วันพุธ, 22 มกราคม 2568

Booking.com

4 สิ่งสำคัญ!! ที่จำเป็นในการมาเรียนออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 25 ส.ค. 2015 โดย Finn

ใครที่กำลังแพลนจะเรียนต่อที่ออสเตรเลีย แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มที่ตรงจุดไหนดี..? หรือยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่..? ครั้งนี้เราจะคุยกันถึงเรื่อง 4 สิ่งสำคัญ ที่เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขเบื้องต้น ก่อนก้าวมาใช้ชีวิตเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เราไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง..

 

1.) ระดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษ

English language requirements

อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า.. ภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารที่ออสเตรเลีย ดังนั้นการเรียนการสอนทุกอย่างจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลางในการเรียนการสอน และหลักสูตรที่เปิดรับนักเรียนต่างชาติแทบทั้งหมดจึงมีเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของผู้เข้าเรียนก่อน อย่างเช่น ผลสอบ IELTS หรือ TOEFL

ข้อกำหนดดังกล่าวนี้มักถูกบังคับใช้ในการเรียนหลักสูตรระดับสูง อย่างเช่น ประกาศนียบัตร(Certificate), อนุปริญญา(Diploma) หรือ ระดับปริญญาตรี(Bachelor degree)ขึ้นไป  จำเป็นต้องใช้ผลสอบทางภาษาเป็นเกณฑ์ในการเข้าเรียน โดยในระดับปริญญาตรีนั้นมักจะเริ่มต้นที่ประมาณ IELTS 5.5 ขึ้นไป บางครั้งก็ 6.0 แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงเกณฑ์จริง ๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะทางมหาวิทยาลัยยังมีข้อผ่อนปรนให้ เมื่อระดับภาษาของผู้เข้าเรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมี 2 ทางเลือกหลัก ๆ

ทางเลือกที่หนึ่ง เป็นการเรียนภาษากับสถาบันสอนภาษาในหลักสูตร English for Academic Purpose หรือ EAP เมื่อเรียนผ่านก็จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน แต่เราต้องตรวจสอบก่อนว่าทางมหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียน ยอมรับหลักสูตร EAP จากสถาบันสอนภาษาไหนบ้าง การเรียนการสอนหลักสูตร EAP จะเน้นกิจกรรมเหมือนกับเรียนมหาวิทยาลัย เช่น ฟังบรรยายในห้องเรียน, เทคนิคการจดโน้ต, การเขียน essay หรือ การอภิปรายแบบกลุ่ม 

ทางเลือกที่สอง เป็นศูนย์เรียนภาษาสำหรับนักเรียนต่างชาติของทางมหาวิทยาลัยเอง ที่เรียกกันว่า Bridging course/ Pathway  เมื่อเรียนผ่านก็เข้ามหาวิทยาลัยได้เลย มักจะไม่ค่อยนิยมเพราะค่าเรียนค่อนข้างแพง แต่หากมหาวิทยาลัยที่เราเลือกไม่รับ EAP จากสถาบันอื่น ก็คงจำเป็นต้องเรียน อย่างไรก็ตามข้อดีคือเมื่อเรียนผ่านก็สามารถเข้าเรียนได้เลย และมาตรฐานภาษาของมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างดีกว่าและเข้มข้นกว่าหลักสูตร EAP การเรียนการสอนจะเหมือนกับการจำลองเสมือนกับเรียนมหาวิทยาลัย กล่าวคือ จะฝึกให้รู้การเขียนเชิง Academic Writing, การฝึกพรีเซนต์กับหรือการค้นหาข้อมูลงานวิจัยผ่านทาง Database ซึ่งเหมืือนกับเรียนจริงๆ ในระดับมหาวิทยาลัย

1503-toefl-student-testscore
ตารางเปรียบเทียบผลสอบภาษาอังกฤษจากทางอิมมิเกรชันฯ
ที่มา: border.gov.au

แต่หากเป็นการลงเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสอนภาษาธรรมดา ไม่ใช่คอร์สระดับสูงอย่างที่กล่าวไปในตอนตั้น เป็นคอร์สภาษาทั่วไปอย่าง.. General English หรือ GE จะไม่มีการใช้เกณฑ์วัดความรู้ด้านภาษาฯเพื่อเข้าเรียนอะไร หากจะมีก็เป็นเพียงแค่การทดสอบและพูดคุยสัมภาษณ์เล็กน้อยเท่านั้น ว่าเราจะได้ถูกจับไปเข้ากลุ่มคลาสไหน เพื่อให้เหมาะกับเรามากที่สุด เริ่มตั้งแต่ beginner ไปจนถึง advanced

รายละเอียดเหล่านี้ สามารถสอบถามได้กับทางสถาบันการศึกษาโดยตรง หรือผ่านทางเอเจนท์นักเรียนที่รู้จักก็ได้ว่า.. “สนใจอยากเรียนคอร์สไหน และตอนนี้ระดับภาษาของตนเองอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่” เพื่อหาคำตอบให้กับตนเองว่า จะเริ่มตรงจุดไหนดี

