วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

Booking.com

'ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ DV' - ความรุนแรงภายในครอบครัว Domestic Violence ตอนที่ 1/4

เผยแพร่เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559 โดย MaBrisbane
Domestic Violence ตอนที่ 2/4 Domestic Violence ตอนที่ 2/4

ช่วงนี้เราจะเห็นการรณรงค์เรื่อง Domestic Violence (DV) หรือความรุนแรงภายในครอบครัว ทางทีวีในออสเตรเลียบ่อย ๆ โดยมีดาราและคนมีชื่อเสียงในออสเตรเลียออกมาช่วยประชาสัมพันธ์ต่อต้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ออสเตรเลียบางคนที่ประสบปัญหา DV กับตัวเองแต่ไม่รู้ตัว หรือรู้แต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เรามาทำความเข้าใจกันว่าการกระทำแบบไหนที่เรียกว่าเป็น DV หรือหากคนรู้จักของเรากำลังประสบปัญหานี้อยู่ เราจะทราบได้อย่างไร และจะมีวิธีแก้ปัญหา ช่วยเหลือ และติดต่อใครได้บ้าง

 

ความรุนแรงในบ้าน (Domestic and family violence) คืออะไร

Domestic and family violence (DV) เกิดขึ้นเมื่อคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงหรือกดขี่ข่มเหงให้อีกคนอยู่ใต้บังคับบัญชา DV เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่ใช้ความกลัวบังคับให้อีกคนต้องยอม ไม่สำคัญเลยว่าเราจะอายุเท่าไร เด็กหรือผู้ใหญ่ อยู่ด้วยกันมานานแค่ไหน สิ่งสำคัญคือเราอยู่ในที่ ๆ ปลอดภัยและได้รับการให้เกียรติเท่าเทียมกันรึเปล่า

 

ใครบ้างที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครอง DV ในรัฐควีนส์แลนด์

แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. ผู้ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง (intimate relationship) ได้แก่ สามีภรรยา, คู่หมั้น, de facto, แฟน
2. บุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ลูก
3. คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่ต้องการคนอื่นดูแล เป็นครั้งคราว (ไม่นับรวมไปถึงการพยาบาล)

 

20161128-dv-qps

 

เรามีสิทธิ์ถูกต้องที่จะ

  • แสดงความคิดเห็นโดยได้รับการรับฟังอย่างให้เกียรติ (ถึงแม้ว่าคนในครอบครัวของคุณจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนั้นก็ตาม)
  • มีอิสระในการคบหาและพัฒนาความสัมพันธ์
  • มีอิสระในความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ได้รับการให้เกียรติ และยอมรับ
  • มีความเสมอภาคในเรื่องของความต้องการทางร่างกายและอารมณ์กับคู่ของเรา
  • ไม่ถูกทำร้าย ดูถูก เหยียดหยาม

หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่า การทำร้าย คือโดนถูกทำร้ายให้เลือดตกยางออกทางร่างกายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการทำร้ายมีหลายรูปแบบ และไม่ได้เจาะจงแค่แผลบอบช้ำทางกาย แต่รวมไปถึงสภาพจิตใจ และสถานภาพทางสังคมของเราอีกด้วย

 

การกระทำที่ถือเป็นการทำร้ายคือ

  • การทำร้ายทางอารมณ์ (เช่น วิจารณ์บุคลิก นิสัย รูปลักษณ์ หรือการเลี้ยงดูลูกของเรา)
  • การทำร้ายทางวาจา (เช่น ตะโกน ตะคอก และสบถใส่)
  • คอยตามและราวี (เช่น โทรตามหรือตามติดตลอด ตามหาพิกัดของเราผ่านทางโซเชียล หรือ GPS)
  • การทำร้ายทางการเงิน (เช่น ให้เงินไม่พอใช้ในสิ่งที่จำเป็น หรือบังคับเอาเงินเราไป)
  • การทำร้ายร่างกาย (เช่น ตบตี หรือ ผลัก)
  • ทำลายข้าวของเพื่อทำให้เรากลัว (เช่น ต่อยกำแพงเป็นรู หรือพังของในบ้าน)
  • การทำร้ายทางสังคม (เช่น ไม่ให้เราออกไปเจอเพื่อนหรือญาติ กันเราออกจากคนที่เราแคร์)
  • การทำร้ายทางความเชื่อ (เช่น บังคับให้เราไป หรือห้ามไม่ให้ไปเข้าพิธีกรรมทางศาสนา หรืองานประเพณีต่าง ๆ )
  • การทำร้ายทางเพศ (เช่น บังคับข่มขืนให้ร่วมรัก)
  • ไม่ยอมให้เราได้ทานอาหาร ไม่มีที่ให้เราอยู่ ไม่ให้เราทานยาหรือได้รับการรักษาพยาบาล

