอยู่เกือบทั่วทั้งทวีปและมีภาษาที่ใช้แตกต่างกันไม่น้อยกว่า 100 ภาษา ในปัจจุบันนี้เรายังคงได้เห็นชนเผ่าอะบอริจินส์ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศออสเตรเลียและยังคงรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีแต่ดั้งเดิมของ "ชาวอะบอริจินส์” ไว้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับประวัติของประเทศออสเตรเลียหลายๆ คนเคยทราบจากการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์มาบ้างแล้วว่า เป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปที่เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2149 โดยเรือสแปเนียด ทอเรส ล่องผ่านช่องแคบซึ่งคั่นระหว่างออสเตรเลียกับปาปัวนิวกินี โดยนักสำรวจชาวดัตช์ได้ทำแผนที่ ทางชายฝั่งด้านเหนือและตะวันตกขึ้นมา ได้ค้นพบแทสเมเนีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่นักสำรวจคนแรกของอังกฤษ คือ วิลเลียม แดมเปียร์ ได้ขึ้นฝั่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2231 จนกระทั่งปี 2313 กัปตันเจมส์ คุก ซึ่งเดินทางมากับเรือเอ็น เดฟเวอร์ ได้ขยายเส้นทางสำรวจทะเลต่อไปยังทะเลแปซิฟิกใต้ เพื่อทำแผนที่ชายฝั่งตะวันออก และในครั้งนี้เองที่ได้ประกาศถือครองดินแดนแห่งนี้และให้อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าในทศวรรษนั้นได้มีการต่อสู้ระหว่างชนเผ่าผิวขาวและชาวอะบอริจินส์ เพราะชาวอะบอริจินส์ส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะต้องถูกปกครองโดย ”คนแปลกหน้าต่างถิ่น”
แต่อย่างไรก็ดีหลังจากสงครามประกาศอิสรภาพในประเทศสหรัฐอเมริกายุติลง ทางประเทศอังกฤษก็ได้เริ่มมองหาแผ่นดินใหม่เพื่อที่จะนำ”ผู้กระทำผิด” หรือนักโทษแยกไปอยู่ห่างจากหมู่เกาะอังกฤษ ซึ่งเซอร์ โจเซฟ แบงค์ ในตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็น The Royal Society และได้เคยล่องเรือไปกับกัปตัน เจมส์ คุก ได้เสนอให้ใช้เกาะออสเตรเลียเป็นสถานที่ใหม่สำหรับขนถ่ายนักโทษ มาถึงตอนนี้ก็อยากจะทำความเข้าใจอีกซักนิดหนึ่งให้กับผู้ที่เข้าใจผิดว่าออสเตรเลียในช่วงแรกคือนักโทษเท่านั้นที่ย้ายมาอยู่ ขอชี้แจงนิดนึงนะคะว่าชาวอังกฤษกลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ในประเทศออสเตรเลียนี้มาด้วยเรือ และเรือ 11 ลำแรกนั้นมี “ประชาชนคนธรรมดา” ซี่งมีจำนวนมากกว่านักโทษหลายเท่าตัว รวมทั้งมีการขนสัตว์ต่างๆมากมายที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผืนแผ่นดินใหม่นี้ เช่น ไก่ หมู เป็ด ไก่งวง แกะ ห่าน วัวตัวผู้ วัวตัวเมีย และม้า มิได้ย้ายเข้ามาแค่นักโทษตามที่หลายคนเข้าใจผิดกันมาตลอดนะคะ
ส่วนสาเหตุที่เรากำหนดให้วันที่26 มกราคม ของทุกปี เป็นวันชาติออสเตรเลียก็เพราะว่า เป็นวันที่ระลึกถึงการครบรอบวันที่กัปตัน Arthur Phillip ชูธงอังกฤษเป็นครั้งแรกที่ Sydney Cove และเป็นการเฉลิมฉลองการเดินทางของชาวยุโรปที่มาถึงออสเตรเลีย ในวันที่ 26 มกราคม 1788 ซึ่งเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของประเทศออสเตรเลียค่ะ ส่วนกิจกรรมนั้นก็จะมีพิธีอย่างเป็นทางการ โดยการกล่าวเปิดงานจากผู้นำท้องถิ่นของรัฐต่างๆ และมีการร้องเพลงชาติ ชักธงขึ้นสู่ยอดเสา ยิงปืนใหญ่และร่วมระลึกถึงบุคคลพิเศษในชุมชน และกิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในวันนี้ก็คือ การต้อนรับพลเมืองใหม่ของประเทศ (ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้รับเกียรติในการเข้าร่วมงานนี้แล้วด้วยเช่นกัน) วันชาติออสเตรเลียเป็นช่วงเวลาสำหรับชาวออสเตรเลียจากทุกหนทุกแห่งจะได้เฉลิมฉลองความเป็นเอกภาพของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่จะได้โบกสะบัดธงและได้มีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การจัดเลี้ยงบาร์บีคิว ซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักของประเทศออสเตรเลียเลยก็ว่าได้
กิจกรรมอีกอย่างที่สำคัญมากนั่นก็คือ ในวันชาติออสเตรเลีย ถือว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่พลเมืองกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ชนเผ่าอะบอริจินส์ จะออกมายกย่องให้เกียรติและขอบคุณกลุ่มอะบอริจินส์ ที่ได้ให้การยอมรับและทำตามกฎใหม่ๆ ของกลุ่มชนใหม่ๆ ที่มิใช่กลุ่มดั้งเดิมของตน ซึ่งในสมัยของรัฐบาลเควิน รัดด์ ได้เคยออกมากล่าว ”ขอโทษ” กับการกระทำในอดีตสมัยที่ชาวอังกฤษได้เข้ามาแย่งชิงหมู่เกาะนี้จากชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งงานนี้ก็เรียกน้ำตาจากชนเผ่าอะบอริจินส์ได้เป็นอย่างมาก และในปัจจุบันนี้ทางประเทศออสเตรเลียก็ได้ให้สิทธิในการยอมรับและยกย่องชนเผ่าอะบอริจินส์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าพื้นเมืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองชาวอะบอริจินส์ค่ะ
วันชาติออสเตรเลียจึงเป็นวันที่ประชาชนชาวออสเตรเลียได้ให้ความร่วมมือร่วมใจกันมาจัดกิจกรรมเพื่อประเทศออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีให้มีร่วมกันกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันประชากรของประเทศออสเตรเลียถือได้ว่ามีเชื้อชาติที่หลากหลาย เพราะชาวออสเตรเลียในปัจจุบันมาจากต่างชาติ ต่างภาษารวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะได้เห็นชาวออสเตรเลียหลายๆ ท่านมีสีหน้าแช่มชื่นด้วยปลาบปลื้มปิติด้วยรอยยิ้มเพราะเกิดจากการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างเป็นทางการค่ะ Happy Australia day