อีกหนึ่งจุดที่สำคัญก็คือ เงื่อนไขทางด้านภาษาระหว่างสถาบันการศึกษาและทางวีซ่าจากอิมมิเกรชันฯนั้น บางครั้งอาจจะไม่ตรงกัน จึงควรพิจารณาแยกส่วนกัน

 

2.) ข้อกำหนดจากทางสถาบันการศึกษา

Academic requirements

นอกเหนือจากเรื่องเกณฑ์ด้านภาษาที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว ทางสถาบันการศึกษายังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในการคัดเลือกผู้เข้าเรียนอีก โดยขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาที่ผู้สนใจอยากจะเรียนต่อในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ระดับไฮสคูล เรียนภาษาอังกฤษ การเรียนวิชาชีพ และ ปริญญาต่าง ๆ

โดยในข้อกำหนดเบื้องต้นที่มี ได้แก่เช่น การสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำ อายุของผู้เข้าเรียน การเปิดรับนักเรียนต่างชาติ(ไม่ใช่พลเมืองออสฯ) เกรดเฉลี่ย ความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรที่เรียนมากับหลักสูตรที่จะศึกษาต่อ (ในกรณีระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือเรียนเฉพาะทาง) เป็นต้น

และหากเป็นคอร์สในระดับสูง(ระดับ Advanced Diploma ขึ้นไป)ของสถาบันการศึกษาที่ได้รับ SVP หรือ Streamlined visa processing จากอิมมิเกรชันฯ (รายละเอียด.. ระบบการออกวีซ่าแบบเร่งด่วน "SVP") ก็จะมีเงื่อนไขการรับผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น สถานะทางการเงิน หรือ Bank statement ที่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตตลอดการศึกษา หรือ มีผู้สปอนเซอร์, มีประกันสุขภาพ OSHC, มีสุขภาพร่างกายที่ดีตามเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้บางอย่าง ดูคล้ายกับข้อกำหนดด้านวีซ่าจากอิมมิเกรชันฯเลยก็ว่าได้

20150810-student-visa-renewing

หลังจากนั้นเมื่อทางสถาบันยอมรับเราเข้าเรียน สิ่งสำคัญที่เราจะได้มาก็คือ.. electronic Confirmation of Enrolment (eCoE) หรือ เอกสารยืนยันการตอบรับจากทางสถาบันการศึกษา ที่จะถูกนำไปใช้ในการสมัครวีซ่าต่อไป

 

3.) เงื่อนไขในการขอวีซ่าฯ

Visa requirements

มีวีซ่าอยู่หลายประเภทที่อนุญาตให้เรียนได้ แต่บทความนี้เราขอพูดถึงเฉพาะวีซ่าที่มีวัตถุประสงค์หลักคือการเดินทางเข้าสู่ประเทศออสเตรเลียเพื่อเรียน หรือที่เรียกกันว่า “วีซ่านักเรียน” โดยประเภทวีซ่านักเรียนจะแบ่งย่อยออกไปตามหลักสูตรที่ต้องการเรียน หรือ Subclass อันได้แก่..

  • หลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้น - Independent ELICOS (Subclass 570)
  • ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา - Schools Sector (Subclass 571)
  • สาขาวิชาชีพและการฝึกอบรม - Vocational Education and Training (Subclass 572)
  • ระดับอุดมศึกษา - Higher Education (Subclass 573)
  • ระดับบัณทิตศึกษา - Postgraduate Research ( Subclass 574)
  • หลักสูตรปรับพื้นฐานหรือการศึกษาอื่นๆที่ไม่มีใบรับรองวุฒิ - Non-award (Subclass 575)

ในวีซ่าบางประเภทอย่างเช่น Subclass 571, 572 (เฉพาะกับสถาบันที่ได้รับการรับรองจาก DIBP), 573, 574, 575 ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนในระดับสูง ผู้สมัครวีซ่านักเรียนสัญชาติไทยได้รับการพิจารณาวีซ่าเป็นแบบ Assessment Level 1 จะมีข้อดีคือการใช้เอกสารบางอย่างในการสมัครวีซ่าฯน้อยลง อย่างเช่น การไม่ต้องแสดงเอกสารสถานะทางการเงิน เป็นต้น และข้อดีอีกอย่างคือใช้เวลาในการดำเนินการจนได้วีซ่าสั้นลงอีกด้วย อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก โดยภาพรวมแล้วเอกสารประกอบที่ใช้ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน

เมื่อทราบประเภทหลักสูตรที่ต้องการจะเรียนแล้ว หลังจากนั้นจึงเข้าไปดูรายละเอียดเงื่อนไขและเอกสารในการสมัคร ตามแต่ละประเภทนั้น ๆ ในเว็บไซต์ของอิมมิเกรชันฯที่.. “Visa Finder

20150824-entry-requirements-passport

ขอเสริมอีกนิด.. เมื่อหลังจากที่สมัครและได้วีซ่ามาด้วยความยากลำบากแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรรู้เพิ่มเติมคือเรื่องของ “Condition” หรือ เงื่อนไขทางวีซ่า ยกตัวอย่างที่พบเจอบ่อย เช่น