นอกจากการทำร้ายเราโดยตรงแล้ว ยังมีการทำร้ายทางอ้อมรูปแบบอื่น ๆ อีก

 

การทำร้ายยังรวมไปถึงพฤติกรรมข้างล่างนี้

  • ทำร้ายเรา ลูก สัตว์เลี้ยง ญาติ เพื่อน หรือเพื่อนที่ทำงาน
  • ทำลายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อให้เรากลัว
  • ไม่ให้เราไปไหน (เช่น ขังไว้ในบ้าน)
  • หยุดให้การดูแลเอาใจใส่ (ในกรณีที่เราเป็นผู้สูงอายุ หรือไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น)
  • เปิดเผยรสนิยมทางเพศของเราให้คนอื่นรับรู้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเรา
  • จะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเพื่อทำให้เรากลัวและยอม

 20161128-dv-facts-1

สัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังประสบปัญหา DV

ผู้ที่ประสบ DV อาจจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • กลัวผู้คนรอบข้าง
  • พยายามปิดร่องรอยการถูกทำร้าย (เช่น ใส่เสื้อแขนยาวในหน้าร้อน หรือมีคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นว่าได้รับบาดเจ็บมาได้อย่างไร)
  • ไม่ค่อยพูดถึงการใช้เงิน
  • หายหน้าไปจากเพื่อน ๆ และญาติ ๆ
  • จิตตก เงียบผิดปกติ หรือสูญเสียความมั่นใจ
  • สังเกตได้ว่าไม่ได้รับการดูแลในกรณีของผู้สูงวัย หรือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • มีแฟนที่ชอบกล่าวหาว่าเรามีชู้ หรือตามติดคอยเชคอยู่ตลอดว่าไปไหน ทำอะไร อยู่กับใคร
  • ไม่อยากทิ้งลูกไว้กับแฟน
  • มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกสะกดรอยตาม

 

ผลกระทบจาก DV ที่มีต่อเด็ก

เด็กได้รับผลกระทบจาก DV ด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้การทำร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาก็ตาม ซึ่งอาจมีผลทำให้เด็ก:

  • พยายามที่จะหยุดการทำร้าย แต่กลายเป็นว่าทำให้ตัวเขาเองต้องอยู่ในอันตราย
  • โทษตัวเอง
  • ลอกเลียนแบบพฤติกรรมการทำร้าย ไปรังแกผู้อื่น หรือทารุณสัตว์
  • โดนรังแก
  • รู้สึกกลัว ตื่นกลัว รู้สึกผิด หรือซึมเซา
  • ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้ว หรือฝันร้าย
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่โรงเรียน และผลการเรียนตก
  • มีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดหัว หอบหืด และติดอ่าง
  • หนีออกจากบ้าน
  • พยายามฆ่าตัวตาย หรือ ทำร้ายตัวเอง
  • ติดยาหรือแอลกอฮอล์

 

การช่วยเหลือเด็กหรือวัยรุ่น

พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่เกิด DV สามารถช่วยเหลือเด็กได้โดย..

  • รู้ว่า DV ระหว่างผู้ใหญ่สามารถทำร้ายเด็กได้ด้วย
  • สอนเด็กให้รู้ว่าไม่มีข้อแม้ใด ๆ ที่ถูกต้องในการที่จะทำร้ายและสร้างความรุนแรง
  • บอกและย้ำให้เข้าใจว่าการทำร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา
  • บอกเขาว่าเขาได้รับความรักนะ มีคนรักเขา
  • ติดต่อกับทางโรงเรียน คุยกับอาจารย์ อาจารย์ใหญ่ หรือ อาจารย์ที่ปรึกษา
  • คอยบอกและสนับสนุนให้เขาพูดออกมาว่ารู้สึกอย่างไร และมีเรื่องไหนบ้างที่เขากังวล
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาได้
  • สอนให้เด็กรู้จักโทรขอความช่วยเหลือ และโทรเบอร์ 000 (ศูนย์ ศูนย์ ศูนย์) เมื่อต้องการการช่วยเหลือจากตำรวจ พร้อมกับให้เด็กจำที่อยู่ตัวเองให้ได้
  • จัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยขอความช่วยเหลือจากองค์กรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ DV และหาโอกาสพาตัวเองกับเด็กย้ายออกไปพักอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย

 

 

สำหรับในตอนแรกขอทิ้งท้ายไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ในครั้งต่อไปเราจะมาคุยกันต่อในเรื่อง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบปัญหาหรือถูกกระทำจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ว่ามีสัญญาณบ่งชี้อย่างไรบ้าง และเราจะช่วยเหลือเค้าเหล่านั้นได้อย่างไร

 

20161128-dv-qld-trust-your-instinct

ช่องทางการขอความช่วยเหลือด้าน Domestic Violence

หน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย

 

ที่มา: www.qld.gov.au - "About domestic and family violence"

MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State