วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2567

Booking.com

สัมภาษณ์ ปอ-ณภัค นักเรียน Ph.D ไทยจาก UQ กับงานวิจัยยารักษาโรคไข้เลือดออก ตัวแรกของโลก!

เผยแพร่เมื่อ 05 พฤศจิกายน 2558 โดย MaBrisbane
PhD student Naphak Modhiran, Dr Daniel Watterson, Assoc Prof Kate Stacey, Prof Paul Young PhD student Naphak Modhiran, Dr Daniel Watterson, Assoc Prof Kate Stacey, Prof Paul Young รูปประกอบ: UQ media press

ทีมงานรู้สึกตื่นเต้นและทึ่งเป็นอย่างมาก กับการได้มีโอกาสนั่งพูดคุยและทำความรู้จักกับเด็กนักเรียนไทยในเมืองบริสเบน, ออสเตรเลีย ว่าที่ดอกเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์(The University of Queensland, UQ) คุณ ปอ - ณภัค โหมดหิรัญ ที่เราได้ทราบข่าวมาว่า เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ที่กำลังค้นคว้ายาสำหรับรักษาผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ตัวแรกของโลก.!! (UQ scientists close in on first dengue treatment) และเมื่อได้ทราบประวัติก็ยิ่งแปลกใจ เพราะงานอดิเรกของเค้าไม่ธรรมดาเช่นกัน เราไปทำความรู้จักกับคนเก่งของเราเลยดีกว่า..

 

ช่วยแนะนำตัวเองหน่อย ตอนนี้เรียน/ทำงานอะไร ที่ไหนครับ

ปอ: ขื่อ ณภัค โหมดหิรัญ ชื่อเล่น ปอ ตอนนี้เรียน Ph.D ที่ UQ สาขา Chemistry and Molecular Bioscience ค่า มาอยู่ที่บริสเบนนานแค่ไหนแล้วครับ เกือบ ๆ 3 ปีแล้วค่ะ

 

ก่อนหน้าที่จะมาที่บริสเบน ได้ข่าวว่าเคยไปที่ประเทศอื่นมาก่อน พอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ หน่อยได้มั้ยครับว่าไปเรียน/ทำงานอะไรมาบ้าง

ปอ: ไปแคนาดาและก็ฝรั่งเศสค่า ที่แคนาดาไปเรียนเอก แต่ว่าลาออกมาก่อน ที่ฝรั่งเศสไปทำงานเป็นนักวิจัยค่ะ

 

กลับมาที่บริสเบนกันบ้าง ทราบมาว่าได้ลงข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยที่ทำอยู่ เกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ

ปอ: งานวิจัยหลักคือ การศึกษาคุณสมบัติของโปรตีนตัวนึงของไวรัสที่ก่อโรคไข้เลือดออก หลัก ๆ คือ.. ทีมเราเป็นที่แรกของโลกที่พบว่าโปรตีนตัวนี้(NS1 protein) เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหลักของโรคไข้เลือดออก(Dengue fever) นั่นคือการที่มีเลือดออกตามผิวหนัง ช่องท้อง และช่องปอดค่ะ

20151105-naphak-phd-mozzie
'ยุงลาย' พาหะของโรคไข้เลือดออก
รูปประกอบ: UQ News

นอกจากนี้เรายังพบอีกว่า โปรตีนตัวนี้ทำหน้าที่คล้ายกับส่วนที่ทำให้เกิดโรค Sepsis ของ Bacteria (ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่มาจาก Bacteria) ที่สำคัญคือ มียาในท้องตลาดหลายตัวที่ผ่านการทดสอบ ทดลอง และอนุมัติจากองค์การยา สามารถใช้รักษาโรค Sepsis สิ่งที่เราพบในการทดลองของเราคือ สารที่ใช้เพื่อยับยั้งกับโรค Sepsis นี้สามารถทำให้หนูทดลองที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมีอาการที่ขึ้น

 

หากงานวิจัยนี้สำเร็จและนำมาใช้จริง จะมีอะไรเกิดขึ้นกับงานวิจัยนี้บ้าง

ปอ: ขณะนี้ทีมเราและบริษัทยากำลังเดินหน้าทำให้มีการทดลองในคนเกิดขึ้น อย่างที่เรียนไปแล้วข้างต้น คืออนาคตเราหวังว่าเราจะสามารถมียาสำหรับผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ที่ใช้ได้จริงออกสู่ท้องตลาดได้เร็วที่สุดค่ะ เราหวังว่ายาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก

20151105-naphak-phd-2

 

อะไรคือแรงบันดาลใจในการเลือกทำวิจัยนี้ครับ

ปอ: หนึ่งในแรงบันดาลใจมาจากการที่ ไข้เลือดออก เป็นโรคอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทำให้เราเล็งเห็นว่า.. เราควรทำสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งปอเลือกทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ปอมองว่าในเมื่อเรามี resource อยู่ในประเทศ และเราสามารถเข้าถึง resource นั้นได้ เราสามารถใช้ resource และความรู้ที่เรามีประกอบกัน จะทำให้เราได้องค์ความรู้ใหม่ได้เร็วที่สุดค่ะ

 

มีผู้ที่มีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ไหม?

