วันพุธ, 22 มกราคม 2568

Booking.com

มะเร็งผิวหนังภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด มารู้จักวิธีป้องกันรังสียูวีที่ถูกต้องกันเถอะ

เผยแพร่เมื่อ 12 ธ.ค. 2019 โดย MaBrisbane

เข้าหน้าร้อนมาได้ซักพักแล้ว อากาศแบบฟ้าโปร่ง บรรยากาศสดใส คงทำให้ใครหลาย ๆ คนอยากออกไปชายทะเล เที่ยวชมธรรมชาติ ทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น แต่ยังไงก็อย่าลืมปกป้องผิวของเราจากรังสียูวีด้วยนะ ออสเตรเลียเป็นประเทศต้น ๆ ที่มีจำนวนประชากรเป็นมะเร็งผิวหนังมากที่สุด สาเหตุหนึ่งคือรอยรั่วของชั้นโอโซน และอีกอย่างคือกิจกรรมผ่อนคลายที่เน้นไปทางชายทะเล ปิคนิค เดินป่า และปีนเขา มาดูกันว่าอะไรบ้างที่เป็นความเชื่อผิด ๆ และเราสามารถปกป้องตัวเองจากรังสียูวีได้อย่างถูกต้องอย่างไร

 

ความเชื่อ และ เรื่องจริง (myths and facts)

ความเชื่อ: ครีมกันแดดสามารถปกป้องผิวได้เพียงพอ

เรื่องจริง: ครีมกันแดดไม่สามารถปกป้องผิวได้เพียงพอ

เราควรใช้ครีมกันแดด broadspectrum ที่มี SPF อย่างน้อย 30 เพราะมันช่วยกรองรังสียูวีและปกป้องผิวจากรังสียูวีที่สะท้องกับพื้นผิวต่าง ๆ เช่น น้ำ ทราย และคอนกรีต ครีมกันแดดจะค่อย ๆ ลดประสิทธิภาพลงไป จึงจำเป็นต้องทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดไม่ใช่ชุดเกราะป้องกันแดด เราควรจะใช้ครีมกันแดดไปพร้อม ๆ กับวิธีอื่นในการปกป้องผิว

 

ความเชื่อ: มะเร็งผิวหนังไม่ได้มีความร้ายแรงเหมือนมะเร็งชนิดอื่น เพราะเราสามารถผ่าตัดมะเร็งออกได้ง่าย ๆ

เรื่องจริง: มะเร็งผิวหนังเป็นโรคร้ายแรงและการรักษาไม่ได้ง่ายเหมือนผ่าตัดเอาไฝออกเสมอไป

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่อันตรายที่สุด มันสามารถแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้ยากต่อการรักษา

 

ความเชื่อ: มะเร็งผิวหนังเกิดเฉพาะคนผิวขาว

เรื่องจริง: มะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้กับผิวทุกประเภท Bob Marley นักร้องเร็กเก้ชาวจาเมกา เสียชีวิตจากการไม่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่แพร่ไปถึงสมอง

แม้ไม่ค่อยมีการพบโรคมะเร็งผิวหนังในกลุ่มคนผิวเข้ม แต่บ่อยครั้งจะพบเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว (advanced stage)

 

ความเชื่อ: มะเร็งผิวหนังเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ

เรื่องจริง: มะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้กับทุกวัย

ทุกคนสามารถเป็นมะเร็งผิวหนังได้หมด การโดนแดดอย่างแรง (high sun exposure) ในช่วง 10 ปีแรกตั้งแต่เกิด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามากกว่าสองเท่า

 

ความเชื่อ: มะเร็งผิวหนังเกิดจากการโดนแดดเผา (sunburn)

เรื่องจริง: แม้ไม่โดนแดดเผาก็เป็นมะเร็งผิวหนังได้ มะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ผิวถูกทำลายจากการได้รับรังสียูวีจากดวงอาทิตย์มากเกินไป

เราเจอกับรังสียูวีทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง แม้ว่าจะโดนแสงอาทิตย์เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถสะสมการทำลายผิวได้ การโดนแดดเผาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการถูกทำลายของเซลล์ผิวหนังมีความรุนแรงมากกว่า

 

