นับตั้งแต่การได้พูดคุยกับคุณวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครซิดนีย์ เมื่อช่วงกลางปี 2015 และได้หมดวาระไปเมื่อปลายปี 2016 ครั้งนี้ทีมงาน MaBrisbane ได้รับเกียรติเข้าสัมภาษณ์กับคุณ วรวรรณ นรสุชา ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครซิดนีย์ คนใหม่ ที่ได้มาเยือนนครบริสเบนระหว่างการปฎิบัติภารกิจพบนักลงทุนในพื้นที่ เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา จึงได้ขออนุญาตเข้าสอบถามถึงภาพรวมในการการจัดงามสัมมนาทั่วทั้งออสเตรเลียในครั้งนี้ และทิศทางการทำงาน การมองหานักลงทุนของ BOI สำนักงานซิดนีย์ ภายใต้นโยบายใหม่ของรัฐบาลฯในการยกระดับประเทศไทยที่ชื่อว่า Thailand 4.0
..ได้เข้ามาประจำการตั้งแต่เมื่อ 23 ก.ย. ปี 2016 โดยหลังจากนั้นมีงาน Opportunity Thailand ช่วงเดือน ก.พ. เป็น Thailand 4.0 ซึ่งเราปรับจาก Thailand 1.0 เป็นอุตสาหกรรมเกษตร, 2.0 เป็นอุตสาหกรรมเบา, 3.0 เป็นอุตสาหกรรมหนัก และ 4.0 เน้น Hi-technology นวัตกรรม เมื่อเดือน ก.พ. ท่านนายกฯ เป็นประธานกล่าวเปิดปาฐกถา Thailand 4.0 เค้าก็ให้ BOI สำนักงานต่างประเทศ 14 แห่งเชิญนักข่าวไปทำข่าว เพราะว่าเป็นการปรับนโยบายครั้งใหม่ของ BOI ที่มีการแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน มี พ.ร.บ. เพิ่มสิทธิ์ความสามารถ และตัว Eastern Economic Corridor (EEC หรือ เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)
S-Curve ก็คือ 5 อุตสาหกรรมที่เรายังมีศักยภาพอยู่ คือพวกยานยนตร์, อิเล็กทรอนิกส์, biofuel, biochemical, ท่องเที่ยว, สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีก 5 อันใหม่เรียกว่า New S-Curve เป็นสิ่งที่เราจะมุ่งไปสู่ จะเป็นพวก arrow space, digital, medical hub, agricultural, biotechnology เหมือนกับเป็น smart farming เพราะฉะนั้นหลัก ๆ เวลาที่เราไปพบนักลงทุนเราก็จะชักจูงอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างไฮเทค จริง ๆ เราให้ส่งเสริมทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเราก็ยังดำเนินการตาม eligible activity ของเรา เพียงแต่ว่าสิ่งเราอยากได้คือไฮเทคจากออสเตรเลีย เพราะรู้กันอยู่ว่าเค้าเป็นเจ้าแห่งมาตรฐาน
ทีนี่จะเห็นได้ว่าเค้าเป็น agribusiness (ธุรกิจการเกษตร) ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ของเราเนี่ยเกษตรก็มีศักยภาพ แต่สิ่งที่เราอยากได้คือต้องไปกับเกษตร เช่น biotechnology เพราะมันก็ดีกับสิ่งแวดล้อม ดีกับสุขภาพของเรา เราต้องการปรับจาก traditional farming เป็น smart farming เราต้องการเทคโนโลยีเพื่อมาเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรของเรา เหมือนอย่างที่ออสเตรเลียทำ เพราะฉะนั้นเวลาถามว่าเราชักจูงนักลงทุนไปทางไหน เกษตรคืออยู่ในบัญชีที่หนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการเทคโนโลยีจากที่นี่เข้าไป มันก็เลยอาจจะออกมาในรูป biotech หรือ R & D (Research and development)
การจัดสัมมนาให้กับนักลงทุนชาวออสเตรเลีย
24 – 29 ก.ค. เรามีสัมมนาที่ Perth กับ Brisbane คือปีนึง BOI จัดสัมมนา 2 ครั้ง ครั้งแรกของปีนี้จัดไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ Adelaide, Melbourne, Hobart พบกับท่านกงสุลกิตติมศักดิ์ เพราะว่าที่ Hobart ไม่ได้ไปมา 5 ปีแล้ว เหมือนกับไป re-connect ให้ผู้บริหารได้เข้าไปพบกับผู้บริหารระดับสูง ที่ Hobart ก็เลยจัดเป็นแบบ round-table
