วันพุธ, 22 มกราคม 2568

Booking.com

ประสบการณ์เรียนต่อออสเตรเลีย (ตอนที่ 3 เตรียมตัวก่อนเดินทางสู่ออสเตรเลีย)

เผยแพร่เมื่อ 29 ต.ค. 2015 โดย ปาโปย ปาโปย

กราบสวัสดีค่า.. พ่อแม่พี่น้องและเพื่อนๆทุกคน เรากลับมาพบกันอีกแล้วกับบทความที่สามของปาโปย เป็นยังไงกันบ้างคะกับสองบทความที่ผ่านมา (ตอนที่ 1 ปลายทางที่บริสเบน, ตอนที่ 2 ตัดสินใจเลือกคอร์สเรียน)

หลายคนอาจจะมีไอเดียหรือแนวคิดเป็นของตัวเองบ้างแล้ว บางคนอาจจะยังสับสนอยู่ อยากแนะนำให้ลองหาเวลาว่าง ๆ แล้วนั่งคิดทบทวนกับตัวเองดูค่ะ หรือหาคนคุยแชร์ความคิดแชร์ประสบการณ์ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือปรึกษาคนในครอบครัวค่ะ เพราะก่อนที่ผู้เขียนจะมาก็นั่งคุยกับพ่อ เค้าก็เล่าเรื่องราวในอดีตสมัยยังหนุ่ม ๆ ฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตการทำงานมาไม่น้อย จนปัจจุบันก็ยังลำบากอยู่ที่ต้องมาส่งเด็กตัวโต ๆ เรียนถึงทุกวันนี้ ฮ่าๆๆ จริง ๆ เราใช้ความลำบากของพ่อแม่เอามาสร้างเป็นแรงผลักดันให้เราเอง ให้เราสู้ ให้เราขยัน แล้วนึกถึงสิ่งที่พ่อกับแม่สั่งสมทำเพื่อเราต่างหากค่ะ ท่านยังทำเพื่อเราได้ ทำไมเราจะทำเพื่อท่านไม่ได้ จริงมั้ย?

 

..กลับมาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าค่ะ ในเรื่องนี้เราจะมาพูดถึงการเตรียมตัวเตรียมใจ สิ่งไหนที่ควรจะเตรียมก่อนมาถึงออสเตรเลีย โดยส่วนใหญ่ข้อมูลมาจากการที่ผู้เขียนเจอมากับตัวเองเลยและเนื้อหาบางส่วนที่มาจากคนรอบข้างค่ะ

1. การเตรียมตัว

1.1) ศึกษาเรื่องของเงื่อนไขทางวีซ่า

หากกำลังคิดจะเดินทางมายังออสเตรเลียไม่ว่าจะมาเรียนหรือทำงาน ควรศึกษาเรื่องวีซ่าให้ชัดเจน เข้าใจข้อกำหนดของวีซ่า โดยวีซ่าแต่ละประเภทจะมีข้อกำหนดต่างกันไป และวีซ่าบางประเภทไม่อนุญาตให้ทำงานค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากใครที่ถือวีซ่านักเรียนจำเป็นที่จะต้องเข้าเรียน 80% ของระยะเวลาเรียนในคอร์สหรือเทอมนั้น ๆ กฏข้อนี้นักเรียนต่างชาติต้องปฏิบัติตามนะคะ มิฉะนั้นทางสถาบันจะต้องรายงานไปยังอิมมิเกรชั่น หลังจากนั้นเจ้าหน้าทีก็จะมารับตัวเราไปส่งยังสนามบินเพื่อส่งตัวกลับประเทศทันทีค่ะ

