ในตอนที่แล้ว 'ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ DV' เราได้พูดถึงเรื่องภาพรวมของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สำหรับในตอนที่ 2 นี้เราจะมาพูดกันต่อถึง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบปัญหาหรือถูกกระทำจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเราจะช่วยเหลือเค้าเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง..
สัญญาณบ่งบอกว่ามี DV เกิดขึ้นกับคนที่เรารู้จัก
- หากเพื่อนหรือญาติของเรามีอาการดังต่อไปนี้ อาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าพวกเขากำลังประสบกับ DV อยู่
- ดูเหมือนจะกลัวคู่ของเขา เวลาอยู่ด้วยกัน จะไม่ค่อยพูด เด็กจะดูกลัว ๆ หรือจะเรียบร้อยผิดปกติ
- พยายามเอาใจคู่ของเขาอย่างมาก
- พูดว่าแฟนของเขาตามติดตลอด โทรจิก เมสเสสมา อยากรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไร อยู่กับใคร
- ถูกแฟนของเขาวิพากย์วิจารย์ หรือต่อว่า ต่อหน้าเรา
- เล่าให้ฟังว่าคู่ของเขาขี้หึงหวงมากและชอบกล่าวหาว่าเขากิ๊กกับคนอื่น
- เล่าให้ฟังว่าคู่หรือคนในครอบครัวอารมณ์รุนแรง หรือหงุดหงิด โดยเฉพาะเวลาเมา
- มีแผลฟกช้ำ กระดูกหัก หรือร่องรอยการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่เจ้าตัวบอกว่าเกิดจากการล้มหรืออุบัติเหตุ เป็นประจำ
- ใส่เสื้อผ้ามิดชิดแม้แต่ในอากาศร้อน แต่งหน้าเข้ม ใส่แว่นกันแดดแม้แต่เวลาอยู่ในตึก เพื่อปกป้องร่องรอยการถูกทำร้าย
- มาทำงานหรือตามนัดสายเป็นประจำ หรือยกเลิกนัดกะทันหัน
- หยุดการติดต่อกับเรา เพื่อนคนอื่น และญาติ ๆ
- เล่าให้ฟังว่าแฟนของเขาควบคุมการเงินในบ้าน (เช่น ไม่ให้เงินใช้ หรือให้ไม่พอใช้ แล้วก็มาคิดทุกบาททุกสตางค์ที่เขาใช้)
เราสามารถช่วยเหลือผู้ประสบกับ DV ได้อย่างไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือญาติของเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือการที่มีเราอยู่เคียงข้าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ทันที แต่เราอาจจะช่วยให้เขาได้คิดหาทางออก มองเห็นทางลือกได้มากขึ้น และที่สำคัญ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย
การที่จะเริ่มเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง DV ขึ้นมาอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนใหญ่แล้วคู่ของเหยื่อจะโทษซ้ำ ๆ ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเหยื่อเอง ทำให้เหยื่ออาจมีความกลัวที่จะถูกวิจารณ์และจะตั้งป้อมกำแพงเพื่อปกป้องตัวเอง
- ให้เริ่มเปิดบทสนทนาเมื่อเราอยู่กับเขาสองต่อสอง ในที่ ๆ ปลอดภัยจากบุคคลภายนอก และแน่ใจว่ามีเวลาสำหรับคุยกันเรื่องนี้พอ เขาอาจจะรู้สึกปลอดภัยและเชื่อใจเรามากพอที่จะเล่าและให้เราเก็บเป็นความลับระหว่างกัน การเริ่มต้นบทสนทนาเช่น “ฉันเป็นห่วงเธอจังเลยเพราะเราไม่ค่อยได้เจอกันช่วงนี้” หรือ “ดูเธอไม่ค่อยมีความสุขเลยนะช่วงนี้” อาจจะช่วยให้เขาเริ่มเปิดใจพูด
- มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องเชื่อในสิ่งที่เขาเล่า โดยมากเขาจะเล่าถึงความรุนแรงที่น้อยกว่าความเป็นจริงมากกว่าที่จะใส่ไข่ ผู้ทำร้าย (Abusers) หลาย ๆ คนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อคนทั่วไป ทำให้สิ่งที่เราเห็นอาจจะแตกต่างจากการกระทำที่เขาทำต่อคู่ของเขาที่เราได้รับฟัง
- พยายามตั้งใจฟังและไม่ตัดสินหรือตั้งข้อสรุปอะไร อย่าบอกเขาว่าต้องทำอย่างไร แต่พูดให้เขาได้มองเห็นทางเลือกซึ่งอาจเป็นทางออกจากสถานการณ์นี้
- หลังจากที่คุยกันเสร็จแล้ว บอกให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วงและถามเขาว่ามีอะไรที่เราช่วยได้มั้ย พูดให้ชัดเจนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเกิดจากคู่ของเขา ไม่ใช่ตัวเขา และตัวผู้ถูกทำร้ายไม่สามารถที่จะหยุดพฤติกรรมความรุนแรงนี้เองได้ ไม่ว่าเขาจะพยายามมากแค่ไหน
- เราควรจะบอกให้เขารู้ว่ามีองค์กรณ์ที่สามารถช่วยเขาได้ รวมไปถึงการช่วยพาหนีออกมาหากนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราคิดว่าสถานการณ์ของเขาต้องการการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เราควรช่วยสนับสนุนให้เขาติดต่อขอความช่วยเหลือไปด้วยตนเอง