ที่ Perth ก็ไปพบกับ Cisiwa เป็นเหมือนสภาอุตสาหกรรม Chamber of Commerce ลิงค์กับตัว Asia Link Business ด้วย เพราะเค้ามีฐานข้อมูลนักลงทุนอยู่ เมื่อวานก็ไป TIQ เพราะเค้าเน้น outbound เหมือนกัน การมาแต่ละครั้งเราก็จะทำทั้ง One-on-One Meetings ก็คือ short term strategy แล้วก็มี networking ด้วยเพราะเราต้องการ long term, เราต้องการ connection จากเค้า เพราะเค้าอยู่ในพื้นที่และรู้ว่านักลงทุนคนไหนที่สนใจจะไปลงทุนอะไรในเมืองไทยบ้าง
หน้าที่หลักของ BOI สาขาซิดนีย์ก็คือหานักลงทุนใหม่เพื่อไปลงทุนในเมืองไทย และก็แก้ปัญหาให้นักลงทุนที่เค้าลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทย มีหลายส่วนที่ได้รับส่งเสริมและไม่ได้รับส่งเสริม เวลามีปัญหาอะไรเค้าก็จะติดต่อเรา เราก็ประสานงานช่วยเหลือได้
ขั้นต่ำระหว่าง 1 ล้านบาท - 200 ล้านบาทในการลงทุน และมีเกณฑ์ในการใช้เวลาทำการอยู่ 40 วันทำการ approve โดยสำนักงานการส่งเสริมการลงทุนมีท่านเลขาเป็นประธาน ผ.อ. จากสำนักต่าง ๆ มาเป็นคณะกรรมการ ถ้าเกิดระดับกลางเราเรียกว่าคณะอนุกรรมการ ก็คือเงินลงทุนระหว่าง 200-750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน อันนี้ก็จะมีท่านเลขาฯ เป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ พวกกระทรวงต่าง ๆ มาเป็นคณะอนุกรรมการ ใหญ่ที่สุดก็คือมากกว่า 750 ล้านบาท ท่านรองนายกฯ เป็นประธาน ที่เค้าเรียกว่า board BOI จะมีข่าวทุกเดือน พอพิจารณาเสร็จท่านเลขาฯ ก็ออกมาให้ข่าวว่ามีมูลค่าการลงทุนเท่าไร
เรามี basic criteria สำหรับที่จะอนุมัติโครงการ หน้าที่ของเราก็คือให้ความรู้ ข้อมูลกับนักลงทุนว่าโครงการที่เค้าจะยื่นมาเนี่ยมันเป็นยังไง แล้วก็ทำงานร่วมกันว่าเค้าจะต้องปรับยังไงรึเปล่า เรามีหน้าที่ในการซัพพอร์ตเค้า สำนักงานต่างประเทศหรือสำนักงานต่างจังหวัดอาจจะเป็นด่านแรกที่พบกับนักลงทุน หลังจากนั้นเราจะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนวิเคราะห์โครงการที่ประจำอยู่ตาม sector ต่าง ๆ ให้ความรู้อีกครั้งนึงในขั้นยื่นคำขอการส่งเสริมการลงทุน เพราะว่าบางครั้งสิ่งที่เค้าสมัครมันอาจจะไม่ได้ตรงกับประเภทกิจการที่เราต้องการส่งเสริม อันดับแรกต้องดูว่ามีประเภทกิจการให้การส่งเสริมหรือไม่ ถ้าไม่มีเค้าอาจจะทำโดยไม่ได้รับการส่งเสริม แล้วก็ติดต่อกับหน่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง
การอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุน
BOI ให้สิทธิ์เป็นเรื่อง tax incentive กับ non-tax incentive ทุกกิจการที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI คือจะได้รับสิทธิ์ในเรื่องที่ไม่ใช่ภาษีไปโดยอัตโนมัติในตัวอยู่แล้ว คือสิทธิ์ในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินภายใต้ชื่อบริษัทที่ได้รับส่งเสริม สิทธิ์ในเรื่องการอำนวยความสะดวกในเรื่องของวีซ่า work permit เป็นช่องทางพิเศษของ BOI สามารถ submit online ได้ แล้วก็ได้รับบริการ ถ้าเอกสารครบก็ภายใน 3 ชั่วโมง ไม่ต้องไปใช้ช่องทางปกติที่ต้องติดต่อกระทรวงแรงงาน จะมีขั้นตอนการอนุมัติตำแหน่ง การอนุมัติตัวบุคคล
เสียงตอบรับและสิ่งที่ได้ทราบจากการลงพื้นที่พบกับนักลงทุน
มาคราวนี้เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าเราจะมีการจัดสัมมนาในเดือน ก.ค. และก็มาพบนักลงทุนด้วย ผลตอบรับดีค่ะ ปัจจุบันเราใช้การยื่น e-investment คือยื่นคำขอรับการส่งเสริมออนไลน์ ในการมาครั้งนี้ก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากหลาย ๆ เมือง แต่ที่ดูมีแนวโน้มเยอะที่สุดน่าจะเป็นที่ Perth เกี่ยวกับเกษตรแปรรูป (food processing)
