“ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา”
ยังจำกันได้ไหมคะสำหรับกลอนบทนี้ สมัยเด็กๆ ถ้าคุณเคยเรียนที่โรงเรียนภาคภาษาไทยทุกคนคงจะท่องกลอน ”วันครู” นี้ได้อย่างขึ้นใจ ทำไมเราถึงต้องมี ”วันครู” แน่นอนค่ะทุกคนทราบดีว่า ครูคนแรกของเรานั้นคือ “คุณพ่อคุณแม่” แต่เมื่อวันหนึ่งเราเข้าสู่วัยที่ต้องการการเรียนรู้และด้วยตามบทบรรทัดฐานทางสังคม เด็กๆ ทุกคนต้องเริ่มเข้าเรียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองก็ต้องจำยอมให้ลูกๆ ของท่านบินออกจากอ้อมอกของตนไปสู่อีกสถานที่หนึ่งที่จะสามารถปลูกฝังและพัฒนาความรู้และจิตใจให้กับลูกของตนได้ และสถานที่นั้นก็คือ “โรงเรียน” เมื่อมีโรงเรียนก็ย่อมต้องมี ”คุณครู”
จริงๆ แล้วการเป็นครูที่ดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้วัดกันที่ความหรูหราของโรงเรียน แต่ครูที่ดีคือครูที่สามารถประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยยึดถือตามหลักความรู้ที่คุณครูท่านนั้นมีนั่นเอง ยังจำกันได้ไหมว่าอักษรหรือพยัญชนะไทยตัวแรกที่พวกเราสามารถท่องกันได้อย่างขึ้นใจนั้น “ใครเป็นคนให้การบ้านพวกเราทำเป็นคนแรก?” แน่นอนค่ะคงไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่แน่นอนแต่เป็น ”คุณครู” และหลายต่อหลายครั้งด้วยกันที่พวกเราเคยโดนทำโทษจากคุณครูเพราะ ”ลืมทำการบ้าน” ซึ่งการลงโทษของคุณครูนั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย เพราะการ ”ลงโทษ” ของคุณครูมีผลกระทบโดยตรงกับจิตใจของท่านผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองไม่อยากเห็นลูกหลานของตัวเองเจ็บตัวหรือเสียใจเนื่องจากโดนคุณครูทำโทษ และด้วยความไม่เข้าใจต่างๆ เหล่านี้บางครั้งส่งผลให้ครูหลายๆ ท่านเสียขวัญและเสียกำลังใจในการทำงาน แต่ด้วยความรักในอาชีพทำให้คุณครูยังต้องยิ้มแย้มและสอนเด็กๆ เหล่านั้นอยู่ต่อไป
ฉะนั้น ”วันครู” จึงเป็นวันหนึ่งทีมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับคุณครูทุกท่าน ที่ยังคงยืนหยัดทำงานในสายงานที่ท่านรักด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และจริงใจที่จะปลูกฝังอนาคตของชาติหรือเด็กรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถ ที่จะนำไปใช้กับชีวิตของตนเองได้ในอนาคตได้
ประวัติของวันครู ขอกล่าวเพียงสั้นๆ ดังนี้ค่ะ วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู
พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไป ถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ รวมถึงความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งได้เรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
ด้วยเหตุนี้ คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว
สำหรับกิจกรรมวันครู ตามโรงเรียนต่างๆ จะมีการจัดพานพุ่มดอกไม้ประดับประดาอย่างสวยงาม และในหลายๆ โรงเรียนได้มีการจัดประกวดพานพุ่มดอกไม้อีกด้วย ซึ่งในการประกวดพานพุ่มดอกไม้นี้ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันระหว่างครูกับนักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการมอบพานพุ่มดอกไม้ให้กับคุณครูนี้ก็จะมีตัวแทนนักเรียนของแต่ละห้องเป็นผู้กราบไหว้คุณครูและก็กล่าวคำขอขมาลาโทษที่ได้เคยทำกับคุณครู หลายๆ ครั้งในกิจกรรมนี้เราจะได้เห็นว่ามีทั้งนักเรียนและคุณครูเกิดความซาบซึ้งใจ จนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ก็มี
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราจะลืมไปไม่ได้ก็คือ เป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยของเราให้คงอยู่สืบต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต เพราะการที่เรามีสัมมาคารวะกับผู้หลักผู้ใหญ่นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตเรา”เจริญก้าวหน้า” วันนี้เมื่อคุณได้ดีในชีวิตของคุณแล้ว อย่าลืมกลับไปแวะเยี่ยมเยียนคุณครูของคุณบ้างนะคะเพราะ “พ่อแม่เปรียบเสมือนครูคนแรกของชีวิต และครูก็เปรียบได้ดั่งพ่อแม่คนที่สองของเราค่ะ”
Referece: wikipedia