วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

Booking.com

การทำงานในออสเตรเลีย ตอนที่ 3 "วีซ่าที่อนุญาตให้ทำงาน"

เผยแพร่เมื่อ 12 พฤษภาคม 2558 โดย พริกขี้หนู

มาถึงตอนสุดท้ายของเรื่องการทำงานในออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้เราพูดกันไปแล้วถึงภาพรวมในการทำงาน ประเภทของงาน และสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเข้าสมัครงาน สำหรับในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง.. วีซ่าที่อนุญาตให้ทำงานในออสเตรเลียได้

 

อ่านบทความตอนที่ผ่านมา..

 

แม้ว่าจะมีวีซ่าที่อนุญาตให้คนทำงานถูกต้องตามกฎหมายอยู่หลายประเภท แต่วิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้กันคือการขอวีซ่านักเรียน โดยสมัครเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ (General English), Certificate หรือ Diploma ซึ่งเป็นคอร์สที่ไม่ยากมากนัก โรงเรียนบางแห่งยังมีชั่วโมงเรียนต่ออาทิตย์ การบ้าน และการสอบที่น้อยมากอีกด้วย ซึ่งวีซ่านักเรียนส่วนใหญ่อนุญาตให้ทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสองอาทิตย์ ยกเว้นวีซ่า Postgraduate Research Sector Visa (subclass 574) ที่อนุญาตให้ผู้ถือสามารถทำงานได้โดยไม่จำกัดชั่วโมง เมื่อคอร์ส Master Degree by Research หรือ Doctoral ได้เริ่มขึ้น

มีคนจำนวนไม่น้อยทำงานเกินชั่วโมง โดยการช่วยเหลือของผู้ประกอบการ การจ่ายเงินสดโดยไม่มีบันทึกเป็นทางออกของทั้งผู้ทำงานล่วงเวลา (ได้ทำงานเพิ่ม) และผู้ประกอบการ (ค่าจ้างไม่ต้องตรงตามมาตรฐาน) ทั้งนี้ทั้งนั้นประเทศออสเตรเลียมีกฎหมาย และมาตรการที่เข้มงวดต่อผู้ล่วงละเมิดกฎ

 

นอกจากวีซ่านักเรียนแล้ว ยังมีวีซ่าประเภทอื่นที่อนุญาตให้ทำงานได้อีก โดยมีตัวอย่างวีซ่าที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตัดสินใจจะเดินทางมาทำงานที่ออสเตรเลียครั้งแรก ดังนี้..

Work and Holiday Visa - subclass 462

เป็นวีซ่าสำหรับผู้มีอายุ 18 - 31 ปี ที่จะต้องไม่มีบุตรติดตามในขณะที่ใช้เวลาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือวีซ่านี้สามารถอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้นาน 12 เดือน ทำงานกับบริษัทหนึ่ง ๆ ได้ไม่เกิน 6 เดือน ลงเรียนได้ไม่เกิน 4 เดือน และสามารถเข้าออกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งจนกว่าวีซ่าจะหมดอายุ สามารถสมัครขอวีซ่าประเภทนี้ได้ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีการจำกัดจำนวนของผู้ถือวีซ่านี้ทุกปีในประเทศต่าง ๆ หากอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนจำกัดของวีซ่า สามารถสอบถามไปที่ Immigration office ในเมืองไทยได้

 

Temporary Work (Skilled) Visa - subclass 457

ผู้ขอยื่นวีซ่านี้ต้องถูกสปอนเซอร์โดยบริษัทที่ได้รับการยอมรับในออสเตรเลีย และผู้ยื่นขอต้องมีความสามารถเฉพาะทางที่เหมาะกับตำแหน่งที่จะมาทำกับบริษัทนั้น ๆ โดยวีซ่านี้อนุญาตให้ทำงานในออสเตรเลียได้ถึง 4 ปี โดยผู้ถือสามารถพาครอบครัวตามมาเพื่อทำงานหรือเรียนได้อีกด้วย และสามารถเข้าออกประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถยื่นขอวีซ่านี้ได้ภายในและภายนอกประเทศออสเตรเลีย

 

Temporary Work (Long Stay Activity) Visa - subclass 401

คล้าย ๆ วีซ่า 457 ข้างต้น เพียงแต่อนุญาตให้ถือวีซ่านี้ได้ไม่เกิน 2 ปี โดยจะต้องทำงานอยู่ในเงื่อนไข 4 อย่างนี้เท่านั้น

  1. Exchange stream - การแลกเปลี่ยนเพื่อศึกษาและแลกประสบการณ์ของพนักงานระหว่างประเทศ
  2. Sport stream - ส่งเสริมการกีฬาของประเทศออสเตรเลีย เช่น เป็นโค้ช แข่งกับทีมออสเตรเลีย หรือเป็นกรรมการ เป็นต้น
  3. Religious worker stream - ทำงาน Full-time ให้กับองค์กรศาสนาที่อยู่ในออสเตรเลีย เช่น วัดไทย โบสถ์
  4. Domestic worker (executive) stream - ทำงาน Full-time ในบ้านของ senior foreign executives

 

Skilled Independent Visa - subclass 189

เป็น PR ประเภทหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย โดยผู้สมัครต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี แสดงความจำนงที่จะทำงานในสายอาชีพที่มีความต้องการในประเทศออสเตรเลีย โดยจะต้องได้รับการยอมรับ Suitable skills assessment สำหรับอาชีพนั้น ๆ มีทักษะภาษาอังกฤษระดับดี (IELTS 6 หรือ เทียบเท่า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษได้ที่นี่.. "How can I prove I have competent English?")

ต้องสมัคร Expression of Interest และถูกเชิญผ่าน SkillSelect เพื่อทำการสมัครวีซ่าประเภทนี้ ซึ่งสามารถขอได้ทั้งในและนอกประเทศออสเตรเลีย วีซ่านี้อนญาตให้ผู้ถือเดินทางเข้าออกออสเตรเลียได้โดยไม่จำกัดครั้งภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่วีซ่าอนุมัติ (หลังจากนั้น คุณจำเป็นจะต้องมี Resident return visa หรือ วีซ่าประเภทอื่นเพื่อกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย) สามารถทำงานและเรียนได้ไม่จำกัดชั่วโมง สมัคร Medicare ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือค่าดูแลรักษาพยาบาลเกี่ยวกับสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย สามารถสมัคร Australian citizenship ได้ (ตามข้อกำหนด) สามารถสปอนเซอร์ญาติเพื่อให้ถือวีซ่า PR ได้

 

..จบกันไปแล้วกับบทความทั้ง 3 ตอน หวังว่าจะพอเป็นแนวทางในเบื้องต้นให้กับผู้ที่กำลังหางานทำในออสเตรเลียได้นะคะ, ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามคะ

 

บทความนี้เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนบุคคลประกอบกับความรู้ที่ผู้เขียนค้นคว้ามาจากเว็บไซต์อ้างอิง เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้อ่าน ทั้งนี้ผู้เขียนไม่มีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม หรือสอบถามผู้ที่ได้รับอนุญาตในการประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง

 

ข้อมูลอ้างอิง:
fairwork.gov.au - "Fair Work Ombudsman"
immi.gov.au - "Australian Government Department of Immigration and Border Protection"

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 13 พ.ค. 2558
พริกขี้หนู

พริกขี้หนู