20191212-sun-protection-woman

 

ความเชื่อ: เราต้องปกป้องผิวแค่ในวันที่อากาศร้อนและฟ้าโปร่งเท่านั้น

เรื่องจริง: เราต้องปกป้องผิวของเราทุกวัน ไม่เกี่ยวว่าวันนั้นฟ้าจะโปร่ง แดดแรง ฟ้าครึ้มมีเมฆ หรือฝนตก รังสียูวีมีอยู่ตลอดในตอนกลางวัน

 

ความเชื่อ: เราต้องปกป้องผิวแค่ระหว่างเวลา 10am – 2pm

เรื่องจริง: ในควีนส์แลนด์ เราต้องปกป้องผิวจากแสงแดดเมื่อไรก็ตามที่ออกข้างนอก เพราะระดับของรังสียูวีจะขึ้นสูงขั้นทำลายผิวได้ตั้งแต่เช้าตั้งแต่ 8am เมื่อไรก็ตามที่ค่ารังสียูวี ultraviolet index มีค่าตั้งแต่ 3 ขึ้นไป เราต้องปกป้องผิว

 

ความเชื่อ: เราต้องตากแดดเพื่อรับวิตามินดี (vitamin D)

เรื่องจริง: มันไม่ปลอดภัยที่จะรับแสงแดดเพิ่มเพื่อเพิ่มวิตามินดี การตากแดดเพิ่มขึ้นไม่ทำให้วิตามินในร่างกายเราเพิ่มขึ้น แต่ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น คนส่วนใหญ่ได้รับแสงยูวีเพื่อให้วิตามินดีอยู่ในระดับที่พอดีจากการทำกิจกรรมข้างนอกอยู่แล้ว การใช้ครีมกันแดดและสิ่งปกป้องผิวไม่ได้ทำให้ร่างกายหยุดผลิตวิตามินดี

 

 

วิธีปกป้องผิวจากแสงแดด

ในรัฐควีนส์แลนด์ ระดับของรังสียูวีมีค่าสูงมากพอที่จะทำลายผิวได้ตลอดทั้งปี เราจึงจำเป็นที่จะต้องปกป้องผิวทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าออกระหว่างอาคาร รอรถบัส หรือตากผ้า การโดนรังสียูวีบ่อย ๆ จะค่อย ๆ สะสมเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่เราสามารถป้องกันด้วยวิธีง่าย ๆ

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Slip-Slop-Slap” ซึ่งเป็นแคมเปญปกป้องผิวจากดวงอาทิตย์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ช่วงปี 1980s เปิดตัวโดย Cancer Council Victoria มีความหมายคือ “Slip on a shirt, Slop on the 50+ sunscreen, Slap on a hat” หลังจากนั้น SunSmart ได้ผลักดันให้ใช้แว่นกันแดด จึงเพิ่ม “Seek shade or shelter, Slide on some glasses used to block out sun” รวมสั้น ๆ ทั้งหมดว่า “Slip, Slop, Slap, Seek, Slide”

 

เสื้อผ้า

เลือกเสื้อผ้าที่มีระดับการป้องกันผิวอย่างดี อย่างน้อยแขนเสื้อควรปิดถึงข้อศอก กระโปรงหรือกางเกงปิดถึงหัวเข่า เสื้อมีคอปกดีสำหรับป้องกันคอด้านหลัง เสื้อผ้าประเภท close weave cotton จะช่วยให้ผิวได้หายใจ ใส่แล้วเย็นสบาย

The Australian/New Zealand Standard Sun protective clothing—Evaluation and classifications (AS/NZS 4399:2017) ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันแสงอาทิตย์ในเสื้อผ้าสำหรับผู้บริโภค โดยใช้ Ultraviolet Protection Factor (UPF) rating เป็นตัวบอก ซึ่ง UPF ratings จะอยู่บนป้าย (label) ของชุดว่ายน้ำ ชุดทำงาน ชุดนักเรียน และชุดใส่ข้างนอก เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปกป้องผิวได้ดีที่สุด เนื้อผ้าจะถูกให้ค่า UPF rating และระดับการป้องกันขึ้นอยู่กับความสามารถในการกันรังสียูวีว่าได้มากน้อยแค่ไหน