  • 8105 - อนุญาตให้ทำงานได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงเปิดภาคเรียน และทำเต็มเวลาในช่วงปิดภาคเรียน
  • 8533 - เมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลีย ต้องแจ้งที่อยู่ให้กับสถานศึกษาภายใน 7 วัน และถ้ามีการเปลี่ยนที่อยู่ต้องแจ้งภายใน 7 วัน
  • 8534 - ไม่สามารถขอต่อวีซ่าในออสเตรเลียได้ เมื่อวีซ่าหมดก็ต้องออกจากประเทศ แล้วขอเข้ามาใหม่ 

สามารถดูรายละเอียดเงื่อนไขวีซ่านักเรียนเพิ่มเติมได้ที่... “Visa Conditions Students

 

4.) การทำประกันสุขภาพสำหรับนักเรียนต่างชาติ

Overseas Student Health Cover

ในข้อนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ “..แต่ขาดไม่ได้” หลายคนอาจจะไม่ค่อยทราบ แม้แต่นักเรียนหลายท่านที่มาเรียนถึงออสเตรเลียแล้วบางทีก็ยังไม่รู้ ว่าประกันสุขภาพสำหรับนักเรียนต่างชาติ หรือ Overseas Student Health Cover (OSHC) สำคัญพอ ๆ กับวีซ่าฯ.. “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?”

ทางอิมมิเกรชันฯมีข้อกำหนดที่เรียกได้ว่าเป็นข้อบังคับก็ว่าได้ ให้ผู้ถือวีซ่านักเรียนทุกคนต้องมี OSHC คุ้มครองตลอดระเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย (เงื่อนไข 8501) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า นักเรียนต่างชาติไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับพลเมืองชาวออสเตรเลีย ที่ทุกคนนั้นได้รับบริการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจาก Medicare ซึ่งหากนักเรียนต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียไม่มีประกัน OSHC คุ้มครองนั้น ก็อาจจะต้องมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างแพง(มาก) จึงทำให้ต้องมีข้อบังคับด้วยเงื่อนไขทางวีซ่าฯให้นักเรียนต้องชาติทุกคนต้องมี ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถสมัครวีซ่าฯได้ และหากต่อวีซ่าฯ ก็ต้องต่ออายุ OSHC ด้วยเช่นกัน

20150824-entry-requirements-oshc

เหตุผลส่วนใหญ่จากนักเรียนที่มาเรียนออสเตรเลียไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้ เพราะนักเรียนที่ติดต่อผ่านทางเอเจนท์ ตัวเอเจนท์เองมักเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด รู้เพียงแต่ว่าได้บัตรประกันสุขภาพมา และเมื่อได้ OSHC มาแล้วก็ควรทราบด้วยว่า ประกันสุขภาพที่เราได้มานั้น คุ้มครองด้านไหนบ้าง จะได้นำไปเคลมค่ารักษาพยาบาลคืนได้ โดยแต่ละบริษัทก็จะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน

บริษัทประกันชีวิต OSHCเว็บไซต์
ahm OSHC www.ahmoshc.com
BUPA Australia www.bupa.com.au
Medibank Private www.medibankoshc.com.au
NIB OSHC www.nib.com.au
Allianz Global Assistance (Lysaght Peoplecare) www.oshcallianzassistance.com.au

รายละเอียดเพิ่มเติม... “health.gov.au - OSHC FAQs”, “privatehealth.gov.au - OSHC

 

เป็นอย่างไรกันบ้าง? จบไปแล้วกับ 4 ข้อสำคัญที่ต้องมีก่อนจะเดินทางมาเรียนในออสเตรเลีย ไม่ยากเลยใช่มั้ย จริง ๆ แล้วควรมีอีกข้อคือ “เงิน” ฮา ๆ เพราะการมาเรียนที่ออสเตรเลียต้องมีเงินทุนพอสมควร แต่ขอละไว้เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว.. ออสเตรเลียถือว่าเป็นประเทศที่กฎระเบียบค่อนข้างเคร่งครัด หัวใจสำคัญคือต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน หากจะมาเรียนก็ต้องเรียนจริง ๆ พยายามทำทุกอย่าง อย่างตรงไปตรงมา ยิ่งถ้าหากเราเตรียมพร้อมและวางแผนล่วงหน้าด้วยแล้ว สบาย ๆ ชิล ๆ เลยกับ 4 ข้อนี้..

สุดท้ายขอให้ทุกคนโชคดี.. แล้วพบกันที่ออสเตรเลีย, ขอบคุณครับ :)

 

 

ข้อมูลอ้างอิง:

studyinaustralia.gov.au - "Study in Australia"
border.gov.au - "Studying in Australia"

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 26 ส.ค. 2015
Finn

Finn

มาเรียน.. มาเที่ยว.. และ.. มาทำงาน :)

สอบถามข้อมูลด้านการศึกษาได้ที่.. info.edu@mabrisbane.com