ปอ: งานวิจัยชิ้นได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลของออสเตรเลีย และเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย UQ ค่ะ

 

นอกจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ในงานวิจัยแล้ว รู้มาว่า งานอดิเรกยังชอบส่องกล้องถ่ายรูปด้วยใช่มั้ย.. พอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยว่า เป็นมายังไงถึงชอบถ่ายรูป และไปเที่ยวถ่ายรูปที่ไหนมาแล้วบ้าง.

ปอ: ฮ่า ๆ ใช่ค่า เดิมทีเป็นคนชอบเที่ยวมาก ถึงมากที่สุด ชอบไปในที่ใหม่ ๆ ชอบการเอาชนะใจตัวเองด้วยการไปพบเจอที่ต่าง ๆ ที่อยู่นอก comfort zone ของตัวเองคะ และชอบการเอาชนะขีดจำกัดของร่างการและความรู้สึก เช่นการเดินป่า ปีนเขา ไปในที่หนาว ๆ การผจญภัย ต่าง ๆ แต่เนื่องมาจากว่าการเดินทางคนเดียวบางทีมันก็เหงาและเบื่อ การถ่ายรูปเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้การเดินทางของเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นคะ หลัง ๆ การถ่ายรูปเลยเป็นมากกว่างานอดิเรกค่ะ เป็นช่องทางในการเงินเผื่อการเดินทางท่องโลกไปในตัวด้วยคะ สถานที่ก็ไป ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ อเมริกาเหนือ (อเมริกา แคนาดา) ยุโรปเหนือและตะวันออก ลาว พม่า เขมร และ ออสเตรเลีย (หากนับว่าไปเที่ยว :) )

20151105-naphak-golden-gate
Golden Gate Bridge, San Francisco USA
20151105-naphak-canada-tombstone-mt
Tombstone Mountain, Canada
รูปประกอบ: Por Naphak Cusycon

 

แล้วแบบนี้ แบ่งเวลาด้านการเรียน/ทำงาน และท่องเที่ยวยังไงครับ

ปอ: เวลาส่วนใหญ่ของปอยังให้กับเวลาเรียนค่ะ เพราะเรามานี่จุดประสงค์หลักที่เราต้องไม่ลืมคือเรียนให้จบ ส่วนถ่ายรูปนั่นก็มีเวลาพักของปีปีละสองครั้ง ที่จะได้มีเวลายาว ๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์ และวันเสาร์ อาทิตย์ที่ว่างจากการเรียนค่ะ

 

ช่วยแชร์ประสบการณ์ดี ๆ ของการเป็นนักศึกษา/นักวิจัยและการใช้ชีวิตที่บริสเบนให้ฟังหน่อยครับ รวมถึงความประทับใจและประโยชน์ที่ได้รับ

ปอ: ประสบการณ์ของการเป็นนักศึกษาทำให้เราได้พัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา การใช้ชีวิต ปอว่าจริง ๆ ความยากของการเรียน Ph.D คือการ balance ชีวิตของเราให้ดี คือการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้ประสบ ความสำเร็จไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่เสียด้านใดด้านหนึ่งไป ไม่ว่าจะเป็น การเรียน สุขภาพ ความรัก งานอดิเรก ครอบครัว เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตที่บริสเบนสอนปอว่าควรจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างลงตัวค่ะ และปอเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ที่เราได้รับจะทำให้เราเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมค่ะ

 

อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ คนที่กำลังตัดสินใจจะเรียนต่อเมืองนอก/หรือทำงานด้านนี้บ้าง

ปอ: สิ่งสำคัญที่ไม่ว่าใครก็ควรจะมีคือ ต้องรู้ว่าเราชอบ/รักที่จะทำอะไร และทำในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ที่สุด หากเรารักจะทำหลายอย่างเราต้องมั่นใจว่าเราต้องทำให้เต็มที่ในทุก ๆ เรื่อง การมาเรียนต่างประเทศที่สิ่งเป็นปัญหาสำคัญอาจจะเป็นเรื่องของภาษา แต่ปอเชื่อว่าความตั้งใจจะทำให้เราประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องค่ะ

 

เป็นอย่างไรกันบ้าง.. นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเลย สำหรับเด็กรุ่นใหม่ในตอนนี้ ที่แม้จะชอบท่องเที่ยว รักอิสระ แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญไปที่ด้านการเรียน และทำงานควบคู่กันกันไปด้วย ทีมงานขอขอบคุณ น้องปอ - ณภัค เป็นอย่างยิ่งสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ และขอเอาใจช่วยให้งานวิจัยนี้สำเร็จโดยเร็วนะครับ

MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State