วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

Booking.com

จากแดนจิงโจ้.. สู่ดินแดนแห่งเจดีย์ "เมียนมาร์" ตอนที่ 4

เผยแพร่เมื่อ 02 สิงหาคม 2559 โดย ไตรภพ ซิดนีย์
มิงกะลาบาครับ ท่านผู้อ่าน ไม่พูดพล่าม ทำเพลงกันเลยนะครับ นั่งรถออกจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ หรือพระธาตุมุเตา มุ่งหน้ามาทางตอนใต้ เพียงสิบห้านาที เราก็เดินทางมาถึงพระราชวังบุเรงนอง ซึ่งพระเจ้าบุเรงนอง หรือ พระเจ้าชนะสิบทิศ “ตะละพะเนียเธอเจาะ” เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ ส่วนคนอังกฤษเรียกว่า บราจินโนโค่ (Braginoco) เป็นผู้สร้างขึ้นมา เห็นทีจะต้องเล่าเรื่อง พระเจ้าบุเรงนอง หรือพระนามเต็มว่า พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา กันก่อน พระเจ้าบุเรงนองเป็นพระมหากษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอู เสวยราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2094 ถึงปี พ.ศ. 2124 อาณาจักรของพระองค์เป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตแผ่ไปถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมณีปุระ และอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองนับเป็นกษัตริย์ที่ชาวพม่ายกให้เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 3 พระองค์ อีกสองพระองค์ คือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม และพระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์คองบอง
king 01
พระเจ้าบุเรงนองเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2094 ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมาย จึงถูกขนานนามว่า พระเจ้าชนะสิบทิศ โดยทิศทั้งสิบนี้ หมายถึงทิศทั้งแปดตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และยังรวมไปถึงทิศเบื้องบน คือ สรวงสรรค์ และทิศเบื้องล่าง คือ บาดาล อีกด้วย ไม่ใช่แค่เพียงเป็นนักรบที่ฉลาดและเก่งกาจเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่ดีอีกด้วย ด้วยความสามารถในการปกครองและบริหารข้าทาสบริวาร ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราชอย่างชาญฉลาด วิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลก็คือเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญของประเทศราช เข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ประกัน อย่างเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยาของเรา
palace 02
พระราชวังของพระองค์ที่หงสาวดีนี้ มีชื่อว่า กัมโพชธานี (Kamboza Thadi Palace) ทรงให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 ปีที่ 15 ของการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองและใช้ออกว่าราชการ พระราชวังกัมโพชธานีสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานจากประเทศราชต่างๆ และพระองค์โปรดให้ใช้ชื่อประตูต่างๆ ตามชื่อของแรงงานประเทศราชที่สร้าง เช่น ประตูทางตอนเหนือปรากฏชื่อ ประตูโยเดีย (อยุธยา) ประตูตอนใต้ชื่อ ประตูเชียงใหม่ เป็นต้น ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ พระเจ้านันทบุเรงจึงขึ้นครองราชย์ ก็ได้ถูกพวกศัตรูยกกองทัพมาตีหงสาวดีจนย่อยยับ เมืองถูกทำลายโดยพวกยะไข่ร่วมมือกับตองอู ในปี พ.ศ. 2142 
old palace 01
ต่อในปี พ.ศ. 2533 มีการค้นพบเสาและกำแพงเดิมที่ถูกฝังอยู่ในดิน รัฐบาลพม่าจึงได้ทำการขุดค้นและสร้างพระราชวังบุเรงนองขึ้นมาใหม่เพื่อจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนพื้นที่เดิม โดยพยายามถอดแบบจากของเดิม แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีภาพถ่ายจึงใช้จินตนาการประกอบกับหลักฐานบันทึกที่พอจะหาได้
palace 03
วังเดิมนั้นมีบันทึกไว้ว่าสร้างโดยใช้ไม้สักทองและตกแต่งด้วยของที่มีค่าจากหัวเมืองประเทศราชต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง ตัวอาคารสร้างใหม่มี 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า กามโบสะตาหริ หรือ กัมโพชธานี เป็นส่วนท้องพระโรงที่ใช้ออกว่าราชการ และส่วนที่ 2 คือ บัลลังก์ผึ้ง (Kanbawza Thardi Palace) เป็นส่วนพระตำหนักที่ประทับบรรทมสีทองเหลืองอร่าม สรุปแล้วที่อยากไปดูตำหนักที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยประทับในฐานะเชลยศึกถึง 6 ปี และตำหนักพระสุพรรณกัลยาที่เคยมาใช้ชีวิตเป็นองค์แลกเปลี่ยนกับพระอนุชาจนสิ้นพระชนม์เพราะฝีมือของนันทบุเรงนั้นก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน ตัวไกด์พม่าเองก็หาพิกัดไม่ได้เนื่องจากเวลาล่วงเลยมา 400 กว่าปีแล้วและทางการพม่าก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ช่างไม่มีหัวทางการค้าเอาเสียเลย ไม่รู้จักเอาความแค้นของนักท่องเที่ยวไทยปั่นเป็นเงิน ตกลงชาวคณะเราก็เลยหายแค้นเพราะไม่มีที่ระบายความแค้นกัน