1.2) ทำความเข้าใจในคอร์สที่กำลังจะเรียน

ควรเข้าใจคอร์สที่เรากำลังจะลงเรียนว่าคอร์สเป็นแบบไหน เรียนแบบไหน part-time, full-time ถึงแม้จะเป็นในระดับ Tertiary Program หรือ General English แต่คอร์สก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมดในทุกสถาบัน ถ้าหากต้องการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยให้ลองคิดดูว่าอยากทำงานกี่% เรียนกี่% อย่างเช่น เราอยากเรียนภาษาก่อนโดยมีแนวโน้มที่จะเรียนต่อป.โทด้วย เราก็จะคุยกับเอเจนท์เลยว่า ควรจะลงคอร์สเรียนแบบไหนดี และหากอยากทำงานไปด้วยมันจะหนักและเหนื่อยไปรึเปล่า ในกรณีที่มาเองโดยไม่ผ่านเอเจนท์แนะนำให้ลองคุยกับทางโรงเรียนดูค่ะ ที่นี่ทุกโรงเรียนจะมีฝ่ายแนะแนวหรือเรียกว่า Counselor เป็นคนคอยให้คำปรึกษากับนักเรียนค่ะ ทั้งในเรื่องการเรียนและปัญหาการใช้ชีวิตที่ออสเตรเลีย

1.3) ภาษาอังกฤษ

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนมาถึง อาจจะลองฝึกทักษะทั้ง 4 skills คือ Speaking, Writing, Reading, and Listening เพราะถ้าหากมีพื้นฐานมาบ้าง อาจจะทำให้เราสามารถเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น และขยับไปเรียนในระดับสูงได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ ที่สำคัญคือภาษาอังกฤษก็มีผลกับการสมัครงานด้วย เพราะเราต้องสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติอยู่เป็นประจำ

1.4) เอกสารสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ต, บัตรประชาชน, ใบขับขี่, ทะเบียนบ้าน, ใบรับรองการศึกษา, ใบรับรองการผ่านงาน(ถ้ามี), ใบรับรองการเข้าเรียนจากสถาบัน(COE) และ วีซ่า แนะนำให้สำเนาเก็บใส่แฟ้มไว้แล้วพกติดตัวมาด้วย รวมถึงสำเนาให้คนที่บ้านเก็บไว้สักหนึ่งชุดในกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัญคือสแกนส่งเข้าอีเมล์ไว้ด้วยก็ดีค่ะ เพราะสามารถช่วยได้เยอะเลยในกรณีที่ต้องใช้เอกสารอย่างเร่งด่วน หรือการสมัครวีซ่าใหม่ในอนาคต

1.5) ควรศึกษาเรื่องการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน

โดยสามารถฝึกได้จากการใช้ Google map จากบ้านไปโรงเรียน แล้วเลือกเดินทางโดย Public transport แทนค่ะ หรือถ้าจะเอาเวลาแบบละเอียดจริง ๆ ก็ลองเช็คกับทางเว็บไซต์ของผู้ให้บริการขนส่งในพื้นที่ เช่นของบริสเบนและควีนส์แลนด์ก็ที่เว็บ TRANSLink เป็นต้น ทีนี้ก็จะแสดงถึงเส้นทางระยะเวลา ทำให้เราสามารถประมาณเวลาและวางแผนการเดินทางได้ค่ะ

 

2. การเตรียมใจ

2.1) หาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจค่ะ

อาจจะเข้าวัด ไปโบสถ์ ทำบุญ อย่างของเราคือ เข้าวัดใส่บาตรฟังเทศน์ทุกวันอาทิตย์ไปเที่ยวในสภานที่อยากไป กินอาหารที่อยากกิน โดยทำเป็นรายการ 10 อย่าง Must Do ก่อนมาออสเตรเลีย ฮ่าๆๆ มันอาจจะดูตลกไปหน่อย แต่พอมาอยู่ที่นี่นานๆ มันก็แอบมีอารมณ์คิดถึงบ้านบ้างค่ะ แต่พอเปิดดูรูปเหล่านั้นมันก็ทำให้หายคิดถึงบ้านได้เหมือนกัน

