เมื่อเร็ว ๆ นี้เราอาจจะเห็นวลี “OK Boomer” ตามข่าวและโซเชียลต่าง ๆ อย่าง #okboomer หรือ #okayboomer และเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 นักการเมืองหญิงชาวนิวซีแลนด์วัย 25 ปี Chlöe Swarbrick ก็ได้ใช้วลีนี้ตอบโต้กับนักการเมืองรุ่นใหญ่ในขณะที่เธอกำลังอภิปรายสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)
“OK Boomer” เป็นวลีติดปาก (catchphrase) และอินเทอร์เน็ตมีม (internet meme) ที่ถูกใช้มากในปี 2019 มีความหมายในเชิงลบ ที่คนรุ่นใหม่ใช้พูดตอบกลับต่อทัศนคติของผู้สูงวัย (หรือช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วง baby boomer generation โดยเป็นทัศนคติในแนวโลกแคบ ความคิดเก่า ๆ ใช้การตัดสินจากตัวเองเป็นหลัก และการวางตัวเป็นผู้เหนือกว่า เราจะเห็นการใช้วลีนี้ได้บ่อยมากในเรื่องการไม่ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การไม่ยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการแสดงความเห็นที่ตรงข้ามต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่
จุดเริ่มของวลีนี้เกิดมาจากคลิปวีดีโอ TikTok ของชายสูงอายุคนหนึ่ง ได้กล่าวว่าพวก Millennial (Generation Y หรือ Gen Y) และ Generation Z (Gen Z) เป็น Peter Pan syndrome คือไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ และไม่ต้องการที่จะเป็นผู้ใหญ่ จึงมีเสียงตอบโต้จากคนรุ่นใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นการใช้วลี “OK Boomer” ในการตอกกลับและวิจารณ์ต่อทัศนคติของคนรุ่นก่อนที่ส่งผลอย่างมากต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
มีการใช้วลีนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 แต่เพิ่งจะมาแพร่หลายและได้รับความนิยมตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 หลายคนมองว่า “OK Boomer” เป็นคำเหยียดผู้สูงอายุ (ที่ผ่านมาเราเจอคำเหยียดเชื้อชาติ หรือเหยียดเพศ ตอนนี้เป็นเหยียดอายุแล้ว) ในขณะที่หลายคนก็เห็นเป็นแค่วลีขำ ๆ ที่มาแล้วเดี๋ยวก็ไป
อ้างอิง:
Photo source: www.freepik.com