ออสเตรเลียรู้จักประเทศไทยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวจริง ๆ เลย รู้จักแต่ภูเก็ต พังงา ทะเล อย่างเวลาที่เราไปเดินในงานนิทรรศการเพื่อหาผู้ประกอบการเอง เวลาที่เราเค้าไปคุยกับเค้า อย่างคราวที่แล้วที่ไป ICC ที่ซิดนีย์ เค้ามีงานพวก data centre ดิจิตอล ปรากฏว่าเค้ารู้จักประเทศไทยแค่แหล่งท่องเที่ยว ก็เลยไปโฆษณาประเทศไทยว่าเนี่ยมันเป็น investment destination ด้วยนะ คือนอกจากคุณจะทำธุรกิจแล้วคุณก็ยังเอนจอยไลฟ์ในประเทศไทย เพราะว่าค่าครองชีพไม่ได้แพงเหมือนสิงคโปร์ แล้วเราก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทำธุรกิจในประเทศไทยเนี่ยก็มีตลาดของประชาคมอาเซียนอยู่
ออสเตรเลียบางครั้งถ้าไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มากจริง ๆ เค้าต้องการ importer คือหาคนที่จะเอาผลิตภัณฑ์เค้าไปขาย ยังไม่ถึงขนาดไปจัดตั้งบริษัท BOI จะให้สิทธิ์ได้อย่างน้อยที่สุดเค้าต้องไปจัดตั้งออฟฟิศหรือจัดตั้งโรงงาน ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีประเภทกิจการนึงที่เหมาะสมมาก ๆ สำหรับนักลงทุนในระยะแรกที่เค้าต้องการจะลงทุนคือ International Trading Centre (ITC) ไปจัดตั้งออฟฟิศเพื่อ import export ไปทำ trading แค่นั้นเค้าก็จะได้รับสิทธิ์ non-tax ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเค้าในการไปประกอบธุรกิจในประเทศไทยและเค้าสามารถมองการตลาดว่าเค้าควรย้ายไปตั้งโรงงานการผลิตมั้ยในการลงทุนในอนาคตของเค้า ถ้าฟังจาก CSIRO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เน้นเทคโนโลยี เค้าก็กระตุ้นให้บริษัทออสเตรเลียให้ไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เค้าไม่ค่อยอยากจะลงทุนมาก ๆ ซึ่งการทำ ITC ก่อน นอกจากเค้าจะได้สิทธิ์ non-tax incentive แล้ว เค้ายังได้สิทธิประโยชน์ภาษีรายได้ส่วนบุคคลอีก ถ้าเค้าทำ out out ก็คือการซื้อของจาก supplier ในประเทศนึงแล้วก็ส่งไปขายอีกประเทศนึง แล้วรายรับก็รับที่ ITC ที่ตั้งในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เค้าทราบว่ามันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เป็นการประกอบการตัดสินใจในการจะมาลงทุนขั้นต่อไปในเมืองไทยของเค้า
ในเรื่องของแรงงาน ทักษะความสามารถของคนไทยเรามีอยู่แล้ว แต่ก็ได้ยินมาจากหลาย ๆ คนว่าเราอาจจะขาดในเรื่องของการศึกษาทางด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งนโยบายรัฐบาลก็เห็นผลักดันเรื่องนี้อยู่
สำหรับชาวไทยที่มีเพื่อนนักลงทุนชาวออสเตรเลียที่สนใจอยากมาฟังการบรรยายจาก BOI สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์, ทางโซเชียลมีเดีย, ติดต่อสถานกงสุลในแต่ละเมือง หรือติดต่อทาง BOI สาขาซิดนีย์ได้โดยตรง เพื่อขอเข้าพบเป็นการส่วนตัว
Thailand Board of Investment, Sydney Office
Suite 101, Level 1, 234 George Street, NSW 2000, Australia
Tel. : +61 2 9252 4884, +61 2 9252 4882
E-mail : sydney@boi.go.th
ทางทีมงาน MaBrisbane ต้องขอขอบพระคุณ คุณวรวรรณ นรสุชา ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครซิดนีย์ สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพูดคุยอัพเดทการทำงานของ BOI ที่ผ่านมาให้พวกเราได้ฟังกัน