2.2) คุยกับคนครอบครัวให้มากที่สุดค่ะ

บางคนอาจจะมีเพื่อนหรือญาติพี่น้องอาศัยอยู่ที่นี่ ในกรณีของเรา เรามาที่นี่ตัวคนเดียว ตอนก่อนมาเราก็พยายามคุยกับพ่อแม่ให้เยอะ ๆ แสดงความมั่นใจให้เค้าเห็นว่า เราสามารถไปเผชิญโลกใบใหม่คนเดียวได้ โดยที่เค้าไม่ต้องกังวลมากค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ซึมซับเวลาเหล่านี้เข้าไว้ค่ะ มันเหมือนกับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเลยก็ว่าได้ ที่เราอาจจะได้เปิดใจคุยกับคนในครอบครัว เพราะลึกๆแล้วท่านก็คงเป็นห่วงเราอยู่ไม่น้อย โดยพ่อจะชอบพูดกับเราเสมอว่า “ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ เราก็ยังเป็นเด็กในสายตาพ่อกับแม่เสมอ” (น้ำตาซึม...)

2.3) ในกรณีที่มีแฟน..............

เรื่องนี้ไม่ขอกล่าวถึงดีกว่าค่ะ ฮ่าๆๆๆ ใครมีคำแนะนำดี ๆ ก็ฝากมาหลังไมค์ด้วยละกันนะคะ

 

3. ร่างกายของเรา..   

3.1) อย่างแรกและสำคัญที่สุดคือ... ท้าดาาา... ทำฟันค่ะ

ขูดหินปูน อุดฟัน ฟันผุ จะอะไรก็แล้วแต่.. ทำก่อนเลยนะคะ เช็คสุขภาพในช่องปากก่อนเลย ส่วนคนที่จัดฟันแนะนำให้คุยกับคุณหมอให้แน่ชัดเลยนะคะ ว่าเราจะเดินทางมาเรียนหรือทำงานต่างประเทศเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ควรจะใส่เหล็กอยู่แบบนั้น หรือควรจะถอดมันออก หรือควรจะหาหมอในออสเตรเลีย หรือจะบินไปบินกลับ..

เหตุผลที่ยกการทำฟันมาเป็นอันดับแรก เพราะว่าค่าทำฟันที่นี่แพงมากกกกกกกกค่ะ เราก็เป็นคนนึงทำฟันก่อนมาที่นี่ ตอนนี้ฟันก็ยังไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ และคิดว่าถ้าได้กลับไทยอีกรอบสิ่งแรกที่จะทำคือ เข้าร้านหมอฟันนี่หละค่ะ

3.2) ปัญหาสายตา

เราก็เป็นคนหนึ่งที่สายตาสั้น ตอนที่มาแรกๆ ก็พกแว่นมาสามอัน เพราะเป็นคนชอบวางของทิ้ง มีหลายอันไว้อุ่นใจกว่า ส่วนคอนแทคเลนส์ตอนนั้นก็ซื้อมาจากที่ไทยเลยเพราะเพื่อนแนะนำไม่ได้ว่าที่ไหนจะแพงกว่ากัน จนตอนนี้เลยคิดว่าเราโชคดีแล้วที่เตรียมมาจากไทย เพราะน้องในบ้านเราดันเหยียบแว่นของตัวเองหัก แล้วน้องเค้าพกแว่นมาอันเดียว เลยต้องพากันเข้าร้านตัดแว่น ร้านตัดแว่นที่นี่ก็เหมือนกับที่ไทยคือเลือกกรอบได้ตามใจชอบ แล้วก็ไปวัดสายตา แต่ต่างกันตรงที่ หลังจากเราวัดสายตาเสร็จนั้นเราต้องพบแพทย์ค่ะ ซึ่งในขั้นตอนนี้เราต้องเสียค่าแพทย์เพิ่มประมาณ $60-$80 ซึ่งเทียบเป็นเงินไทยแล้วตัดแว่นใหม่ได้อีกอันเลยนะคะเนี่ย

3.3) สำหรับสาว ๆ ทั้งหลายที่ใส่ใจเรื่องผมเป็นพิเศษ

แนะนำให้วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดินเข้าร้านป้าทำผมใกล้ๆบ้าน นอนให้แกสระ-ไดร์ อบไอน้ำ ทำสี ตัดผม ทำมาตามใจชอบเลยค่ะ เพราะค่าตัดผมที่นี่ก็แพงมากเช่นกัน อย่างร้านตัดผมที่ราคาถูกที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 900 บาทไทยเท่านั้นเองงงงง...