 

ตัวท้องพระโรงที่สร้างจำลองขึ้นใหญ่โตรโหฐานจริง แต่ไม่มีเสน่ห์เสาไม้ที่ถูกนำมาสร้างตลอดจนลวดลาย เพดาน ฝาผนังนั้นเหมือนทำขึ้นอย่างเร็วๆลวกๆเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว  ไม่มีการแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้วิธีพ่นสีลวดลายต่างๆตามเสา กำแพง ฝาผนัง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วช่างแกะสลักไม้ของพม่าก็มีฝีมือดีมากเท่า ๆ กับช่างแกะสลักไม้ทางภาคเหนือของเราเพราะได้เคยเห็นการแกะสลักพระที่นั่ง พระแท่นบรรทมจำลองของพม่ามาก่อน มีลวดลายวิจิตรพิศดารสวยหรู สามารถสร้างงานที่ประณีตได้มากกว่านี้

 

จบทัวร์วังมาแบบไม่ค่อยประทับใจมากเท่าไหร่ แต่ได้ข้อคิดมาฝากสองอย่าง อย่างแรกก็คือ คนไทยรุ่นกลางคนขึ้นมาจะได้รับอิทธิพลเรื่องพระเจ้าบุเรงนองมาสองทาง คือทางแรกจากวิชาประวัติศาสตร์และทางที่สองมาจากวรรณกรรมเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของนักประพันธ์นามอุโฆษ ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธุ์ จนไม่รู้เรื่องไหนจริงเรื่องไหนเป็นนิยายเพราะความเก่งกาจของผู้ประพันธ์ที่ผูกเรื่องได้สมจริงสมจัง อย่าว่าแต่คนไทยเองที่สับสนเลย เล่ากันว่ามีสมัยหนึ่งทางรัฐบาลพม่าส่งคนมาเจรจาจะเอาเรื่องผู้ชนะสิบทิศไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนคุณโชติอายต้องหลบหน้าเพราะท่านแต่งเรื่องขึ้นมาจากการจินตนาการพร้อมกับอิงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างสมจริงสมจัง ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ จะเด็ดหรือบุเรงนองถือกำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนคนธรรมดาที่มีอาชีพปาดตาล แต่แม่ได้รับเลือกไปเป็นแม่นมของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กินนมร่วมกันกับจะเด็ด ความเป็นจริงแล้ว พระเจ้าบุเรงนองเป็นบุตรชายของเมงเยสีหตู ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และเชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโยมาอีกด้วย นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างเดียว
 

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านหยุดคิดนิด อย่าได้ผูกติดพันธนาการด้วยประวัติศาสตร์จนเกินไป ประวัติศาสตร์อาจถูกบิดเบือนไปได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเขียน หรือใครเล่า? ครูสอนประวัติศาสตร์อาจจะอ่านจากหลายแหล่งแล้วมโน ต้องใช้ตรรกในการคิดหาเหตุหาผล และอีกข้อท่านผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงต้องคิดเหมือนกันว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนวังบุเรงนองและอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของตองอู ถึงตรงนี้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคงทำให้ท่านผู้อ่านใจร่มรื่นขึ้นอีกเยอะเลย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับประวัติศาสตร์กษัตริย์และพระราชวังของพม่า ในตอนหน้ากระผมจะพาไปเที่ยวเมืองไจ้โทกัน อยากรู้ว่าเป็นเมืองยังไง ติดตามอ่านกันนะครับ

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 02 ส.ค. 2559
ไตรภพ ซิดนีย์

ไตรภพ ซิดนีย์

ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย
เดลินิวส์: อีเมลจากออสเตรเลีย
facebook: ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย

Thai Esan Radio
website: www.thaiesanradio.net
facebook: Thai Esan Radio Australia