20191212-sun-protection-upf-rating

สิ่งที่มีผลต่อค่า UPF rating ในเนื้อผ้าได้แก่:

  • ส่วนประกอบของด้ายไหม - ฝ้าย เส้นใยสังเคราะห์ ฯลฯ
  • ความแน่นในการทอผ้า – ยิ่งแน่นยิ่งเพิ่มระดับ UPF rating
  • สี - สีเข้มโดยส่วนใหญ่แล้วจะดีกว่า
  • ความยืดหยุ่น - ยิ่งยืดมาก rating ยิ่งต่ำ
  • ความชุ่มชื้น - ผ้าหลาย ๆ ชนิดจะมี rating ต่ำเมื่อเปียก
  • สภาพ - ผ้าที่ใส่มานานแล้วหรือสีซีดอาจมีระดับ rating ที่ลดลง
  • การตกแต่งขั้นตอนสุดท้าย - ผ้าบางประเภทจะถูกเพิ่มสารเคมีที่ดูดรังสียูวี

เสื้อผ้าปกป้องได้เพียงแค่ผิวส่วนที่ถูกปิดบังเท่านั้น เราต้องปกป้องศีรษะด้วยหมวก ทาครีมกันแดด และเดินหรืออยู่ในร่ม ใส่แว่นกันแดดเพื่อปกป้องตา

 

20191212-sun-protection-sunscreen

 

ครีมกันแดด

ผู้ที่อยู่อาศัยในควีนส์แลนด์ควรทาครีมกันแดดบนใบหน้า หู คอ และส่วนที่เสื้อผ้าไม่ปิดบัง ทุกเช้าเป็นประจำ หากต้องออกนอกอาคารก็ควรเลี่ยงเวลาที่รังสียูวีมีค่าสูงและต้องอยู่ตากแดดนาน ๆ เลือกใช้ครีมกันแดดแบบ broad-spectrum, water resistant SPF 30 ขึ้นไป และมองหาหมายเลข ‘Aust L’ บนฉลากเพื่อมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่าน Therapeutic Goods Administration ตรวจวันหมดอายุ ครีมกันแดดที่หมดอายุแล้วอาจไม่มีประสิทธิภาพตามฉลาก

ข้อแนะนำในการทาครีมกันแดด:

  • ทาบนผิวสะอาดและแห้ง 20 นาทีก่อนออกข้างนอก จะได้รับการปกป้องผิวที่มีประสิทธิภาพที่สุด
  • สำหรับผู้ใหญ่โดยทั่วไป ใช้ครีมกันแดด 35ml ทั่วทั้งตัว ซึ่งเท่ากับอย่างน้อย 1 ช้อนชาต่อ 1 ส่วน (คือ แขน 1 ข้าง, ขา 1 ข้าง ฯลฯ)
  • ทำครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และบ่อยกว่านั้นหากว่ายน้ำหรือเหงื่อออก

อย่าทิ้งครีมกันแดดไว้ในที่ร้อน เช่น ในรถ เพราะความร้อนจัดทำให้ประสิทธิภาพของครีมกันแดดลดลง

 

หมวก

หาหมวกปีกกว้างที่กันแดดทั้งหน้า หู และคอ ไม่แนะนำให้ใช้หมวกแก๊ปหรือหมวกกระบังเปิดศีรษะ (visor) เพราะมันไม่ช่วยป้องกันหน้า หู และคอ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบมะเร็งผิวหนังได้บ่อย

 

ร่มเงา

หลบแดดใต้เงาร่มไม้หรืออาคาร หรือพกร่มติดตัว

 

แว่นกันแดด

เลือกใส่แว่นกันแดดที่ตรงกับ Australian standard AS/NZS 1067:2016 และหากเป็นไปได้ให้มี Eye Protection Factor (EPF) ระดับ 9 หรือ 10 แว่นกันแดดช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกและโรคตาอื่น ๆ เมื่ออายุมากขึ้น

 

 

ที่มาและข้อมูลอ้างอิง:

qld.gov.au - "Five ways to be sun safe"

qld.gov.au - "Sun safety myths and facts

thethaicancer.com "ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกันเถอะ"

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 12 ธ.ค. 2019
MaBrisbane

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State