สำหรับทรงผมผู้ชายขั้นต่ำจะอยู่ที่ราคาหัวละ 10 ดอล หรือคิดเป็นเงินไทยไม่เกิน 300 บาทค่ะ แหม่.. คงคิดถึงบาร์เบอร์สมัยตัดผมทรงนักเรียนกันเลยทีเดียว..

3.4) ปัญหาผิวพรรณ

อยากจะบอกว่าเราเป็นคนที่ผิวแพ้ง่าย ไวต่อแสงแดด ผดผื่นขึ้นง่าย เราเลยไปหาแพทย์ผิวหนังที่หาประจำและให้เค้าสั่งจ่ายยาและครีมมาเผื่อไว้ด้วย แต่ความเห็นส่วนตัวคือ ตอนนี้สภาพหน้าคือสิวขึ้นเยอะกว่าตอนอยู่ไทย อาจจะเป็นเพราะนอนดึก หรือบางคนก็มีปัญหาแพ้น้ำเหมือนกัน ส่วนตัวคิดว่า ผิวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากใครที่ไม่อยากพกมาเยอะ แนะนำให้ลองมาหาซื้อครีมที่นี่ดู เพราะราคาและสรรพคุณก็น่าใช้เหมือนกัน :) โดยเฉพาะครีมที่มีวิตามินอี และ Tree tea oil เป็นส่วนผสมนั้นจะมีราคาถูกกว่าบ้านเราอีกค่ะ แต่หากเป็นครีมกันแดดที่มีขายตามท้องตลาดจะมีสูงสุด SPF 50 หากใครต้องการมากกว่านั้นแนะนำให้พกมาจากไทยค่ะ

3.5) โรคประจำตัว

หากเพื่อน ๆ คนไหนที่มีโรคประจำตัว ก็อย่าลืมให้เตรียมยาให้พร้อม และการศึกษาคำศัพท์ทางการแพทย์มาด้วยนะคะ เนื่องจากเป็นศัพท์เฉพาะทาง เผื่อฉุกเฉินมันได้ใช้จริงๆค่ะ

 

4. อื่น ๆ

หากต้องทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารของไทย แนะนำให้สมัครบริการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบ Online ของธนาคารนั้น ๆ เพราะหากจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา มันจะค่อนข้างสะดวกมาก และอันนี้คือสิ่งที่เราพลาดลืมทำ ทำให้ต้องโทรกลับไทยไปทำเรื่องกับ Call center ทั้งเสียเวลาและค่าโทรก็แพงด้วยค่ะ บางธนาคารในออสเตรเลียก็เริ่มมีการไปเปิดสาขาที่ไทยแล้ว และล่าสุดก็พึ่งมีธนาคาร ANZ ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศน่าจะสะดวกยิ่งขึ้น

 

20151029-plan-your-move-to-aus-tg

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ.. สิ่งสำคัญที่จำเป็นจริง ๆ โดยรวมแล้วน่าจะมีเท่านี้(จริง ๆ ก็เยอะเหมือนกันนะ) ใจความสำคัญก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลียแล้ว เราจะไม่ค่อยมีเวลาทำอะไรกับเรื่องพวกนี้ และอีกอย่างค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงถ้าจะมาทำเอาที่นี่ค่ะ

หากเพื่อนๆคนไหนอยากแนะนำคนที่มาใหม่หรือเพิ่มเติมในส่วนไหน สามารถคอมเมนท์แชร์ประสบการณ์ได้เลยนะคะ เพราะบางทีแต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์ตอนมาใหม่ ๆ ที่แตกต่างกันไปค่ะ ในส่วนกระทู้นี้ของจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน ในบทความถัดไปจะมาบอกเล่าเรื่องราวของนักเขียน กับสิ่งของที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น รวมไปถึงจะมาแจกเคล็ดลับการยัด(จัด)ของลงกระเป๋ากันดีกว่าค่ะ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 29 ต.ค. 2015
ปาโปย ปาโปย

ปาโปย ปาโปย

ขาใหญ่มหาชัย