- ถ้าคิดว่าเราอาจจะต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเขา เราจะต้องแจ้งให้เขาทราบ แต่บอกให้เขาสบายใจว่าเราจะไม่เอ่ยชื่อหรือบ่งบอกว่าเป็นเรื่องของใคร
- คอยเป็นเพื่อนและติดต่อกันอยู่ตลอด ในขณะเดียวกันก็คอยย้ำเขาว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอยู่โดยปราศจากการทำร้าย หากเขาต้องการที่จะหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ก็ให้ช่วยเหลือ และหากเขาอยู่ในอันตรายให้โทรสายด่วนหาตำรวจที่เบอร์ 000 (ศูนย์ ศูนย์ ศูนย์)
แม้ว่าเราจะต้องการช่วยเหลือเขา แต่ตัวเราเองก็ต้องปกป้องตัวเอง โดยไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์รุนแรง หรือโต้แย้งกับผู้ทำร้าย
หากผู้ถูกทำร้ายไม่อยากเล่าล่ะ
แม้ว่าเขาจะไม่อยากพูด แต่เราก็ควรที่จะบอกให้เขาทราบถึงความเป็นห่วง บอกเขาว่า DV เป็นเรื่องที่ไม่โอเคและเขาก็ไม่ได้ทำอะไร หรือสมควรที่จะต้องมาโดนทำร้ายแบบนี้ ทำให้เขารู้ว่าเราจะอยู่ข้างเขา และพร้อมเสมอที่จะรับฟังและช่วยเหลือเมื่อเขาพร้อมที่จะเล่า
เพื่อนของฉันไม่ยอมที่จะหยุดความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนี้ ฉันจะทำยังไงดี
เราไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้นอกจากอยู่ข้าง ๆ คอยเป็นกำลังใจให้ แต่หากเขาอยู่ในอันตรายร้ายแรงและต้องการความช่วยเหลือทันที ต้องโทรแจ้งตำรวจที่เบอร์ 000 (ศูนย์ ศูนย์ ศูนย์) การที่จะหยุดความสัมพันธ์เป็นเรื่องยากแม้ว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งสาเหตุอาจจะมีอยู่หลายข้อด้วยกันว่าทำไมผู้ที่ถูกทำร้ายถึงไม่สามารถหยุดความสัมพันธ์นี้ได้ เช่น
- กลัวตาย หรือลูกจะถูกทำร้าย หรือญาติจะพลอยติดร่างแหไปด้วย
- เชื่อว่าหนีไปไหนก็ไม่รอด
- เชื่อว่าคู่ของเขาจะหยุดการกระทำนี้ได้ และหวังว่าความสัมพันธ์จะกลับไปดีเหมือนเดิมก่อนหน้าที่จะเกิดความรุนแรง
- เชื่อว่าเขาสามารถหยุดเรื่องนี้ได้เอง หรือลูกจะสามารถทำได้
- ฟังคนอื่น เช่น ญาติ เพื่อน ผู้หลักผู้ใหญ่ บอกให้ให้โอกาสคู่ตัวเองในการปรับปรุงตัว
- มีความเชื่อทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมว่าจะต้องอยู่กับคู่แต่งงานไปตลอดชีวิต
- กลัวว่าจะถูกแยกออกจากญาติและเพื่อน
- รู้สึกผิดและเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเขาเอง
- หวังว่าหากเขาเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คู่ของเขาก็จะหยุดความรุนแรงไปเอง
- ไม่มีเงินพอที่จะดูแลตัวเองหรือลูก
- กลัวว่าจะพรากจากลูก
- ไม่อยากจะหยุดความสัมพันธ์เพราะลงทุนเสียเวลากับคนนี้ไปมากแล้ว
ควรจะพูดอะไรกับคนลงมือมั้ย
ไม่ควรจะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้กับเขา เพราะอาจจะทำให้ตัวเราตกอยู่ในอันตราย และอาจทำให้คนที่ถูกทำร้ายเจ็บตัวมากขึ้น
หากผู้ที่ถูกทำร้ายมีลูกล่ะ
ถึงแม้ว่าตัวเด็กเองจะไม่ได้โดนทำร้ายโดยตรง แต่ DV ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรง เราสามารถบอกเด็กได้ว่าเราเป็นห่วงเขานะ และสามารถช่วยเขาได้ตามนี้ (ลิงค์ไป การช่วยเหลือเด็กหรือวัยรุ่น)
จบไปแล้ว 2 ตอน เรายังเหลืออีก 2 ตอน สำหรับบทความเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในตอนหน้านั้นเราจะมาพูดกันถึงเรื่อง 'การเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัยของตัวเองสำหรับผู้ที่ประสบ DV' สำหรับใครที่กำลังตกอยู่ในปัญหานี้หรือรู้จักคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงด้าน DV สามารถติดต่อได้ตามข้อมูลด้านล่างนี้..
ช่องทางการขอความช่วยเหลือด้าน Domestic Violence
หน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย
- สายด่วนฉุกเฉิน - โทร: triple zero (000) (24 hours, 7 days a week)
- DVConnect Womensline - โทร: 1800 811 811 (24 hours, 7 days a week)
- DVConnect Mensline - โทร: 1800 600 636 (9am to midnight, 7 days a week)
- Kids Helpline - โทร: 1800 55 1800 (24 hours, 7 days per week)
- Lifeline - โทร: 13 11 14 (24 hour Crisis Counselling Line)
ที่มา: www.qld.gov.au - "Support someone experiencing domestic and family violence"